ผู้เขียน | เศรษฐา ทวีสิน |
---|---|
เผยแพร่ |
COVID-19 วิกฤตวัดใจภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนไทย
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 กลายเป็นจุดเปลี่ยนของประวัติศาสตร์โลกอย่างหนึ่งเหมือนอย่างที่หลายคนพูดกันว่า
วิถีชีวิตของเราจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ตราบใดที่โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือฆ่าเชื้อนี้ได้ถาวรไปจากโลกนี้
ยังไงเราทุกคนต้องปรับตัวให้อยู่กับความจริงนี้ให้ได้
เราจะไม่สามารถรับมือกับวิกฤตนี้ได้ ถ้าหากเรายังไม่ระลึกถึงความรุนแรงอันแท้จริงของวิกฤตนี้
นี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ผู้นำทั่วโลกได้เรียนรู้กันไปตามๆ กันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
และเราก็ได้เห็นการบริหารจัดการปัญหาที่แตกต่างกันออกไปสำหรับผู้นำแต่ละคนแต่ละประเทศ
หลังจากที่ผู้บริหารประเทศแต่ละคนยอมรับความรุนแรงของวิกฤตในประเทศตนแล้ว สิ่งที่ตามมาและเป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังก็คือ การสื่อสารที่ชัดเจนและแม่นยำ
ทั้งโจทย์และวิธีการแก้ปัญหาสำหรับสถานการณ์ในแต่ละช่วง
เราได้เห็นผู้นำแต่ละคนมีแนวทางที่ต่างกันออกไป
ไม่ว่าจะเป็นแบบ นายกฯบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ ที่ถูกวิจารณ์ว่าให้ข้อมูลที่สับสนและไม่โปร่งใส เริ่มตั้งแต่ไอเดีย herd immunity เปลี่ยนไปเป็นการล็อกดาวน์ประเทศในไม่กี่วันถัดมา
จนกระทั่งมาขอบคุณเหล่าแพทย์พยาบาลที่ช่วยตอนที่ติดเชื้อเข้าโรงพยาบาลเสียเอง
หรืออย่าง นางอังเกลา แมร์เคิล ของเยอรมนี ที่ส่งสัญญาณเตือนเพื่อให้ทุกคนเตรียมตัวรับ worst case scenario ตั้งแต่แรก
ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความรุนแรงของวิกฤตนี้ ซึ่งได้รับคำชม
และดัชนีกระแสความนิยมเพิ่มขึ้นมาในช่วงที่ผ่านมากกว่า 11 จุด
ย้อนกลับมามองประเทศเราก็ไม่ต่างครับ
สิ่งแรกที่เรามองหาจากผู้นำประเทศเราก็คือการเปิดตารับรู้เปิดหูฟังและเชื่อมั่นในข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่มีอยู่รอบตัวมากมาย
ขอเพียงท่านเลือกใช้ให้ถูก สถานการณ์นี้ขอให้เพิกเฉยต่อสุ้มเสียงคำแนะนำที่เคลือบแฝงเรื่องการเมืองชวนตี อย่าไปสนใจการกวนน้ำให้ขุ่นของฝ่ายตรงข้าม
แต่ขอให้เชื่อใจผู้ที่รู้จริง และให้เกียรติพวกเค้าในการช่วยชี้นำและวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ ให้ท่าน
ประชาชนทุกคนจะเชื่อมั่นในรัฐบาลท่านแน่นอนหากท่านสามารถสร้างความโปร่งใสให้เราเห็น
หลังจากท่านได้ยอมรับและแสดงให้เห็นว่าผู้เชี่ยวชาญตัวจริงได้เข้ามาช่วยท่านแล้ว
สิ่งที่ประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆ อยากได้ยินจากผู้นำก็คือนโยบายที่ชัดเจนและเฉียบขาด
สถานการณ์บีบบังคับแล้วครับว่าทุกคนต้องยอมปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเดิมอย่างมาก
ถึงจะควบคุมการแพร่กระจายของโรคนี้ได้ ทุกสังคม ทุกประเทศเหมือนกันหมดไม่มีข้อยกเว้น
เพราะไวรัสมันไม่เลือกครับ
การล็อคดาวน์ที่เกิดขึ้น แน่นอนมีผลกระทบอย่างมาก
แต่ทำอย่างไรได้ครับ เราทุกคนมีหน้าที่ต้องทำตามนโยบายที่รัฐบาลเห็นว่าดีที่สุดสำหรับส่วนรวม
ซึ่งที่ผ่านมาก็ดูเหมือนจะได้ผลดีและควบคุมความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง
สำหรับภาคธุรกิจนั้น ตราบใดที่ท่านผู้นำและรัฐบาลสามารถแสดงให้เราเห็นว่ามีแผนการรองรับทั้งระยะกลางและระยะยาวอย่างชัดเจน
ทุกคนมีความยินดีครับที่จะปฏิบัติตามเสมอ
แต่ท่านต้องไม่เหยาะแหยะ หรืออะลุ่มอล่วยให้กับผู้ประกอบการที่ทึกทักเอาเองว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้นแล้ว นึกอยากจะทำอะไรก็ทำตามอำเภอใจ
อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องพึงระวังและคอยจับตาดูอย่างมาก
ตัวอย่างที่ผมเห็นก็คือ ณ วันที่เขียนบทความนี้ (18 เมษายน) ในช่วงที่การล็อคดาวน์ยังไม่สิ้นสุด
สนามกอล์ฟหรูแห่งหนึ่งริมถนนวิภาวดีใกล้ๆ หลักสี่ก็มีจดหมายถึงสมาชิกว่าเปิดให้จองสนามได้ล่วงหน้าสำหรับเดือนพฤษภาคมแล้ว
ยังไงกันครับ พ.ร.บ.ฉุกเฉินยังไม่หมดอายุเลย และก็ยังไม่แน่เลยด้วยว่าสิ้นเดือนเมษายนสถานการณ์จะเป็นอย่างไร ภาคเอกชนไม่ควรขยับตัวล้ำหน้าไปก่อนนะครับ
นี่แหละครับที่อันตรายและน่ากลัว
พฤติกรรมแบบนี้ผมถือเป็นการสร้างมาตรฐานที่ผิดๆ สำหรับภาคธุรกิจอย่างมาก
ถ้ามีสักรายเริ่มส่งสัญญาณเดินเครื่องแบบไม่สนใจนโยบายของรัฐบาลและไม่ได้รับการตักเตือน พฤติกรรมเลียนแบบตามมาแน่นอนครับ
เข้าใจครับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่กลุ่มทุนธุรกิจใหญ่ๆ ในประเทศเราก็อยากมีสิทธิมีเสียง และพยายามล็อบบี้และสร้างประเด็นให้มีน้ำหนักเพื่อประโยชน์ของตัวเองให้อยู่รอดและจัดการปัญหาได้เร็วที่สุด
แต่รัฐบาลเองก็ต้องพึงระลึกไว้ว่าหากกฎไม่เป็นกฎและมีการบิดเบือน
นั่นหมายความว่า พวกท่านกำลังลดทอนความสำคัญเรื่องสวัสดิภาพของประชาชนส่วนรวมอยู่นะครับ
การให้ภาคธุรกิจช่วยกันเสนอช่วยกันแนวคิดเพื่อผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ตามที่เป็นข่าวก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ
อย่างการแบ่งโซนและการแบ่งประเภทธุรกิจที่ก่อให้เกิดการรวมตัวของประชาชนให้ชัดเจน
แต่ที่สำคัญ ภาคธุรกิจเองก็ต้องสำเหนียกตนเองด้วยนะครับว่าเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องช่วยกันรับผิดชอบสวัสดิภาพของคนไทยทุกคน
อย่าพยายามเสนอแนวคิดที่เป็นไปไม่ได้ต่อการทำจริง และเป็นการสร้างความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อให้สูงขึ้นมาอีกครั้ง
สิ่งที่รัฐบาลได้ทำมาจะเสียประโยชน์เปล่าไปสิ้น
แนวโน้มกำลังไปได้ดี ถ้าเกิดหน้ามืดตามัวเพราะกลัวธุรกิจพังจนยอมเอาสวัสดิภาพประชาชนมาเสี่ยงอีกในระยะสั้น
เกิดอัตราการแพร่ระบาดกลับมาสูงอีกครั้งรับรองได้คราวนี้ลงเหวกันหมดครับ
วิกฤตครั้งนี้ผมเชื่อว่าไม่จบลงง่ายๆ ครับ การรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ก็เหมือนที่ผมจั่วหัวเรื่องไว้ครับ
นับเป็นการวัดใจผู้นำและพวกเราทุกคน
ถ้ารัฐบาลกล้าตัดสินใจอย่างเฉียบขาด และดำเนินการหลังจากได้วิเคราะห์สถานการณ์อย่างละเอียด
และถ้าเราทุกคนเชื่อมั่นในสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ
สุดท้ายหากวิกฤตนี้ผ่านพ้นไปได้ และเมื่อเราทุกคนมองย้อนกลับไป ผมเชื่อว่าทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนจะรู้สึกเชื่อมั่นในกันและกันเยอะขึ้นครับ
เพราะเราได้ผ่านการวัดใจและก้าวข้ามวิกฤตนี้มาด้วยกัน