“ไทยชนะ” จ่ออัพเดต “กรุ๊ปเช็กอิน” ลงทะเบียนสูงสุด 4 คน ย้ำ!จุดไหนเน็ตไม่แรงให้แจ้ง กสทช.

“ไทยชนะ” จ่ออัพเดต “กรุ๊ปเช็กอิน” ลงทะเบียนสูงสุด 4 คน ย้ำ!จุดไหนเน็ตไม่แรงให้แจ้ง กสทช.

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และรองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหา ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) กล่าวถึงการใช้แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ในการตกลงร่วมกันกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงดีอีเอส ในกรณีที่ร้านค้าใช้การเก็บข้อมูลผู้เข้าใช้บริการด้วยการจดลงในสมุด จะต้องมีข้อควรรู้และแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

1.ข้อมูลนี้ใช้เพื่อการสอบสวนโรค กรณีผู้ใช้บริการบางคนป่วยโรคโควิด-19 ขึ้นในภายหลัง 2.ห้ามนำไปใช้เพื่อการอย่างอื่นโดยเด็ดขาด 3.ร้านค้า จัดเก็บในที่ปลอดภัย โดยสามารถสืบค้นป้อนหลังได้ 60 วัน และ 4.เมื่อครบ 60 วัน กำหนดให้ร้านค้าทำลายสมุดจดดังกล่าว

“การติดเชื้อในประเทศจีน 4 หมื่นราย ที่ต้องสอบสวนโรค ค่าใช้จ่ายต่อคนไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท คิดเป็นเงินทั้งหมด 120 ล้านบาท แต่หากสามารถกำหนดคนได้ เหลือร้อยละ 10 ก็จะเหลือค่าใช้ประมาณ 12 ล้านบาท และหากสามารถกำหนดได้มาก ก็จะสามารถเหลือเงินมากขึ้น” นพ.พลวรรธน์ กล่าว

นพ.พลวรรธน์ กล่าวถึงการใช้งานแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ว่า จากข้อมูลล่าสุดพบว่า มีการลงทะเบียนร้านค้ามากขึ้น แต่มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการน้อยลง ดังนั้นต้องย้อนถามว่า ประเทศไทยการ์ดตกแล้วหรือยัง เช่นในประเทศจีนมีการติดเชื้อโควิด-19 ใหม่และทำการปิดสถานที่เพิ่มใหม่ 10 เขต จะต้องถามว่าประเทศไทยต้องการเช่นนั้นหรือไม่ ซึ่งเป็นทางเลือกสุดท้าย

Advertisement

นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า ขณะนี้แอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” มีการอัพเดตใหม่เพื่อความสะดวกและความปลอดภัย โดยจะเพิ่มฟังก์ชั่น “กรุ๊ปเช็กอิน” คือการให้ผู้ที่เดินทางไปพร้อมกัน โดยอาจจะมีสมาชิกในกลุ่มที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก เบื้องต้นสามารถเช็กอินให้กับผู้ที่ไปด้วยกันได้อีก 3 คน รวมเป็น 4 คน ซึ่งจะสามารถใส่ข้อมูลว่าเป็นการเดินทางไปกับใครบ้าง สูงสุด 4 คน แต่หากไปคนเดียวก็สามารถเช็กอินได้ตามปกติ

“การใช้ไทยชนะเป็นระบบปิด มีความปลอดภัย ป้องกันการส่งข้อความรบกวน ในอนาคตจะมีการอัพเดตต่อ เช่น การเดินทางไปเที่ยวอุทยาน ที่มีการท่องเที่ยวที่จำกัดจำนวนคน จะมีการเพิ่มฟังก์ชั่น จองคิวท่องเที่ยวก่อนเดินทางไป เพื่อไม่ให้เกิดความแออัด ไปจนถึงการเพิ่มฟังก์ชั่นซีเรียลนัมเบอร์ (เลขอ้างอิง) เพื่อให้ผู้ประกอบการนำตัวเลขนี้ไปจัดกิจกรรมร่วมสนุกให้แก่ลูกค้าที่เลือกไปในสถานประกอบการของท่าน และเลือกงานใช้ระบบไทยชนะ” นพ.พลวรรธน์ กล่าว

เมื่อถามว่าขณะนี้ตัวระบบมีการรีเซ็ตข้อมูลทุกๆ 00.00 น.ของทุกวัน ในอนาคตจะมีการพัฒนาให้มีการแจ้งเตือนการเช็กเอ้าท์หรือไม่ นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า ขณะนี้ไม่มีการแจ้งเตือน ก็มีความกังวลใจว่า มีการล้วงข้อมูล ดังนั้น ขอเรียนว่าจะพยายามรบกวนประชาชนให้น้อยที่สุด เบื้องต้นเวอร์ชั่นที่จะอัพเดตใหม่ จะมีการเคลียร์ข้อมูล เวลา 00.00 น. รายชื่อในแอพพ์จะหายไป แต่ยังมีข้อมูลเก็บไว้ในคลังอีก 60 วัน

Advertisement

เมื่อถามว่าการเข้าร้านค้าและสแกนคิวอาร์โค้ด มีปัญหาพบว่า หากสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่แรงพอ จะไม่สามารถเช็กอินได้ จะมีการแก้ปัญหาอย่างไร นพ.พลวรรธน์ กล่าวว่า จุดไหนสัญญาณไม่แรงให้แจ้งกับ กสทช. เพื่อให้ดูแลสัญญาณตามที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้สัญญาไว้ว่า จะมีการให้บริการสัญญาณในแต่ละจุด สายด่วนไทยชนะ 119 ซึ่งจะช่วยประสานให้ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image