จ่อผ่อนปรน ‘ต่างชาติ’ เข้าประเทศ กก.โรคติดต่อแห่งชาติ ชง ศบค.เคาะ 29 มิ.ย.นี้

จ่อผ่อนปรน ‘ต่างชาติ’ เข้าประเทศ กก.โรคติดต่อแห่งชาติ ชง ศบค.เคาะ 29 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวถึงมาตรการผ่อนคลายผู้เดินทางมาจากต่างประเทศว่า การผ่อนคลายการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของชาวต่างชาติในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 กลุ่มที่ดำเนินการได้ทันทีคือ 1.กลุ่มเป้าหมายที่ตอบรับมาตรการสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) ได้แก่ ผู้ที่ใบอนุญาตการทำงานในประเทศ และได้ลงทะเบียนไว้แล้ว คือ นักธุรกิจ/นักลงทุน ประมาณ 700 คน แรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ ประมาณ 15,400 คน คนต่างด้าว กรณีครอบครัวของคนไทยและหรือมีถิ่นที่อยู่ในไทย ประมาณ 2,000 คน ครู/อาจารย์/บุคลากรการศึกษาและนักเรียน ประมาณ 2,000 คน และ Medical and Wellness Tourism ประมาณ 30,000 คน

2.กลุ่มเป้าหมายที่ใช้มาตรการคุมไว้สังเกต ได้แก่ นักธุรกิจ/นักลงทุนที่เข้ามาระยะสั้น และแขกของรัฐบาลหรือส่วนราชการ ต้องมีการตรวจปลอดโควิด-19 ทั้งจากต่างประเทศต้นทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย พร้อมทั้งมีทีมติดตามเป็นทางการแพทย์ มีประกันสุขภาพงบประกันมากกว่า 1 แสนเหรียญสหรัฐ นักท่องเที่ยวและผู้เดินทางตามโครงการแทรเวล บับเบิล (Travel Bubble) จะต้องคุยกันมากเนื่องจากมีสถานการณ์ของโรคในแต่ละประเทศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

Advertisement

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขั้นตอนของการเดินทางเข้าในประเทศไทย ได้แก่ ขั้นที่ 1 กลุ่มที่ 1 สามารถดำเนินการได้ทันที กลุ่มที่ 2 ให้เริ่มดำเนินการวันที่ 1 กรกฎาคมนี้เป็นต้นไป แบ่งเป็น กลุ่มแรงงานฝีมือ/ผู้เชี่ยวชาญ คนต่างด้าว กรณีเป็นครอบครัวของคนไทย กลุ่มนักธุรกิจ/นักลงทุน เข้ามาระยะสั้นและแขกของรัฐบาล ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณามาตรการผ่อนคลายฯ ขั้นที่ 2 ดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคม หรือเมื่อมีความพร้อม ในส่วนของ Medical and Wellness Tourism ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต หาดใหญ่ เชียงใหม่ เชียงราย ตามความพร้อม และ Medical and Wellness Tourism ที่ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผนวกกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ในโครงการ Safety Tour (SHA) โดยเป็นมาตรฐานที่ปลอดภัย ขั้นที่ 3 โครงการแทรเวล บับเบิล เป็นการเดินทางกลุ่มก้อนเดียวกันเพื่อความสะดวกในการติดตาม เช่น การเช่าบ้านพัก Villa Quarantine และแบบผ่อนคลายมาตรการ State Quarantine เริ่มดำเนินการเมื่อพร้อม

ผู้สื่อข่าวถามว่า คนไทยในต่างประเทศที่ต้องการเดินทางกลับประเทศไทย มีการจัดการอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จะต้องให้ความสำคัญกับคนไทย แต่อยู่ในปริมาณรับได้ ซึ่งเดิมกำหนดให้ 500 คนต่อวัน โดยขณะนี้มีผู้ที่อยู่ใน State Quarantine ประมาณ 1 หมื่นคน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีศักยภาพในการพัก สามารถเข้าพักใน Alternative State Quarantine เป็นโรงแรมเอกชน ซึ่งยังมีห้องว่างจำนวนมาก และเป็นทางเลือกสำหรับนักธุรกิจ ทั้งนี้ โรงแรมในต่างจังหวัดที่มีสนามบินในจังหวัด สามารถจับคู่กับโรงพยาบาลเอกชน ที่ทำงานร่วมกัน และเปิดเป็น Alternative State Quarantine เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่จะเข้ามาและพักในขณะที่อยู่ระหว่างการกักกันโรคฯ

Advertisement

วันเดียวกันนี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เพื่อพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของรัฐบาลว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างระบบการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโควิด-19 จากผู้เดินทางที่จะเข้ามาในไทย ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เนื่องจากไทยได้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ และเพื่อพยุงให้ประเทศเกิดการจ้างงาน แก้ไขปัญหาสังคม ซึ่ง สธ.จะรับหน้าที่เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอ ศบค.ในวันที่ 29 มิถุนายนนี้ โดยไทยจะมีการจำแนกและอนุญาตให้ผู้ที่เดินทางเข้ามาจากต่างประเทศ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคคลที่นายกรัฐมนตรีอนุญาต เช่น คณะทูต กงศุล องค์กรระหว่างประเทศ ผู้แทนรัฐบาล ผู้ขนส่งสินค้าตามความจำเป็น

นายอนุทินกล่าวว่า 2.คนไทยที่จะกลับบ้าน ซึ่งจะกำหนดจำนวน ระบบทรัพยากรในการรองรับรวมถึงกำหนดระบบการกักกันโรค และ 3.บุคคลที่ถือสัญชาติต่างประเทศ ซึ่งเข้ามาประกอบธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ มีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ เช่น ผู้ป่วยทั่วไปที่รักษาในไทยไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19 โดยบุคคลเหล่านี้ต้องมีระยะเวลาที่ชัดเจนในการอยู่ในประเทศไทย เพื่อทำธุระในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งการผ่อนปรนจะเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมควบคุมโรคกำหนด

นายอนุทินกล่าวถึงมาตรการแทรเวล บับเบิล หรือการจับคู่ด้านการท่องเที่ยวว่า ก็เป็นหนึ่งที่ใช้กรอบใหญ่นี้ เช่น มีระบบการติดตาม มีแอพพลิเคชั่น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่เข้ามาทำงานในไทยนั้น ไม่นับเป็นกลุ่มแทรเวล บับเบิล ต้องเข้ารับการกักตัวเป็นเวลา 14 วัน แต่หากเป็นคนไทยที่ทำงานต่างประเทศเข้ามาเพื่อธุรกิจ เช่น ประชุมจำเพาะมีกำหนดการอยู่ก็จะจัดเป็นกลุ่มแทรเวล บับเบิล

“แทรเวล บับเบิล หากเข้ามาแบบมีวัตถุประสงค์ก็จะไม่กักตัว หรือเรียกว่ากรีนเลนด์ แต่ต้องมีการตกลงกันถึงมาตรการก่อนออกมาจากประเทศต้นทางว่าจะต้องตรวจอย่างไร มีประกันสุขภาพอย่างไร มาถึงไทยก็ต้องตรวจหาเชื้อแบบรวดเร็ว และต้องมาเข้าแอพพ์ติดตามรายงานตัว รวมถึงอยู่ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น หากอยู่ 5 วัน ต้องมีการระบุว่าอยู่โรงแรมอะไร ไปจุดไหน เป็นต้น แต่หากอยู่เกิน 14 วัน จะต้องมีการกักตัว แต่วันที่ชัดเจนว่าจะอยู่ได้กี่วันต้องไปหารือกันอีกครั้ง แต่ไม่เกิน 14 วัน ระยะเวลาสั้นๆ เรื่องนี้เป็นข้อตกลง ไม่ใช่สัญญา หากพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาตรฐานการดูแลไม่ดีก็มีการเปลี่ยนเงื่อนไขได้ แต่ยังมีแค่ 3 กลุ่ม” นายอนุทินกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อห่วงใยของอาจารย์แพทย์ที่เห็นว่า ยังควรมีการกักตัว นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้มีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ดูแลประชุมหารือ และก็พร้อมรับฟังความเห็น แต่ สธ.ก็ต้องมีความพร้อม สามารถขับเคลื่อนได้ทุกมิติต้องมีการสร้างรายได้เพื่อให้สภาวะปกติกลับมาเร็วที่สุด แต่เบื้องต้นย้ำว่ายังไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาท่องเที่ยว ส่วนการประเมินว่าจะขยายนอกจาก 3 กลุ่มนี้ ก็ต้องมีการศึกษาก่อนที่จะแบ่งเป็นระยะเฟส 1 เฟส 2 ต่อไป อย่างไรก็ตาม การกักตัวกลุ่มที่จะเข้ามาทำงาน กลุ่มแทรเวล บับเบิลนั้น ต้องออกค่าใช้จ่ายเอง นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการสวมหน้ากากเวลาออกจากบ้าน เมื่ออยู่ในสถานที่ที่มีการรวมตัวกันจำนวนมาก แต่เน้นการขอความร่วมมือ เพราะที่ประเทศไทยปลอดเชื้อได้ 30 วัน ส่วนหนึ่งมาจากการสวมหน้ากาก และจะต้องคงไว้จนกว่าจะมีวัคซีน

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image