นัก กม.ดังแนะ ‘บิ๊กตู่-ครม.’ เร่งประกาศภาวะฉุกเฉิน เพิ่มอำนาจสู้โควิด เลื่อนจ่ายภาษี หักค่าใช้จ่ายเพิ่มสำหรับกิจการที่ไม่เลิกจ้าง

นักกม.ดัง แนะ ‘บิ๊กตู่-ครม.’ เร่งประกาศภาวะฉุกเฉิน เพิ่มอำนาจสู้โควิด เลื่อนจ่ายภาษี หักค่าใช้จ่ายเพิ่มสำหรับกิจการที่ไม่เลิกจ้าง ให้เลื่อนประชุมผู้ถือหุ้น

ข้อเสนอ มาตรการทางกฎหมาย : รวดเร็ว ทันการ เพื่อชนะโควิด19

โดย ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
ประธานคณะกรรมการภาษี และกฎระเบียบสภาหอการค้าไทย

ท่ามกลางการแพร่กระจายของโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง และน่ากลัวในขณะนี้ แม้รัฐบาลได้ออกมาตรการ ทางกฎหมายสาธารณสุข ในการใช้ พ.ร.บโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยให้โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด19 เป็นโรคติดต่ออันตราย และได้ใช้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค ดังกล่าว ทั้งนี้ ให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานครในการออกประกาศเช่นการปิดสถานที่หลายประเภท ตัวอย่างเช่น ประกาศของผู้ว่ากรุงเทพมหานคร และ ผู้ว่าราชการในปริมณฑมล ของกรุงเทพมหานครที่ให้ปิดสถานที่หลายแห่ง ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ถึงวันที่ 12 เมษายน 2563 นั้น อีกทั้งยังมีประกาศทำนองเดียวกันนี้อีกหลายๆจังหวัดในประเทศไทย

แต่ปัจจุบันอัตราผู้ป่วยหรือติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่ลดลง แต่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยเฉพาะเมื่อการเคลื่อนย้ายของประชาชน ลูกจ้างพนักงานออกไปจากกรุงเทพฯจำนวนเกือบแสนคน เมื่อวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมาหลังจากที่ประกาศปิดสถานที่ต่างๆในกรุงเทพฯ จนทำให้มีความกังวลว่าโรคระบาดโควิด-19 นี้จะกระจาย และคนป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก

Advertisement

หลายคนมีการเรียกร้องให้มีการ ปิดประเทศ ห้ามการเดินทาง เข้าออกจากต่างประเทศ รวมทั้งการจำกัดการเดินทางในประเทศเอง

ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย, ชุด PPE, เครื่องช่วยหายใจ, แอลกอฮอล์ รวมทั้งวัคซีนหรือยาที่จะต้องใช้ต่อสู้กับโรคโควิด-19 หรือการเตรียมการจัดสร้างโรงพยาบาล สนาม หรือปรับปรุงห้อง Negative Pressure เหล่านี้ ล้วนมาจากการขาดการบูรณาการที่ดี ขาดการจัดสรรงบประมาณภาครัฐให้กับหน่วยงานสาธารณสุขให้เพียงพอ และทันการ รวมทั้งกฎระเบียบที่ยุ่งยากของระบบ ราชการไทยที่มีหน่วยงานรับผิดชอบหลายหน่วยงาน ทำให้กระบวนการขออนุญาต อนุมัติ ต้องใช้เวลาพอสมควร จึงทำให้ไม่สามารถตัดสินใจดำเนินการได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความเห็นที่หลากหลายจากหลายฝ่าย จนไม่รู้ว่าควรเชื่อใครดี

ปัจจุบัน เราจะเห็นการรณรงค์ขอให้เอาหน้ากากอนามัยให้บุคลากรทางการแพทย์ไปใช้ เพราะมีหน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ ให้ประชาชนใช้หน้ากากผ้าแทน การรณรงค์ขอรับบริจาคอุปกรณ์ต่างๆ ที่ขาดแคลนของสถาบันสาธารณสุขหลายแห่ง  การบริจาคก็เป็นสิ่งที่ดีงามที่ประชาชนชาวไทยทีจะได้ร่วมมือกันช่วยเหลือเกื้อกูลกันยามวิกฤตเช่นนี้

แต่ความจริงแล้ว รัฐบาลต่างหากที่ควรต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่าจะมีงบประมาณเร่งด่วนอย่างเพียงพอ เพื่อที่จะได้มีโรงพยาบาล บุคลากร ทางการแพทย์ และสาธารณสุข อุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิดที่เพียงพอในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้อย่างรวดเร็ว ทันการ

นอกจากปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขแล้วก็ยังมีปัญหาของภาคธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประชุมผู้ถือหุ้น การยื่นงบดุล การเสียภาษี และที่สำคัญที่สุดคือมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ นายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากจากการที่จะต้องถูกลดเงินเดือน เลิกจ้าง และตกงานจำนวนมาก รวมถึงผู้ค้าขายรายย่อยที่ขาดสภาพคล่อง และกระทบเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผมเชื่อว่ารัฐบาลกำลังพิจารณที่จะออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และแนวทางช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบอยู่ รายงานการประชุมคณะ วันนี้ผมจึงอยากขอเสนอความเห็น เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการตามพระราชกำหนดเพื่อจะสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วทันการ รวมทั้งข้อเสนออื่นๆ ประกอบการพิจารณาด้วย

ผมขอเสนอให้พวกเราช่วยขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาข้อเสนอดังต่อไปนี้ครับ

1.ให้ท่านนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 5 ของพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อใช้บังคับ ในจังหวัดที่มีความจำเป็น เนื่องจากถือได้ว่าโรคระบาดโควิดนั้นมีลักษณะสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขัน ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วน เพื่อความปลอดภัยของประชาชนการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวมหรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะ อันมีมาอย่างฉุกเฉิน และร้ายแรง โดยการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ใช้บังคับตลอดเวลาที่ในประกำหนดแต่ต้องไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันประกาศ แต่หากมีความจำเป็นก็อาจจะขยายได้ครั้งละไม่เกิน 3 เดือน จนกระทั่งเมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดแล้ว

ประโยชน์ของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มีหลายเรื่อง

1.1 นายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายทุกฉบับเกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติสั่งการ บังคับ บัญชาหรือช่วยในการป้องกันแก้ไข ปราบปราม ระงับ ยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชน (มาตรา7)

กฎหมายนี้จะทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถประกาศเรื่องการนำเข้าการส่งออกการผลิตแอลกอฮอล์ การขึ้นทะเบียนยา การนำเข้า อุปกรณ์ทางการแพทย์ใดที่จะต้องใช้ระยะเวลาตามกฎหมายเฉพาะ ให้สามารถอนุมัติตามกฎหมายดังกล่าวได้เลยโดยไม่จำเป็นจะต้องผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพาณิชย์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมสรรพสามิต หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือโรคติดต่อกรุงเทพฯ

การมีอำนาจของนายกรัฐมนตรีเช่นว่านี้จะทำให้มีการสั่งการเอกภาพรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังสามารถแต่งตั้งบุคตลใดๆ ให้เป็นพนักงานเจ้าตามหน้าที่นอกเหนือจากข้าราชการ ตำรวจทหาร มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว

1.2 ถ้ามีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโดยเฉพาะการ ห้ามการเคลื่อนย้าย บุคคล หรือเดินทาง ระหว่างเมือง ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายในการห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ โดยมีเงื่อนไข รวมทั้งการห้ามออกจากเคหะสถานหรือเคลือบผิวได้ ในเขตที่ประกาศ

1.3 คณะรัฐมนตรีก็สามารถจะแต่งตั้งหน่วยงานพิเศษในการปฏิบัติตามพระราชกำหนดนี้ได้ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็มีคณะที่ปรึกษาที่เป็นกูรูและอาจารย์ในทางการแพทย์ และสาธารณสุขของประเทศไทยอยู่แล้ว แต่ ท่านอาจจะต้องแต่งตั้งเพิ่มเติม เจ้าหน้าที่ที่มีความรู้ ความชำนาญเรื่องเศรษฐกิจการคลังและสังคมเข้าไปร่วมพิจารณาด้วยก็จะทำให้การสั่งการเกิดความเป็นเอกภาพรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ทันการอีกด้วย

1.4 สิ่งแรกที่หน่วยงานพิเศษที่ควรมีการจัดตั้งเพื่อให้คำแนะนำแก่ท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะใช้อำนาจ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการอนุญาติ อนุมัติ ของ การนำเข้า การขึ้นทะเบียน หรือการลด ยกเว้น ภาษีศุลกากร ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่มของวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว ทันการ รวมทั้งหากมีประเด็นใดๆที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เรื่องการอนุมัติหรืออนุญาต จากหน่วยราชการใดแล้ว ก็ควรจะ ดำเนินการให้แล้วเสร็จไปในช่วงระยะเวลาที่ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉิน ทันที

2.รัฐบาลต้องจัดหางบประมาณให้เพียงพอกับการก่อสร้างโรงพยาบาลสนาม ผลิตหรือนำเข้าวัสดุทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์วัคซีนหรือยารักษาโรค โดยควรจัดหางบกลาง งบฉุกเฉินให้เพียงพอ โดยมีกระบวนการ ตรวจสอบเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตด้วย ยิ่งถ้ารัฐบาลแสดงเจตจำนงที่จะนำงบประมาณการซื้ออาวุธไม่ว่าจะเป็นเรือดำน้ำหรือรถถัง โดยการยกเลิก หรือชะลอไปเพื่อนำมาใช้เพื่อสร้าง หรือขยายโรงพยาบาลสนาม รวมทั้งการซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในต่อสู้โรคโควิด-19 รวมทั้งนำเงินงบประมาณดังกล่าวมาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการนี้ก็น่าจะได้คะแนนนิยมจากประชาชนอย่างมากทีเดียวครับ

ผมไม่ได้คัดค้าน หรือไม่เห็นด้วยในการที่คนไทยร่วมแรงร่วมใจในการบริจาค ไม่ว่าจะเป็นเงินทองหรือทรัพย์สินให้แก่หน่วยงานสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล สภากาชาดไทย เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยสมควรทำอยู่แล้ว และเราควรจะรณรงค์ให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลจะต้องแสดงถึงความพร้อมในการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ ส่วนเงิน ทอง ทรัพย์สินในการบริจาคควรจะเป็นส่วนเกินที่หน่วยงานภาครัฐ แพทย์ และบุคคลากร ทางการแพทย์พึงจะได้รับ

3.ให้อธิบดีกรมสรรพากรประกาศขยายระยะเวลาการยื่นเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือการยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยอาศัยมาตรา 3 อัฏฐ ของประมวลรัษฎากรออกไปอีก 3 เดือน โดยให้ใช้กับบริษัทหรือนิติบุคคลที่มิได้มีการปลด เลิกจ้าง โดยไม่มีความผิดหรือลดเงินเดือนลูกจ้างออกในช่วงเวลา3เดือนนี้

4.กระทรวงการคลัง ออก พรฎ.ให้นายจ้างที่ประกอบธุรกิจที่มีผลกระทบจากโควิด-19 เช่น กิจการท่องเที่ยวโรงแรม ร้านอาหาร สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็น 2 เท่า สำหรับค่าจ้าง เงินเดือน ของลูกจ้าง หากไม่มีการเลิกจ้าง

5.ถ้ามีความจำเป็นเกี่ยวกับเรื่องการประชุม ผู้ถือหุ้น กรรมการ หรือซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะต้องมีการดำเนินการภายในเดือนเมษายนนี้ ก็สมควรที่จะออกเป็นพระราชกำหนด อนุญาตให้กระทรวงพาณิชย์ หรือ กลต.ขยายระยะเวลาการประชุมได้เมื่อเกิดเหตุการณ์พิเศษเช่นว่านี้ รวมทั้งปลดล็อกเรื่องการประชุมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งกำหนดเงื่อนไขไว้ยุ่งยาก จนไม่สามารถปฏิบัติได้จริง แก้เสียรอบนี้เลยครับ

ข้อนี้เป็นข้อเสนอเบื้องต้นเท่านั้นนะครับ เพื่อความรวดเร็ว ทันการ เอาชนะโควิด-19 เพราะไม่มีใครทราบว่า โควิด-19 จะอยู่กับพวกเราไปอีกนานเท่าใด เพราะถ้าหากโควิด-19อยู่กับเรานาน ผลกระทบคงมีมากกว่านี้แน่ พวกเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ เพื่อเอาชนะโควิด-19 ครับ

ใครเห็นด้วยช่วยกันแชร์ ครับ
#อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ

โดย ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์
ประธานคณะกรรมการภาษี และกฎระเบียบสภาหอการค้าไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image