บุคลากรแพทย์ติด ‘โควิด-19’ แล้ว 11 ราย เฉพาะเคส ‘ผอ.รพ.’ กักตัวเพิ่มอีกกว่า 20 คน

กรณีมีรายงานว่าพบบุคลากรทางการแพทย์จำนวนหนึ่งป่วยเป็นโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งต่อมามีกระแสข่าวว่าหนึ่งในนั้น เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ใน จ.สมุทรปราการ ที่ติดเชื้อด้วย ทั้งๆที่เป็นฝ่ายบริหาร ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโรคดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 11 คน ได้แก่ ผู้ป่วยรายที่ 34, 765-768, 866-867, 953 และ 979-981 ในจำนวนนี้มีทั้งแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ สำหรับการติดเชื้อมีหลายสาเหตุ ทั้งการติดจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้บอกประวัติความเสี่ยง การติดจากผู้สัมผัสใกล้ชิด

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.กล่าวถึงมาตรการดูแลความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ว่า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 มีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ผู้ปฏิบัติงาน 2.ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลทั้งจากภาครัฐและเอกชน และจะต้องมีการสอบสวนโรค ว่ามีการติดเชื้อมาจากไหน เช่น ติดเชื้อจากการทำงาน หรือการผิดพลาดทางระบบ จากนั้นจะมีการปรับมาตรการในการเฝ้าระวังในการดูแลผู้ป่วยให้รัดกุมมากขึ้น เพราะในบางครั้งอาจจะเกิดขึ้นในเจ้าหน้าที่ อาทิ เจ้าหน้าที่เข็นเปล เจ้าหน้าที่ทำงานในโรงพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมไปถึงผู้สูงอายุ เกิน 70 ปี เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ดังนั้น หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ จะต้องมีการดูแลให้เหมาะสม และ สธ.จึงมีความต้องการในการใช้หน้ากากอนามัยทางการแพทย์มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ สธ.ทั้งระบบได้รับโควตาจากกระทรวงพาณิชย์ เฉลี่ยวันละ 1,500,000 ชิ้น

“บุคลากรของเราก็เป็นคน ก็อาจจะมีพี่น้องที่บ้านป่วย ดังนั้น เราจะต้องแนะนำว่าต้องระมัดระวังตัวตลอดเวลาทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ส่วนรายละเอียดเรื่องของคนไข้นั้น ผมไม่ทราบเลย แต่หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่ป่วยก็ต้องใช้มาตรฐาน คือ ผู้ที่ทำงานร่วมกันจะต้องได้รับการดูแล แยกเพื่อเฝ้าดูอาการระยะ 14 วัน” นพ.สุขุม กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการอย่างไร เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์เป็นด่านหน้าในการรักษาและเมื่อมีการติดเชื้อจะทำให้สูญเสียบุคลากรทำงานมากขึ้น นพ.สุขุม กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มีทั้งแพทย์ พยาบาล รวมไปถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จึงต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการดูแล จัดชุดป้องกันตัว เช่น ชุดป้องกัน PPE หน้ากาก N95 หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ และจะต้องมีการกำหนดมาตรการต่างๆ ในการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

เมื่อถามว่า ขณะนี้ในหลายพื้นที่ยังมีการขาดแคนอุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่ เนื่องจากส่วนใดที่มีปัญหา นพ.สุขุม กล่าวว่า ทุกวันนี้มีคำสั่งให้ติดตามโดยตลอด ทุกคนก็อยากดูแลตัวเอง ถึงอยากขอบคุณทางสื่อมวลชนและสื่อออนไลน์ที่ช่วยแจ้งข้อมูลการขาดแคลนเรานั้นเข้ามา เพื่อให้มีการสนับสนุนเข้าไปอย่างรวดเร็ว

วันเดียวกัน นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค สธ. กล่าวว่า บุคลากรสาธารณสุขก็เหมือนคนทั่วไป ที่มีการใช้ชีวิตอยู่ข้างนอกด้วย โดยการติดเชื้อของกลุ่มบุคลากรมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ติดเชื้อระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากคนไข้ไม่ได้บอกประวัติความเสี่ยง และ 2.กลุ่มที่ไปติดจากที่อื่น

Advertisement

“เราห้ามไม่ได้ การที่บุคลากรสาธารณสุขจะไปมีสังคม ไปสังสรรค์ที่อื่น หรือมีภารกิจจำเป็นในพื้นที่เสี่ยง แต่ไม่ได้กักตัวเอง 14 วัน ตรงนี้ทำให้มีผลกระทบกับผู้ร่วมงาน เพราะหลังจากที่ตัวเองมีผลเป็นบวกแล้ว ผู้ร่วมงานกลายเป็นว่า ต้องถูกกักตัว จึงเสียทรัพยากรคนกลุ่มนี้ไป 14 วัน

เมื่อถามถึงกรณีผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ที่ติดโรคนี้ด้วย นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ในส่วนนี้อยู่ระหว่างการติดตามข้อมูลสอบสวนโรคว่า ติดจากไหน อย่างไร อยู่ระหว่างรวบรวมการเชื่อมโยงผู้สัมผัสใกล้ชิดเป็นใครบ้าง คาดว่าเร็วๆ นี้จะแถลงรายละเอียดได้

เมื่อถามถึงกรณีผู้ป่วยที่มีอาการหนักเพิ่มขึ้น 7 ราย เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัวหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ยังไม่รับรายงานข้อมูลตรงนี้ถามต่อว่าคนที่เสียชีวิต ที่ จ.นราธิวาส เป็นผู้ที่ไปร่วมพิธีทางศาสนาที่มาเลเซียหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นชายไทยอายุ 50 ปี ไปงานร่วมพิธีหรือไม่ตนไม่มีข้อมูล แต่ผู้ป่วยรายนี้มารับการรักษาที่ รพ.สุไหงโก-ลก ส่วนการจัดการศพ ในส่วนของผู้ป่วยที่เป็นชาวมุสลิมก็มีแนวทางของจุฬาราชมนตรีอยู่แล้ว

ต่อข้อถามอีกว่าผู้เสียชีวิต จ.นราธิวาส ไม่ได้อยู่ในผู้ป่วยอาการหนักก่อนหน้านี้ ถือว่ามาแล้วรุนแรงจนเสียชีวิตเลยหรือไม่ หรือมีโรคประจำตัวอะไรหรือไม่ นพ.อนุพงศ์ กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลในเรื่องนี้

ด้าน นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) สมุทรปราการ กล่าวถึงกรณีมีรายงานว่าผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ติดเชื้อโควิด-19 ว่า ภายหลังทราบข่าว โรงพยาบาลแห่งนั้นได้ทำความสะอาดสถานที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ จากการสอบสวนโรคเบื้องต้น พบว่ามีเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลคนดังกล่าว 21-22 ราย ขณะนี้ทุกรายได้รับการตรวจหาเชื้อเบื้องต้น แต่ยังไม่พบว่ามีรายใดติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม ทุกรายต้องเข้าระบบกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนการสอบสวนหาสาเหตุของการติดโรคอย่างละเอียดนั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าติดมาจากแหล่งใด ต้องรอให้เจ้าหน้าที่จากกรมควบคุมโรคสอบสวนและสรุปให้แล้วเสร็จ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image