“อนุทิน” ลั่น “แทรเวล บับเบิล” ให้กลุ่มจำเป็นก่อน ยังไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว อย่าเข้าใจผิด!

“อนุทิน” ลั่น “แทรเวล บับเบิล” ให้กลุ่มจำเป็นก่อน ยังไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยว อย่าเข้าใจผิด!

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ที่กระทรวงสาธารณสุข ถึงกรณีของการจับคู่ประเทศเดินทาง หรือ แทรเวล บับเบิล (Travels bubble)

นายอนุทิน กล่าวว่า ขณะนี้ให้กรมควบคุมโรค และ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ. ดูแลเรื่องนี้ ตอนนี้ต้องจัดคิวพบเอกอัครราชทูตหลายประเทศที่ประสานเข้ามา มีหลายประเทศส่งร่างกรอบการควบคุมป้องกันโรค และการคัดกรองคนเดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงการคัดกรองเข้าประเทศของเขา จึงต้องมาดูว่าสอดคล้องกับมาตรการในประเทศไทยหรือไม่ โดยอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยในการควบคุมโรค และเศรษฐกิจ เรื่องนี้ผู้เกี่ยวข้องจะมีการหาหรือและเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดใหญ่ พิจารณาในวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายนนี้

“ทุกอย่างคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนในประเทศเป็นหลัก พร้อมกับคำนึงถึงเศรษฐกิจ คงเป็นการทำเอ็มโอยู (MOU) หากประเทศไหนมีการแพร่ระบาด ก็สามารถยกเลิกได้ อาจจะเริ่มจากผู้ประกอบธุรกิจ การฝึกอบรม ครูโรงเรียนอินเตอร์ ผู้ทำงานที่มีใบ work permit ให้เดินทางได้ตามกรอบ เบื้องต้น ยังไม่มีประเทศที่กำลังเจรจา เนื่องจากประเด็นนี้เพิ่งเริ่มตอนที่จะเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 4 ผมเองได้มีการพูดคุยกับเอกอัครราชทูตจากประเทศจีน เกาหลีใต้ สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศ ได้แสดงความจำนงเข้ามา ดูก่อนว่าความรู้สึกของนานาประเทศ ที่มีต่อประเทศไทย ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ผมชื่นใจว่าเอกอัครราชทูตหลายประเทศ มีความเชื่อมั่นในประเทศไทย เป็นประเทศที่ในสายตาของทูตประเทศนั้นๆ มีความมั่นใจ และต้องการให้มีการไปมาหาสู่กันอย่างเร็วที่สุด เป็นนิมิตรหมายอันดี ผมมั่นใจว่า หากเราการ์ดไม่ตก ประเทศไทยจะเป็นมุ่งหมายของการท่องเที่ยวและการทำธุรกิจ จากหลายประเทศ สิ่งที่เราเสียไปในวันนี้จะกลับมาตอบแทน” นายอนุทิน กล่าว

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามว่า เกณฑ์การตัดสินเป็นอย่างไร นายอนุทิน กล่าวว่า เป็นการตกลงของ 2 ฝ่าย ต้องไม่มีใครเสียเปรียบได้เปรียบ ผู้เดินทางจะต้องมีการตรวจคัดกรองอย่างไร จะมีอนุญาตใบ fit to fly อย่างไร การที่เราจะยอมให้ไม่มีกักกันโรคฯ ระยะ 14 วัน แต่เราจะต้องมั่นใจว่า เราจะมีการติดตามตัวผู้เดินทางได้ เช่น ผู้เดินทางจะมาด้วยวัตถุประสงค์ใด ที่แจ้งไว้ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น มาประกอบธุรกิจ จะมีการติดตามว่าอยู่โรงแรมใด ใช้เวลากี่วัน จะต้องแจ้งทั้งหมด ซึ่งทาง สธ.ได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการติดตามไว้แล้ว

“นี่เป็นการเริ่ม ไม่ใช่เปิดมาแล้วเข้ามากันไม่หวาดไม่ไหว ไม่ใช่อย่างนั้น อย่าเข้าใจผิด เรื่องนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวยังไม่ถึงจุดนั้น ต้องค่อยๆ ขยับไป ต่อให้เราเปิดอย่างไร นักท่องเที่ยวก็ยังไม่มีใครมา เราก็คงยังไม่กล้าไปต่างประเทศเหมือนกัน เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง ก็เป็นการจำแนกเป็นกลุ่ใที่มีความจำเป็นก่อน” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับการหารือที่ทาง ศบค.ชุดเล็กที่จะหารือกันบ่ายวันนี้ เบื้องต้นกรอบที่ 2 ประเทศจะต้องมีตรงกันจึง 1.จำนวนอัตราการป่วยโควิด-19 จะต้องลดลง ดูให้แน่ชัดว่าการป่วยที่เกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ มาจากการแพร่ระบาดในประเทศ หรือ เป็นกรณีผู้ป่วยนำเข้าจากต่างประเทศ 2.ศักยภาพและความสามารถด้านการรักษาพยาบาล เป็นต้น

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image