เสียง “คนพิการ” ในเวที สปสช. ความต้องการในยุค New normal

นอกจากเป็นโรคระบาดรุนแรงในระดับมนุษยชาติแล้ว โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ยังมาพร้อมกับคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่

นับตั้งแต่เริ่มระบาดจนสถานการณ์ขยายวง กระทั่งเริ่มควบคุมได้ด้วยมาตรการอันเข้มงวด และล่าสุดกำลังจะผ่อนปรนคลายล็อกดาวน์ พบว่าแต่ละช่วงเหตุการณ์มีอิทธิพลต่อกิจวัตรประจำวันของเราแทบทั้งสิ้น
การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้อง หรือ New normal ที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนหลังจากนี้ กลายมาเป็นประเด็นร้อน (Hot Issue) ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอย่างหนาหู

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็มีการพูดคุยเรื่องนี้อีกเช่นกัน หากแต่เป็นการพูดคุยบนฐานของกฎหมาย เป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่กำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องเปิดรับฟังความเห็นทั่วไปประจำปี

Advertisement

การรับฟังความเห็นประจำปี 2563 จัดในหัวข้อ หลักประกันสุขภาพคนพิการในยุค New normalŽ พุ่งเป้าไปที่ความเดือดร้อนของกลุ่มคนเปราะบาง โฟกัสที่ คนพิการŽ เป็นสำคัญ นั่นทำให้มีผู้พิการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมชม และแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก

นพ.เจษฎา โชคดํารงสุข ประธานคณะอนุกรรมการสื่อสารและรับฟังความคิดเห็น และกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) อธิบายว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นเป็นภารกิจตามที่กฎหมายกำหนดให้ สปสช.ดำเนินการทุกปี เพื่อขยายการมีส่วนร่วม และนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพและพัฒนานโยบายการจัดบริการ

Advertisement

สำหรับปี 2563 ได้จัดรับฟังความคิดเห็นออนไลน์กับ กลุ่มคนพิการŽ เพื่อให้คนพิการและผู้ดูแลทั่วประเทศเสนอแนวคิด ปัญหา ข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะการใช้ชีวิตในวิถีใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบบริการให้เหมาะสมกับคนพิการมากขึ้น

ความคิดเห็นหนึ่งที่ควรค่าแก่การรับฟังมาจาก นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และอดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า แม้ว่าจะมีความพยายามผลักดันเรื่องการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยวิธีทางการแพทย์ และถึงแม้ว่าประเทศไทยกำลังจะกลายเป็นศูนย์รวมสุขภาพโลก หากแต่ข้อเท็จจริงก็คือเรื่อง กายอุปกรณ์Ž และ เครื่องช่วยความพิการŽ กลับมีการวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย

”คิดว่า สปสช.ในฐานะผู้ซื้อรายใหญ่ต้องช่วยผลักดันการวิจัยพัฒนาในประเทศ รวมถึงเรื่องยาสำหรับผู้พิการทางจิตสังคม เพิ่มยาดีที่มีผลข้างเคียงน้อยลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ”Ž ส.ว.มณเฑียร เสนอ

นอกจากนี้ ส.ว.มณเฑียร ยังแนะนำให้ สปสช.ดำเนินการเรื่อง หน่วยร่วมบริการŽ อย่างจริงจัง โดยศูนย์บริการคนพิการถูกออกแบบมาให้มีความยืดหยุ่น สามารถสอดประสานข้ามกระทรวง หรือกับกฎหมายอื่นๆ ได้ ขณะที่ สปสช.เองก็เป็นองค์กรที่มีความยืดหยุ่น จริงๆ น่าจะเกิดความร่วมมือที่เป็นพลังบวก มีการ Empower ภาคประชาสังคมอย่างเต็มที่

สอดคล้องกับที่ นายวันเสาร์ ไชยกุล ตัวแทนเครือข่ายคนพิการรักสุขภาพ กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นชัดถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสุขภาพผู้พิการที่ขาดการดูแล หรือการเข้าถึงบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเข้าถึงวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งในอนาคตก็อาจเกิดสถานการณ์ลักษณะนี้ได้อีก ดังนั้น ถ้ามีกลไกสุขภาพระดับชุมชนเข้ามาจัดการในระดับพื้นที่ น่าจะทำให้คนพิการได้รับบริการฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง

นางจรรยา บัวสร สำนักงานสมาคมคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่กลุ่มผู้พิการทางการมองเห็นฝากมาสะท้อนในเวทีนี้คือ ในช่วงโควิด-19 ทำให้สถานที่ต่างๆ มีมาตรการวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ ซึ่งคนพิการทางการมองเห็นอยากให้มีเครื่องวัดอุณหภูมิที่มีเสียงบอกว่าอุณหภูมิเท่าไร เพื่อให้รับทราบด้วย และหากเป็นไปได้ก็ควรอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ รวมไปถึงอุปกรณ์ปรอทวัดไข้และเครื่องวัดความดันโลหิตที่อยากให้มีเสียงบอกค่าต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ในประเด็นการส่งเสริมคนพิการ มีตัวอย่างการดำเนินการขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สระบุรี นายสุจิน บุญมาเลิศ รองปลัด อบจ.สระบุรี เล่าว่า จ.สระบุรี ได้ก่อตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ จ.สระบุรี ในปี 2556 และได้ดำเนินโครงการหลากหลาย อาทิ ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อตั้งศูนย์ร่วมสุขให้ครบทุกตำบล คาดว่าในปี 2564 จะดำเนินการได้ครบทั้งจังหวัด

นายวีระชัย ก้อนมณี ผู้อำนวยการสนับสนุนระบบบริการสุขภาพชุมชน สปสช. ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 2 ล้านคน เมื่อลงทะเบียนในระบบบัตรทองแล้ว หากเข้าข่ายคนพิการก็จะได้สิทธิเฉพาะเพิ่ม เช่น ได้รับกายอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการ 76 รายการ และสิทธิในการได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 9 รายการ รวมถึงสามารถเข้ารับบริการจากหน่วยบริการใดก็ได้โดยไม่ต้องมีใบส่งต่อ
สปสช.ให้ความสำคัญและรับฟังเสียงสะท้อนจากการรับฟังความคิดเห็นเป็นอย่างมาก ข้อเสนอจากผู้พิการในปีก่อนๆ เราได้นำไปปรับปรุง ฉะนั้น เสียงสะท้อนที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ก็จะได้นำไปสู่การพัฒนาสิทธิและบริการของผู้พิการให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปในอนาคตŽ วีระชัยระบุ

ด้าน นพ.สำเริง แหยงกระโทก ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชี้แจงถึงแผนพัฒนาการดูแลสุขภาพคนพิการปี 2560-2564 ของ สธ. โดยมีด้วยกัน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาระบบบริการให้คนพิการเข้าถึง 2.ส่งเสริมคนพิการเข้าใจสิทธิประโยชน์ 3.พัฒนาสภาพแวดล้อม เทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก และข้อมูลข่าวสารคนพิการในหน่วยบริการ 4.พัฒนาวิจัยนวัตกรรมด้านสุขภาพคนพิการ 5.ส่งเสริมให้หน่วยบริการมีส่วนร่วมกับชุมชนในการดูแลคนพิการ

“สปสช.ในฐานะเป็นผู้ถืองบประมาณก็ต้องสนับสนุนเงินไปตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้คือ ต้องสนับสนุนพัฒนาระบบบริการ สร้างการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นซึ่งเป็นผู้ดูแลประชาชนในพื้นที่ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้เอื้อต่อการเข้าถึงบริการของคนพิการ”Ž นพ.สำเริง กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image