ผอ.บำราศฯ ขอให้มั่นใจ “ศพโควิด-19” ห่อถุงซิปล็อก 3 ชั้น-ฆ่าเชื้อ เผาทันที

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร แถลงกรณีการจัดการกับศพของผู้เสียชีวิตจากโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามมาตรฐานของสถาบันบำราศนราดูร ว่า กรณีมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีผู้ป่วยจำนวนมาก เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) และขณะนี้มีผู้ป่วยเสียชีวิต เมื่อเข้าสู่การจัดการศพ จึงต้องขอชี้แจงว่า สถาบันบำราศฯ ได้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ไปแล้ว 111 ราย สะสมรวม 117 ราย เสียชีวิต 3 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 74 ราย แพทย์ได้ใช้ความพยายามอย่างที่สุดสู้กับโรคของผู้ป่วย โดยใช้มาตรการทั้งที่มีและไม่มีในประเทศไทย โดยผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย ได้รับยาตั้งแต่แรกที่เข้ารับการรักษา อาทิ ยาต้านไวรัสเอดส์ ยารักษาไข้มาเลียหรือยาฟาวิพิราเวียร์ ที่ใช้รักษาผู้ป่วยเชื้อไวรัสโคโรนา2019 ในจีนและญี่ปุ่น การรักษาด้วยยา มีการใช้วิธี รักษาแบบประคับประคอง และรักษาเฉพาะโดยใช้วิธีเวชบำบัดวิกฤต มีคณะแพทย์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นที่ปรึกษาอยู่ตลอด

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ทางทีมแพทย์เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถรักษาไว้ได้ แต่ย้ำว่าได้ให้การดูแลตามศักดิ์ศรีของคนไทย สถาบันบำราศฯ ได้มีการฝึกซ้อมสภาวะการจัดการศพโรคติดเชื้อเป็นระยะๆ การจัดการประเด็นศพจากผู้ป่วยโรคติดต่ออันตราย หลักๆ มีถุงซิปล็อกใส่ร่างผู้เสียชีวิต 3 ถุง มีแอลกอฮอล์ ผ้ารอง ซึ่งการดูแลผู้เสียชีวิตนั้นได้ใส่ชุดป้องกันตัวอย่างสมบูรณ์หรือชุด PEE และผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการรักษาเชื้อหมดแล้ว เป็นเพียงผู้ป่วยวิกฤตที่ไม่มีเชื้อไวรัสแล้ว การจัดการศพมีการดำเนินการตามหลักทฤษฎี คือ ร่างผู้เสียชีวิตจะถูกบรรจุด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์ 70% ช่องทางต่างๆ ของร่างกายด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์ เช่น ปาก หู จมูก เป็นต้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญของร่าง และฉีดสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อรอบทั้งด้านหน้าและหลัง ทุกซอกทุกมุมของร่างผู้เสียชีวิต หลังจากนั้นจะนำร่างใส่ถุงซิปล็อก 3 ชั้น โดยระหว่างชั้นจะมีการฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อทุกชั้น ส่วนคนที่นำร่างผู้เสียชีวิตใส่ถุงซิปล็อก ต้องเปลี่ยนชุด เปลี่ยนถุงมือทุกครั้ง รวมเป็น 3 ครั้ง ยืนยันว่าแต่ละชั้น มีขั้นตอน ตามกระบวนการป้องกันการติดเชื้อ เพื่อสร้างความมั่นใจผู้ดูแลร่างผู้เสียชีวิต ก็จะไม่มีโอกาสมีเชื้อโรคได้เลย การเคลื่อนย้ายร่างไปสู่โลงศพหรือเข้าสู่ที่ฌาปนกิจศพที่วัดหรือสถานที่ทำพิธีตามศาสนาต่างๆ โดยจะไม่มีการเปิดถุงซิปล็อกเด็ดขาด

“ก่อนจะเอาถุงแรกบรรจุผู้เสียชีวิตใส่ถุงแรกญาติต้องมาตรวจสอบก่อนโดยสวมชุด PEE ป้องกัน เราไม่ปล่อยให้คนไข้ที่มีความเสี่ยงออกสู่สาธารณะให้ประชาชนกังวลว่ามีเชื้อ เราทำตามกระบวนการมาตรฐานสากล เช่นเดียวกับต่างประเทศ ซึ่งโดยปกติเชื้อจะถูกทำลายด้วยความร้อน 60 องศาเซลเซียส เชื้อก็ตายแล้ว และการฌาปนกิจศพ โดยเตาเผาศพนั้น มีความร้อนมากกว่า 800-1,000 องศาฯ ดังนั้น เชื้อหรือซากของเชื้อจะไม่ถูกทำร้ายนั้นแทบจะไม่มี จึงขอให้ทุกคนมั่นใจ เนื่องจากเวลาการฌาปนกิจศพจะเผาพร้อมถุง 3 ชั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าร่างผู้เสียชีวิตจะแพร่เชื้ออย่างแน่นนอน” นพ.อภิชาติ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image