เคาะแล้ว!! “ห้าง” ปิด 4 ทุ่ม “ผับ บาร์” เปิดไม่เกินเที่ยงคืน “อาบอบนวด” สวมหน้ากาก-ห้ามขายประเวณี
เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) แถลงรายงานผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เป็นประธาน ว่า จากการประชุมประเด็นของการผ่อนปรนระยะที่ 5 โดย พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้นำข้อเสนอจาก ศบค.ชุดเล็กขึ้นมาให้ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ลงมติ ได้แก่ 1.มีการอนุญาตเปิดโรงเรียนได้ทั้งหมด 2.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ให้เปิดปิดได้ตามคามเหมาะสมของพื้นที่
“โดยที่ประชุมมีข้อสรุปมติว่า ศูนย์การค้าให้ปิดทำการในเวลา 22.00 น. ร้านสะดวกเปิดได้ 24 ชั่วโมง 3.ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบันเทิง โรงเบียร์ ลานเบียร์ อนุญาตให้เปิดได้ โดยไม่เกิน 24.00 น. ทุกกรณี โดยให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ถึงเวลา 24.00 น. เท่านั้น และจัดพื้นที่ยืน/นั่งให้ห่างกัน 1 เมตร (ม.) โต๊ะห่างกัน 2 ม. หรือมีฉากกั้นสูง 1.50 ม. รวมถึงห้ามร่วมโต๊ะกับผู้อื่น จำกัดผู้ใช้บริการ 4 ตารางเมตร (ตร.ม.)/คน ลงทะเบียนแอพพลิเคชั่นไทยชนะ อย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการติดเชื้อในพื้นที่จะมีบทลงโทษ” โฆษก ศบค. กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 4.ร้านเกมและร้านอินเตอร์เน็ต การเปิดให้บริการตามกฎหมายคือ อายุน้อยกว่า 15 ปี จะต้องให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลา 14.00-20.00 น./วันหยุด 10.00-20.00 น. อายุ 15-18 ปี ให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงเวลา 14.00-22.00 น./วันหยุด 10.00-22.00 น. และอายุมากกว่า 18 ปี ให้บริการได้ทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง จำกัดผู้ใช้บริการ 4 ตร.ม./คน เว้นระยะให้บริการในระบบ 2 ชม./รอบพักทำความสะอาด 15 นาที 5.สถานประกอบกิจการ อาบอบนวด โรงน้ำชา จะต้องมีใบอนุญาตสถานบริการที่ถูกกฎหมาย โดยจะให้ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) ตรวจเข้มกับทุกแห่ง หากพบการติดเชื้อในสถานที่ จะต้องมีบทลงโทษ เคร่งครัดการใช้แอพพ์ฯ ไทยชนะ และป้องกันการกรอกข้อมูลเท็จ ต้องสวมหน้ากากอนามัย/อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าตลอดเวลา ยกเว้นขณะอาบน้ำ ตรวจหาเชื้อโควิด-19 กลุ่มพนักงานเป็นระยะ พร้อมการเฝ้าระวังโรคอื่น และที่สำคัญสูงมากคือ ห้ามมีการขายประเวณี ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องดำเนินการ “ผู้พิทักษ์ไทยชนะ” เจ้าหน้าที่ที่ลงไปตรวจสถานกิจการจะต้องมีการลงทะเบียน เพื่อลดการแอบอ้าง และการขยายเวลาการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาญาจักร ต่ออีก 1 เดือน โดยในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ เห็นชอบให้มีการเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เพื่อให้มีผลวันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป ทั้งนี้ที่ประชุมได้อนุมัติให้เปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้าเพิ่มเติม จำนวน 28 แห่ง ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ โดยที่เปิดเพิ่มมี 9 แห่ง ใน จ.หนองคาย จ.เลย จ.ตาก จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย จ.จันทบุรี จ.สงขลา จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.กาญจนบุรี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องมีการขยายเวลา พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่า มีความสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.อำนาจเชิงป้องกันโรคที่มากกว่าพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ คือ ด้านที่ 1 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ช่วยในการเดินทางเข้า-ออกราชอาณาจักรทุกช่องทาง ซึ่ง พ.ร.บ.โรคติดต่อจัดการไม่ได้ 2.การจัดทำระบบติดตามตัว กักตัวหรือการอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ และ 3.การควบคุมโรคที่ครอบคลุมทุกกิจการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้นที่ทำได้ทันเวลา ด้านที่ 2 เป็นภาพรวมของการบูรณการเอกภาพและประสิทธิภาพ
“การเข้าสู่มาตรการระยะที่ 5 มีความสำคัญต่อคนไทย เนื่องจากมีการผ่อนคลายกิจกรรมทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิม โดยใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิของประชาชน เพียงแต่ว่าต้องช่วยกันดูแลสุขภาพ เพื่อให้มีชีวิตปกติที่ยาวต่อไป โดยเป็นปกติแบบวิถีใหม่ และการแถลงข่าวในสัปดาห์นี้ยังคงไว้ที่วันจันทร์ พุธ ศุกร์ แต่หากหลังจากวันที่ 1 กรกฎาคม ที่มีการเริ่มมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 5 สถานการณ์ดีขึ้นยาวนานไปได้ สัปดาห์ถัดไปจะลดลงเหลือวันจันทร์ และพฤหัสบดี จะมีการนำข้อมูลที่ประชุมมาเสนอเป็นระยะ ค่อยๆ ผ่อนคลายกันไปให้เหมือนว่าเราอยู่ในบ้านเมืองที่เป็นสถานการณ์ปกติ ถึงแม้จะมี พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็ไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว