‘คุณใหม่’ เปิดนิทรรศการ ‘วังน่านิมิต’ ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงประวัติศาสตร์-ปัจจุบัน

คุณใหม่สาธิตการชมแผนที่วังหน้าด้วยเทคโนโลยีแฮนแทรกกิ้ง

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 9 มิถุนายน ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กรมศิลปากร จัดงานแถลงข่าวเปิดนิทรรศการ “วังน่านิมิต” โดยมี คุณใหม่-สิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในฐานะผู้อำนวยการโครงการวังหน้า เข้าร่วมแถลงข่าวเปิดงานและนำชมนิทรรศการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นิทรรศการ “วังน่านิมิต” จัดทำขึ้นโดยนำเสนอประเด็น เรื่องราว และข้อสันนิษฐานต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 และถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5 โดยวางแผนการจัดทำนิทรรศการโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องนำเสนอ

คุณสิริกิติยา เจนเซน กล่าวว่า ตอนกลับมาเมืองไทยรู้สึกว่าอยากศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยเพิ่มมากขึ้น จึงมาทำงานที่กรมศิลปากร ทำให้ทราบว่า เมื่อ 5 ปีที่แล้ว มีการศึกษาเรื่องนี้ จึงมีการพูดคุยกันว่าน่าจะนำข้อมูลจากโครงการนี้ไปให้ถึงประชาชน ในวิธีเข้าใจง่าย โดยใช้เทคโนโลยีหรืออะไรที่ร่วมสมัย เพื่อให้คนเห็นว่าอดีตกับปัจจุบันไปด้วยกัน สร้างความเชื่อมโยงระหว่างคนกับสิ่งที่ไม่มีอยู่แล้ว ให้กลับไปค้นหาและตั้งคำถามกับประวัติศาสตร์

“สำหรับชื่อนิทรรศการวังน่านิมิต หลายคนถามว่าคืออะไร สะกดผิดหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว วังน่า ที่ใช้ไม้เอก เป็นวิธีสะกดดั้งเดิม ส่วนคำว่า นิมิต มาจากคำว่า จินตนาการ อยากให้คนเข้ามาดูสถานที่ที่อาจจะไม่มีอะไรปรากฎในนั้น แต่เมื่อเข้ามาแล้ว เขาสามารถตั้งคำถาม และคิดว่าตรงนี้เคยมีอะไรในประวัติศาสตร์ อยากให้คนตั้งคำถาม นิทรรศการนี้จึงทำขึ้นด้วยความตั้งใจที่อยากให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าประวัติศาสตร์กับปัจจุบันไปด้วยกันได้ และให้รู้สึกว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ไกลจากตัว” คุณสิริกิติยากล่าว

Advertisement

ด้านนายอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า วังหน้าเป็นวังที่สำคัญคู่กับพระราชวังหลวงมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แต่ด้วยกาลเวลาที่เปลี่ยน จนมาถึงยุคที่วังหน้าหมดความสำคัญ การใช้สอยของวังหน้าก็จบลง พื้นที่บางส่วนของวังหน้านำไปใช้อย่างอื่น วังหน้าบางส่วนถูกตัดไปเป็นบริเวณที่เรียกว่าสนามหลวงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทั้งหมดคือส่วนหนึ่งของวังหน้า เพียงแต่ว่า สถาปัตยกรรมหลักของวังหน้าอยู่ในเขตที่กรมศิลปากรดูแล ที่เราจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร

Advertisement

“วังหน้าหรือพระราชวังบวรสถานมงคลมีเอกลักษณ์ที่ต่างไปจากวังหลวง เพราะฉะนั้นสถาปัตยกรรมวังหน้าก็จะมีเอกลักษณ์ของวังหน้า แต่เมื่อวังหน้าหมดความใช้สอย ทุกอย่างก็ถูกลืมเลือน จนกระทั่งกรมศิลปากรทำการขุดค้นใหม่ โดยใน4-5ปีที่ผ่านมา การทำงานของกรมศิลปากรคล้ายๆ เหมือนแยกส่วนแต่ครั้งนี้เป็นการนำทุกสิ่งทุกอย่างมาบูรณาการ และสิ่งที่คุณใหม่ได้จัดตั้งโครงการนี้ขึ้นมา จะทำให้สามารถเข้าใจวังหน้าได้ง่าย ระหว่างอดีตถึงปัจจุบัน ที่สำคัญจะเป็นการนำวังหน้ามาให้คนที่สนใจมามีส่วนร่วมในการศึกษาวังหน้าอย่างใกล้ชิด นิทรรศการครั้งนี้ คือนวัตกรรมใหม่ที่จะฉีกแนว ผลการศึกษาครั้งนี้ นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี สถาปนิก ก็จะฉีกแนวในการนำเสนอ โดยนำอดีตมาเดินคู่กับปัจจุบัน ให้ผู้ที่เข้ามาเดินชมนิทรรศการ มีความรู้ มีความสุข และมีความภาคภูมิใจ” นายอนันต์กล่าว

ทั้งนี้ นิทรรศการวังหน้านำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ในรูปแบบของเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น แผนที่วังหน้าที่นำเทคโนโลยีแฮนแทรกกิ้งเข้ามา ทำให้ผู้ชมสามารถชมแผนที่ผ่านจอขนาดใหญ่เป็นภาพเคลื่อนไหวที่สั่งการด้วยมือ หรือการนำเสนอพระที่นั่งสำคัญในวังหน้า ด้วยเทคโนโลยีโปรเจคชั่นแมปปิ้ง

สำหรับนิทรรศการ “วังน่านิมิต” ภาคแรก จัดขึ้น ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ถึง 27 มิถุนายน และภาคสมบูรณ์ จะจัด ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ระหว่างเดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนเมษายน 2562 รวมทั้งจะเปิดเว็บไซต์ วังน่านิมิต ในช่วงระหว่างนิทรรศการทั้ง 2 ภาค เพื่อนำข้อมูลที่ทางคณะทำงานใช้ในการค้นคว้านำเสนอแก่สาธารณชมด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image