ปลัด สปน. เผย ศูนย์โควิด-19 เตรียมรวมเรื่องร้องเรียนของ ปชช. รายงาน ‘นายกฯ’ จ่อให้ข้าราชการ ทำงานที่บ้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) มีการประชุมกัน ติดตามสถานการณและประมวลสถานการณ์ปัจจุบัน โดยนายประทีป กีรติเรขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะเลขานุการศูนย์ เป็นประธานการประชุม โดยในที่ประชุมได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในช่วง 1-2 วันนี้ ในการติดตามจำนวนผู้ยืนยันการตรวจติดเชื้อโควิด-19 เพื่อดูแลและจัดหาสถานที่รักษาได้อย่างเหมาะสม รวมถึงหาสถานที่สำรองในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการประสานและสั่งการเตรียมการไปแล้ว อีกทั้งเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลที่รวบรวมโดยศูนย์ ไปสู่การตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องแล้วในระดับสูงต่อไป

ภายหลังการประชุม นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ที่ประชุมได้หารือเพื่อติดตามสถานการณ์ทั่วไป ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีบัญชาให้ติดตามความคืบหน้าการทำงานของทุกหน่วยงานในภาพรวมตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในวันนี้ได้หารือมาตรการ 6 ด้าน

ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านเวชภัณฑ์ ด้านการต่างประเทศ ด้านป้องกัน ด้านการช่วยเหลือเยียวยา และด้านการรับเรื่องราวร้องทุกข์ รวมไปถึงเรื่องการประชาสัมพันธ์ และยังมีการติดตามเรื่องเกี่ยวข้องจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา และเป็นการติดตามสถานการณ์ปัจจุบันรวมไปถึงคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในระยะต่อไป

ปลัด สปน.กล่าวว่า ที่ประชุมได้นำเรื่องร้องเรียนของประชาชนมาหารือ เพื่อที่จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาและปฏิบัติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อแต่ละหน่วยงานรายงานสรุปเข้ามารายวันแล้วทางศูนย์ก็จะได้รวบรวม เพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานศูนย์ฯ ให้ทราบ

Advertisement

นายธีรภัทรกล่าวอีกว่า จากการที่มีมติ ครม. เรื่องการทำงานของข้าราชการนอกและในสถานที่ตั้ง โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคมที่ผ่านมาเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้หารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หาเบื้องต้นและได้ออกแนวทางปฏิบัติให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยทางกระทรวงดิจิทัลฯ ให้คำแนะนำเรื่องการรับส่งเองประสานทางอิเล็คทรอนิกส์ รวมไปถึงการประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์หรือการประชุมทางไกล โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างไรก็ตามเราได้เริ่มทำการทดสอบระบบกันมาบ้างแล้ว มีการวางหลักเกณฑ์เบื้องต้นเรียบร้อยคาดว่าวันพุธที่ 25 มีนาคมนี้ ทาง ก.พ. กระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะได้มีการนัดชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดับกระทรวงเพื่อให้รับทราบและไปดำเนินการในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบ ว่าจะดำเนินการทำงานในและนอกสถานที่ตั้งอย่างไร แต่ทาง ก.พ.ได้ย้ำว่าในการทำงานดังกล่าวจะต้องไม่ทำให้ประสิทธิภาพของงานลดลง

โดยเฉพาะงานบริการประชาชน และต้องคำนึงถึงด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และต้องทำให้งานเหล่านั้นเกิดสมดุลย์ไม่เสียหายต่อการบริการประชาชน โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขยังต้องให้บริการประชาชนตามปกติ และในส่วนความมั่นคงและความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ยังคงหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ ยังต้องมีบางส่วนทำงานอยู่ในที่ตั้งและบางส่วนทำงานที่บ้าน ซึ่งแต่ละหน่วยงานสัดส่วนไม่เหมือนกัน โดยเราจะเน้นข้าราชการ เจ้าหน้าที่ที่เดินทางโดยรถสาธารณะก่อน ส่วนคนที่มีรถยนต์ส่วนบุคคลจะพิจารณาตามความเหมาะสมและแต่ละหน่วยงานด้วย

Advertisement

นายธีรภัทรกล่าวว่า สำหรับเรื่องการกักตัว 14 วัน ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทางกระทรวงมหาดไทยได้มีทีมดำเนินการคัดกรองแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกตระดับพื้นที่ ให้การดูแลอยู่ 83,362 ทีมทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันของฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข และหน่วยงานระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง คอยติดตามดูแลสุขภาพของบุคคลเหล่านั้น นอกจากนั้น การปิดหิจกรรมหรือสถานที่หลายๆ ส่วนประมาณ 2 หมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ ก็จะมีทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามดูผลกระทบเหล่านั้นด้วย

เมื่อถามว่า ส่วนใหญ่ประชาชนร้องเรียนมาเป็นเรื่องอะไร นายธีรภัทร กล่าวว่า เวลานี้มีทั้งร้องเรียน ให้ข้อเสนอแนะ และแจ้งเหตุเบาะแส เข้ามาผ่านหลายช่อง รวมถึงสายด่วน 1111 สำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 1-2 วันนี้ เฉลี่ยรวมพันกว่าเรื่อง สอบถามมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล อย่าง ขั้นตอนญาติเดินทางกลับจากต่างประเทศ รวมถึงการแจ้งเหตุบางที่มีคนจำนวนมากแต่ยังไม่ปิดพื้นที่ หรือห้างสรรพสินค้าไม่มีมาตรการดูแด้านสาธารณสุขสำหรับคนที่จะเข้าไป ส่วนนี้ได้แจ้ง กทม.ดำเนินการเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การเดินทางไปในพื้นที่ปลอดภัย

เมื่อถามว่า ผู้ว่าฯ กทม.ได้รายการประกาศให้ปิดห้างสรรพสินค้าใน กทม.ยกเว้นศูนย์อาหาร มายังศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือไม่ นายธีรภัทรกล่าวว่า ณ ตอนนี้ยังไม่มีรายงานเข้ามา แต่การดำเนินการตามมติ ครม. ที่ขอความร่วมมือให้มีความเข้มงวดหรือมีมาตรการต่างๆ ในการคัดกรองคนลงไปในพื้นที่ซึ่งเป็นในภาพรวมและต้องขอความร่วมมือทุกหน่วยงาน รวมถึงประชาชน และบริษัทเอกชนต่างๆ ที่ดำเนินการค้าขายต้องช่วยกัน เพราะสิ่งสำคัญเราต้องร่วมมือกันหยุดการแพร่ระบาดในประเทศ

///////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image