สธ.โยน “ศบค.” เคาะเวลา “ปิดห้าง” ห่วง ปปช.เมิน “เว้นระยะห่าง”

สธ.โยน “ศบค.” เคาะเวลา “ปิดห้าง” ห่วง ปปช.เมิน “เว้นระยะห่าง”

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 ในการควบคุมและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า เมื่อเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนกิจการเกือบครบทุกอย่างแล้ว กรมอนามัยได้ทำการสำรวจผ่าน Thai Stop Covid ข้อมูลถึงเดือนพฤษภาคม มีผู้ทำการตอบแบบสำรวจ 2,203 ราย พบว่า ประชาชนเข้าถึงข้อมูลในเรื่องการป้องกันโควิด-19 มากขึ้น สูงถึงร้อยละ 80.75 ประชาชนมีความเข้าใจในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ร้อยละ 55.24

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ทั้งนี้สิ่งที่ปรับตัวหรือทำได้ยาก คือ การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ที่ทำได้ลดลง เพราะการเปิดกิจการบางอย่างแล้วทำได้ยาก นอกนั้นทำได้ค่อนข้างดี ที่น่าสนใจคือ ประชาชนพยายามไปใช้พื้นที่ขนส่งสาธารณะให้น้อยที่สุด การสวมหน้ากาก การสังเกตตัวเอง พยายามไม่ออกจากบ้านเมื่อมีไข้ อยู่ในระดับที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม สถานประกอบการมีส่วนสำคัญมากในการสนับสนุนการปฏิบัติตัวของประชาชน โดยพบว่าสถานประกอบการร้านค้า เมื่อมีการทำสัญลักษณ์ หรือจัดระบบการเว้นระยะ จุดล้างมือต่างๆ ประชาชนให้ความร่วมมือดีเมื่อเทียบกับกิจการที่ไม่ทำ

“หลายประเทศ หลังผ่อนปรนจะมีการติดเชื้อรายใหม่ อย่างปักกิ่งกลับมาประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะพบผู้ป่วยมากขึ้น ดังนั้น เราต้องมาดูเรื่องการ์ดของคนไทยเมื่อมีการผ่อนปรนเฟส 4 สัปดาห์นี้น่าสนใจมากว่ากราฟ ดีขึ้นเกือบทุกด้าน เช่น การสวมหน้ากากกลับมาที่ร้อยละ 91 จากที่ลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 90 และเคยทำสูงสุดที่ร้อยละ 92 แต่อยากให้สวมหน้ากากมากกว่านี้เมื่อไปที่สาธารณะ คู่กับการเว้นระยะห่าง การล้างมือ การไม่สัมผัสหน้าตัวเอง ก็หวังว่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก” พญ.พรรณพิมล กล่าว

Advertisement

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สำหรับต้นแบบ คือ ตลาดสด ที่ประเทศไทยเปิดไปตั้งแต่เฟส 1 นั้น ต้องย้ำ 12 มาตรการควบคุมป้องกันโรค คือ 1.จุดคัดกรองและล้างมืออย่างสม่ำเสมอ 2.ผู้ขายสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม และสวมหน้ากากผ้า หน้ากากอนามัยทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามามากคือการไม่สวมหน้ากากช่วงที่มีการเจรจาค้าขาย ดังนั้นต้องขอความร่วมมือทุกคนด้วยเพื่อความปลอดภัย 3.อาหารปรุงสำเร็จ มีการปกปิด และใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารทุกครั้ง 4.เว้นระยะห่างระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย 1-2 เมตร 5.หากป่วยให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที 6.จัดบริการจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และจุดประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ 7.ควรล้างแผงจำหน่ายอาหารสดและแผงเนื้อสัตว์ชำแหละทุกวัน

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า 8.ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างทางเดิน ฝาผนังและกวาดล้างสู่ทางระบายน้ำเสียเพื่อล้างสิ่งสกปรก 9.ล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล ในกรณีมีการระบาดของโรคติดต่อ ควรล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 10.ขยะต้องเก็บรวบรวมไปกำจัดให้หมด และล้างทำความสะอาด 11.ให้ฆ่าเชื้อโรค โดยใช้ผงปูนคลอรีน 60% ความเข้มข้น 100 ppm ในอัตราส่วน 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 20 ลิตร ใส่ฝักบัวรดน้ำเป็นประจำทุกวัน และ 12.ห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะ หรือจุดสัมผัสร่วมกัน ต้องทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอกรวมถึงสารฆ่าเชื้อ

“สำหรับคำถามถึงมาตรการควบคุมป้องกันโรคบ้านบอลตามตลอดนั้น เข้าใจว่าจะอยู่ในระยะถัดไปเมื่อมั่นใจว่าควบคุมการระบาดได้ดี เมื่อมีการเปิดแล้วต้องจัดระบบคัดกรองที่ดี เพราะถ้าคัดกรองไม่ดี ไม่มีการแยกเด็กไม่สบาย หากนึกภาพออกจะมีน้ำมูกน้ำลาย ก็ถือว่าเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นการคัดกรองสำคัญมาก และการทำความสะอาดบ่อยๆ ส่วนเรื่องการเปิดสวนสนุกนั้นเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงด้วยตัวของกิจกรรมเอง จัดการยาก แต่ที่มีการพูดคุยผู้ประกอบการสวนสนุกคือให้มีการเช็กอินทางเข้า ส่วนจะถึงขั้นต้องเช็กอินแต่ละจุดเครื่องเล่นหรือไม่นั้น คงต้องมีการคุยกันก่อน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคือจะมีการจัดระยะห่างการเล่นเครื่องเล่น เพราะคงห้ามคนตะโกน พูดคุย หรืออื่นๆ ดังนั้นการสวมหน้ากากอนามัยหน้ากากผ้า จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก” พญ.พรรณพิมล กล่าว

นอกจากนี้ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ขณะที่ห้างสรรพสินค้าจะเปิด-ปิดได้ตามเวลาปกติหรือไม่ เพราะมีการเลิกเคอร์ฟิวแล้วนั้น เรื่องนี้ต้องถามความชัดเจนที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) เพราะที่สั่งปิดเวลา 21.00 น.นั้น ออกตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image