กทม.เข้ม “ร้านอาหารนั่งดริงก์” ห้ามเกินเที่ยงคืน-งดดนตรีสด “คอนเสิร์ต” จัดได้เฉพาะตั๋วนั่งเท่านั้น!

กทม.เข้ม “ร้านอาหารนั่งดริงก์” ห้ามเกินเที่ยงคืน-งดดนตรีสด “คอนเสิร์ต” จัดได้เฉพาะตั๋วนั่งเท่านั้น!

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ที่ศาลาว่าการ กทม. ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการป้องกันโรคติดต่อ กทม. ครั้งที่ 14/2563 ซึ่งมีการหารือเรื่องมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า กิจการ/กิจกรรมที่อนุญาตให้เปิดได้ภายในข้อกำหนด กทม. มีจำนวน 11 ประเภท แต่ยกเว้นอีก 5 ประเภท ที่ยังไม่อนุญาตให้เปิด โดยจะต้องรอดูอีก 14 วันข้างหน้าเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง

“การพิจารณามาตรการผ่อนปรน ตลอดระยะเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนี้เป็นรอบท้าย แต่ยังไม่ท้ายที่สุดตามที่รัฐบาลได้แถลงไปแล้วนั้น มาตรการที่ กทม. กำหนดมีความเข้มข้นขึ้นมากกว่าที่รัฐบาลกำหนด” โฆษก กทม. กล่าว

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า กิจการ/กิจกรรม ที่ยังไม่มีการผ่อนปรนในระยะที่ 4 มีจำนวน 5 ประเภทได้แก่ 1.สถานบริการ ผับ-บาร์ สถานบันเทิง 2.สนามชนไก่ สนามซ้อมไก่ชน 3.ร้านเกม ร้านอินเทอร์เน็ต 4.สถานอาบอบนวด และ 5.สนามชนโค ไก่ชน กัดปลา หรือกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน

Advertisement

โฆษก กทม. กล่าวว่า ส่วนกิจกรรมที่ได้รับผ่อนปรน 11 ประเภท ได้แก่

1.ให้ใช้อาคารสถานที่โรงเรียน สถาบันการศึกษา สถาบันกวดวิชาตามกฎหมาย โรงเรียนนานาชาติ มหาวิทยาลัยที่มีสูตรนานาชาติ สามารถเปิดได้ แต่สำหรับโรงเรียนของรัฐบาล เปิดได้แต่กำหนดให้มีนักเรียนไม่เกิน 120 คน โดยเน้นย้ำว่าโรงเรียนในสังกัดของ กทม.ยังไม่เปิดในระยะนี้ และคาดว่าจะพร้อมเปิดทั้ง 437 แห่ง ในเดือนกรกฎาคม

2.โรงแรม โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ การจัดเลี้ยง งานพิธี คอนเสิร์ต สามารถเปิดได้ แต่ต้องจำกัดจำนวนคน และใช้   แพลตฟอร์มไทยชนะ โดย กทม.เพิ่มมาตรการ เรื่องการจัดคอนเสิร์ต แสดงดนตรี จะต้องขายตั๋วนั่งเท่านั้น ไม่ให้มีตั๋วยืน

3.ร้านอาหาร ภัตตาคาร จำหน่ายเครื่องดื่มทั่วไป และแอลกอฮอล์สามารถเปิดได้ ยกเว้น สถานบริการ ที่คล้าย ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการที่เน้นขายแอลกอฮอล์ และร้านอาหารที่มีการขายแอลกอฮอล์จะต้องเปิดขายแอลกอฮอล์ได้ไม่เกิน 24.00 น.

“เพราะเวลาที่นอกเหนือจากนั้นจะเข้าข่ายเป็นสถานบริการ ผู้ประกอบการต้องไปดูว่า การขออนุญาตการเปิดกิจการ ขึ้นทะเบียนเป็นประเภทใด แต่เน้นย้ำว่าการห้ามมีการแสดงดนตรีสด แต่สามารถเปิดเพลงได้ และจะต้องจำกัดระดับเสียงตามกฎหมาย” โฆษก กทม. ระบุ

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า 4.สถานที่รับเลี้ยงเด็ก ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สถานสงเคราะห์คนชรา สามารถเปิดได้ แต่กำหนดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ตารางเมตรต่อคน (ตร.ม./คน)

5.ศูนย์วิทยาศาสตร์ ศูนย์การเรียนรู้ เช่น ท้องฟ้าจำลอง

6.การถ่ายทำ กองถ่ายภาพยนตร์ กำหนดให้ทีมงานไม่เกิน 150 คน และผู้ชมไม่เกิน 50 คน

7.สถานประกอบการนวดแผนไทย สปา นวดใบหน้า ไม่รวมกิจกรรมอาบอบนวด จำกัดการใช้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

8.สวนสาธารณะ ลานกิจกรรม เช่น การเต้นแอโรบิค ให้ออกกำลังกายเป็นกลุ่มได้ไม่เกิน 50 คน เว้นระยะ 2 เมตร สวมหน้ากากก่อน-หลัง ออกกำลังกาย

9.สวนน้ำ สนามเด็กเล่น สวนสนุก ยกเว้น เครื่องเล่นติดตั้งชั่วคราว บ้านลม บ้านบอล และต้องจำกัดผู้เข้าใช้บริการและเข้าใช้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคน

10.สถานที่จัดกีฬา แข่งขันกีฬา ห้ามมีผู้ชมในสนามแข่งขัน แต่สามารถถ่ายทอดผ่านสื่อต่างๆ ได้ และยังไม่อนุญาตให้เปิดกิจกรรม ชนโค ชนไก่ กัดปลา และการจัดแข่งกีฬา ส่วนสระว่ายน้ำกำหนดให้มีจำนวนคนในพื้นที่สระ 8 ตร.ม./คน

และ 11.ตู้เกม เครื่องหยอดเหรียญ ในห้างสรรพสินค้าสามารถเปิดได้

ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า กิจกรรมที่คล้ายคลึงกับสถานประกอบการ หากจะขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะต้องมีใบขออนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับกรมสรรพสามิต และขณะนี้ขอเน้นย้ำว่า ยังไม่ให้มีการแสดงดนตรีสด ขอให้เป็นการเปิดเพลงเท่านั้น หากพบว่าสถานที่ใดเปิดให้บริการเข้าข่ายสถานบริการ จะถูกปิดทันที และในส่วนของกิจกรรมมีต แอนด์ กรี๊ด (meet and greet) ยังไม่สามารถเปิดได้ เนื่องจากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับแฟนคลับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image