ลุ้นวัคซีนโควิด เดิมพันใหญ่ ชี้ ‘เป็น-ตาย’ โลก!

ลุ้นวัคซีนโควิด-19

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างปรากฏการณ์ให้กับโลกมากมายอย่างที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน หนึ่งในนั้นก็คือ การที่รัฐบาลต่างๆ ตลอดถึงบรรดาองค์กรเพื่อการกุศลและบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเภสัชกรรมของโลก เทเงินมหาศาลหลายพัน หลายหมื่นล้านดอลลาร์ แข่งขันกันพัฒนาวัคซีน เพื่อยุติการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

ถึงขนาดต้องลัดขั้นตอนการทดสอบ งดกระบวนการตรวจทวนตามมาตรฐานปกติเพื่อให้ได้วัคซีนโดยเร็ว ทั้งที่ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

เริ่มสร้างหรือปรับเปลี่ยนโรงงานให้กลายเป็นแหล่งผลิตวัคซีนจำนวนมหาศาล ทั้งๆ ที่มีโอกาสน้อยมากที่วัคซีนนั้นจะได้รับไฟเขียว

บางส่วนถึงกับวาง “ออเดอร์” ล่วงหน้าไว้เพื่อจับจองวัคซีน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าในที่สุดแล้วจะได้ผลิตออกมาหรือไม่

Advertisement

ในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมา มีสูตรวัคซีน หรือที่เรียกกันในวงการว่า “วัคซีนแคนดิเดต” เพียง “6 เปอร์เซ็นต์” เท่านั้น ที่ประสบความสำเร็จ มีการถูกผลิตออกมาวางขายได้

กระนั้นขนาดการพัฒนาวัคซีนในเวลานี้ก็ใหญ่โตอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน มีผู้ริเริ่มการพัฒนามากถึง 115 รายทั่วโลกรวมทั้งในไทย

เดิมพันครั้งนี้จึงมุ่งไปที่ความเร็วในการพัฒนา-ผลิต บนเส้นทางที่เต็มไปด้วยปัญหาและความเสี่ยง

Advertisement

เป็นเดิมพันที่มีโอกาสสำเร็จน้อยอย่างยิ่ง แต่ก็ลงทุนด้วยมูลค่ามหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์

เพราะนี่คือความเป็น-ความตายของคนทั้งโลก

ชาติยักษ์ใหญ่กับวัคซีน

กลุ่มพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด (เซปิ) รวมตัวกันเป็นบรรษัทขนาดใหญ่พร้อมวงเงินงบประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาวัคซีนโควิด-19

เงินทุนระดมจากผู้บริจาคเอกชน และรัฐบาลในหลายประเทศ ทั้งสหราชอาณาจักร, แคนาดา, เบลเยียม, นอร์เวย์, สวิตเซอร์แลนด์, เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

ตอนนี้มีเงินสดๆ อยู่ในมือพร้อมใช้จ่ายแล้วมากถึง 915 ล้านดอลลาร์ โดย “ริชาร์ด แฮทเชทท์” ผู้ทำหน้าที่ประธานเซปิ ระบุว่า เป้าหมายของเซปิไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การพัฒนาวัคซีนให้ได้เท่านั้น แต่ต้องการผลิตวัคซีนออกมาให้ได้อย่างน้อย 100 ล้านโดส

ในเซปิ ไม่มีสหรัฐและจีน รวมอยู่ด้วย

 

แฟ้มภาพ


“สหรัฐ”
พัฒนาวัคซีนของตัวเองผ่านองค์การเพื่อการวิจัยและพัฒนาก้าวหน้าด้านชีวแพทย์ (บาร์ดา) หน่วยงานของรัฐ ที่ประกาศวงเงินเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนบริษัทเอกชนในการพัฒนาและผลิตวัคซีน รวมทั้งยักษ์ใหญ่อย่าง จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (เจแอนด์เจ) และแกล็กโซสมิธไคลน์

“จีน” แหล่งผลิตวัคซีนใหญ่แห่งหนึ่งของโลก ให้เงินสนับสนุนโครงการวัคซีนมากมายจากบริษัทของตนเอง รวมทั้งซิโนวัคไบโอเทค ที่ได้รับทุน 60 ล้านหยวน หรือราว 8.4 ล้านดอลลาร์ ในรูปของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านแบงก์ชาติจีน

“อินเดีย” สถาบันเซรุ่มแห่งชาติ ที่เมืองปูเน ประกาศโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และหากพัฒนาสำเร็จ จะไม่มีการจดสิทธิบัตร เพื่อให้ทุกประเทศในโลกนำวัคซีนนี้ไปผลิตเองได้

ที่น่าสนใจคือ แม้แต่ประเทศที่มีประชากรเพียง 5.7 ล้านคน อย่างสิงคโปร์ ก็ยังใช้เงิน 10 ล้านดอลลาร์ ว่าจ้างบริษัท อาร์คทูรัส เธราพิวอิค โฮลดิงส์ ของสหรัฐให้พัฒนาวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์-ดุค เพื่อให้มีโอกาสได้เข้าถึงวัคซีนเป็นลำดับแรกสุด

วัคซีนที่รุดหน้าที่สุด

โครงการวัคซีนที่อยู่ในขั้นตอนรุดหน้าที่สุดในเวลานี้มีอยู่ไม่กี่โครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการของบาร์ดา ที่มอบเงิน 500 ล้านดอลลาร์ให้ “เจแอนด์เจ” พัฒนาและผลิตออกมา

“เจแอนด์เจ” ใช้วิธีการนำเอาไวรัสไข้หวัดใหญ่มาทำให้ไม่มีพิษสงแล้วสกัดเอาหน่วยพันธุกรรม หรือยีนในบริเวณหนามของไวรัสก่อโรคโควิด-19 มาใส่ให้กับไวรัสต้นแบบเพื่อใช้เป็นเครื่องกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย

“เจแอนด์เจ” เคยใช้วิธีเดียวกันนี้ในการพัฒนาวัคซีนไวรัสก่อโรคอีโบลามาแล้ว แม้ว่าวัคซีนอีโบลาจะยังไม่ได้รับการทดลองใช้โดยสมบูรณ์และได้รับอนุญาตจากทางการสหรัฐก็ตาม แต่จากการทดลองจนถึงตอนนี้แสดงให้เห็นว่าวัคซีนอีโบลาที่เจแอนด์เจพัฒนาขึ้นนั้นปลอดภัย ซึ่งเป็นข้อดีในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพราะช่วยให้ผ่านความเห็นชอบได้เร็วขึ้น

ผลการทดลองในสัตว์ของเจแอนด์เจว่าวัคซีนได้ผลหรือไม่ จะรู้กันในเดือนกันยายนนี้

ที่เร็วกว่านั้นก็มีโครงการพัฒนาของแคนซิโน ไบโอโลจิกส์ ของจีน ที่ใช้กรรมวิธีพัฒนาแบบเดียวกันกับเจแอนด์เจ แต่เริ่มต้นก่อนและได้ผลการทดลองในลิงออกมาแล้วว่าสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ และอยู่ระหว่างการทดลองในคน

แฟ้มภาพ


“แคนซิโนฯ”
เชื่อว่าวัคซีนของตนพร้อมจะฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นกรณีฉุกเฉินได้ในราวเดือนกันยายน หลังจากนั้นเชื่อว่าจะพร้อมสำหรับบุคคลทั่วไปในต้นปี 2564

ขณะที่ “ซาโนฟี เอสเอ.” บริษัทเภสัชกรรมสัญชาติสวิสที่ถือเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก พัฒนาวัคซีนตามวิธีการเดิมที่ผลิตวัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่ “ฟลูบล็อก” ของบริษัท ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจากบาร์ดา ทำให้กระบวนการสามารถเร่งเร็วขึ้นได้

“โมเดอร์นา อิงค์.” บริษัทขนาดเล็กจากเมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ แต่รุดหน้ามากที่สุดในการพัฒนาวัคซีน ถึงขนาดทดลองในคนได้เป็นรายแรกในสหรัฐ ภายใต้การสนับสนุนจากบาร์ดา เป็นเงิน 483 ล้านดอลลาร์

วิธีการของโมเดอร์นาต่างไปจากเจแอนด์เจ ตรงที่ใช้พันธุกรรมในอาร์เอ็นเอของไวรัสโควิด-19 ที่เรียกว่า แมสเซนเจอร์ อาร์เอ็นเอ (เอ็มอาร์เอ็นเอ) ในการสร้างโปรตีนจำเพาะของไวรัสที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของคนขึ้น ทำให้การออกแบบวัคซีนง่ายขึ้นกว่าวิธีการสกัดจากหนามไวรัสที่เจแอนด์เจใช้มาก

ปัญหาคือ เอ็มอาร์เอ็นเอวัคซีน ไม่เคยมีใครใช้และไม่เคยได้รับอนุญาตให้ใช้กับสาธารณชนมาก่อน

ในเยอรมนี “เคียวร์วัค” และ “ไอโอเอ็นเทค เอสอี” จับมือกับ “ไฟเซอร์” บริษัทยาอเมริกัน เริ่มต้นการทดลองในคนสำหรับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของตัวเองอยู่ด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังมีวัคซีนโครงการของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเพิ่งเริ่มทดลองในคนในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้

ปัญหาก็คือ เร็วกว่าไม่ได้หมายความว่าจะสำเร็จ การทดลองในคนใช่ว่าจะสำเร็จเสมอไป ถึงที่สุดแล้ววัคซีนกว่าร้อยสูตรที่กำลังพัฒนาอยู่อาจไม่มีสูตรไหนที่มีประสิทธิภาพและปราศจากผลข้างเคียงที่อันตรายเลยก็เป็นได้

ประวัติศาสตร์อาจซ้ำรอย

โอกาสที่วัคซีนที่กำลังพัฒนาจะประสบความสำเร็จมีน้อยมากแล้ว โอกาสที่คนในประเทศยากจนหรือกำลังพัฒนาทั้งหลายจะได้รับวัคซีนในทันทีที่พัฒนาสำเร็จยิ่งลดน้อยลงไปอีก

ด้วยเพราะจะเกิดการกักตุนวัคซีนในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศที่มีเศรษฐกิจดีๆ ทั้งหลายจนหมด

ประวัติศาสตร์การกักตุนวัคซีนเคยเกิดขึ้นมาแล้วหมาดๆ เมื่อครั้งการพัฒนาวัคซีนไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เริ่มระบาดในสหรัฐและเม็กซิโก

เฉพาะในสหรัฐเอง กักตุนไว้มากถึง 250 ล้านโดส ประเทศอย่างบราซิล, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, อิตาลี, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์, สวิตเซอร์แลนด์ และอังกฤษ ได้รับวัคซีนไปจนหมด

ทางองค์การอนามัยโลก (ฮู) ต้องกดดันอย่างหนัก รัฐบาลประเทศเหล่านี้จึงยอมตัดวัคซีน 10% แต่ละประเทศออกมาขายให้ประเทศกำลังพัฒนา

แต่ก็มีแค่ 77 ล้านโดสเท่านั้นที่ถูกปล่อยออกมา แล้วก็ช้าไปมาก เพราะการระบาดซาลงไปแล้ว

ภาพ INOVIO

ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาหลายคนเห็นตรงกันว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ ไม่ยากที่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกครั้ง

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เกิดองค์กรอย่าง “เซปิ” และเป็นเหตุผลที่ทำให้ฮูต้องออกมาแถลง “ความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์” ของรัฐบาลทั่วโลกที่รับปากระดมทุน 8,000 ล้านดอลลาร์ ในการพัฒนาวัคซีนที่ประเทศส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคเข้าร่วม

ยกเว้นสหรัฐและจีนอีกเหมือนเดิม

“พอล สโตฟเฟลส์” หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ของเจแอนด์เจ สรุปถึงความเสี่ยงในการพัฒนาวัคซีนครั้งนี้ไว้ว่า วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ใหญ่โตเสียจนทุกฝ่ายต้องทุ่มความเสี่ยงจนถึงขีดสุดลงไปเพื่อหยุดยั้งโควิด-19 ให้ได้

แต่ถ้าล้มเหลว สภาพการณ์ก็จะเลวร้ายถึงขีดสุดเช่นเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image