ศบค.จ่อผ่อนคลาย “สถานศึกษา” ทั่วปท.เปิดเรียนตามปกติ มอบ สธ.-ศธ.ถกแนวทางป้องกัน

ศบค.จ่อผ่อนคลาย “สถานศึกษา” ทั่วปท.เปิดเรียนตามปกติ มอบ สธ.-ศธ.ถกแนวทางป้องกัน 

เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สำหรับแนวทางมาตรการผ่อนคลายการใช้รถขนส่งสาธารณะ ในการประชุม ศบค.เช้าวันนี้ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า มาตรการเว้นระยะห่างยังคงใช้อยู่ และได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี ทั้งในการเดินทาง การจองตั๋วล่วงหน้า พนักงาน/ผู้ประจำรถ/พนักงานขับรถ ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

 

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ส่วนการกำกับดูแลจะมีการประเมินที่สถานีขนส่งผู้โดยสาร และจุดเช็กพ้อยท์ที่กระจายไปใน 99 จุด ทุกๆ 90 กิโลเมตร ตลอด 24 ชั่วโมง จะตรวจสอบในการสวมหน้ากากผ้า/อนามัย การเตรียมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การเว้นระยะห่าง การลงทะเบียนใช้งาน มีการประเมินผลช่วงวันที่ 28 มิถุนายน – วันที่ 19 กรกฎาคม พบว่า สวมหน้ากากผ้า/อนามัย ร้อยละ 99.7 ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 98.22 เว้นระยะห่าง ร้อยละ 99.97 การลงทะเบียนคิวอาร์โค้ด ร้อยละ 98.74

“เป็นข้อมูลจากภาครัฐที่ประเมินขึ้นมา และอยากให้มีการสะท้อนภาพต่างๆ ไปว่า ประชาชนที่ใช้บริการสามารถเป็นผู้ให้การประเมินได้ว่าตรงอย่างที่ว่าหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจมากขึ้น อย่างที่บอกว่า ประชาชนคือ คนใช้บริการ เอกชนคือ ผู้ให้บริการ ภาครัฐคือ ผู้ประเมิน กำกับการบริการ ฉะนั้นข้อมูล 3 ส่วนนี้ความสำคัญ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

Advertisement

โฆษก ศบค.กล่าวแนวทางมาตรการผ่อนคลายมาตรการของสถานศึกษา ว่า ช่วงนี้เปิดโรงเรียนมาร่วม 1 เดือน ซึ่งช่วงแรกกังวลใจว่า การไปโรงเรียนของเด็กที่มีการเล่นใกล้ชิดกันจะมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยขณะนี้ ศบค.ชุดเล็กให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประเมินรายงานสถานการณ์พบว่า ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยังไม่มีการติดเชื้อในสถานศึกษา โดยมีข้อมูลว่า เด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่ค่อนข้างต่ำ และรายงานในประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสมในกลุ่มนี้เพียงร้อยละ 1-6 แบ่งกลุ่ม 0-9 ปี 62 ราย ร้อยละ 1.9 และกลุ่มอายุ 10-19 ปี 126 ราย ร้อยละ 3.87

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ยังไม่มีการรายงานติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ในกลุ่มนี้ โดยนักวิชาการให้ข้อสังเกตว่า ที่เด็กติดเชื้อน้อยกว่า เกิดจากสาเหตุของตัวรับเชื้อในโพรงจมูกของเด็กน้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่สิ่งที่กังวลคือ สามารถเป็นผู้นำพาหะเชื้อกลับเข้าสู่ในบ้านได้ โดยผู้ใหญ่มีตัวรับเชื้อที่มากกว่า อาจจะมีการติดเชื้อได้ง่ายกว่า

Advertisement

“ดังนั้น จึงมีการตั้งโจทย์ว่า จะมีมาตรการผ่อนคลายที่เร็วขึ้นได้หรือไม่ โดยขณะนี้มีโรงเรียน 4,528 แห่ง ที่จะต้องใช้วิธีการสลับเวลาเรียน เนื่องจากโรงเรียนมีขนาดเล็ก ไม่เพียงพอต่อการจัดห้องเรียน มีผลกระทบหลายด้าน เช่น การเรียนรู้ของเด็กถดถอยลง ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม การเหลื่อมล้ำ การเข้าถึงทรัพยากร การโภชนาการ เป็นต้น ดังนั้น สธ.และ ศธ. มีการหารือกันเพื่อให้ผ่อนคลายเด็กให้กลับไปเรียนได้อย่างปกติ โดยจะต้องมีมาตรการเสริมที่เข้มขึ้น เช่น จัดห้องเรียนให้มีระยะห่างกันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ห้องแอร์ให้เปิดประตูหน้าต่างในช่วงที่ไม่มีการใช้ห้องเรียน และให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อำเภอ และตำบล ซึ่งทุกระดับจะต้องเข้าไปดูแลเด็ก กำกับดูแลเป็นลำดับขั้น” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กรมอนามัย สธ.เข้าไปตรวจประเมินและติดตามภายหลังการเปิดภาคเรียน และแนวปฏิบัติของสถานการณ์ความเสี่ยงของการติดโรคในมาตรการผ่อนคลายของสถานศึกษา พบว่า สถานศึกษา จำนวน 25,140 แห่ง มีมาตรการความปลอดภัยการลดการแพร่เชื้อโรคสูงถึงร้อยละ 99.47 แต่มีเพียง 132 แห่งที่ยังปฏิบัติไม่ครบ และได้รับคำชี้แนะเพื่อปรับปรุงแล้ว รายงานการป่วยของเด็กจากทุกแห่ง พบว่า 687 ราย ป่วยเป็นไข้หวัด ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจไม่ได้กลิ่น หายใจหอบ แต่ไม่ใช่การติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อย เนื่องจากมีมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เด็กป่วยน้อยลง และรายงานแผนรองรับ พบว่า ร้อยละ 96.25 มีแผนรองรับและอีก 3.75 ไม่มีแผนรองรับ จึงต้องมีความจำเป็นลงไปเพิ่มเติมส่วนนี้ให้มากขึ้น หากเกิดกรณีที่เด็กติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นเพียง 1 ราย ทางโรงเรียนจะต้องมีแผนรองรับว่า จะดำเนินการปิดสถานศึกษาอย่างไร เช่น ปิดโรงเรียน ปิดชั้นเรียน หรือ ปิดเฉพาะห้องเรียน

“กรณีของ จ.ระยอง มีการติดเชื้อที่ไม่มีการเกิดขึ้นที่โรงเรียน แต่มีการปิดโรงเรียนไปกว่า 200 แห่ง เป็นสิ่งที่ ศบค.นำมาพิจารณาว่าใช่หรือไม่ แต่ขณะที่หากมีการติดเชื้อในโรงเรียนขึ้นมา จะต้องมีมาตรการอย่างไร ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ศบค.นำมาพิจารณาเพื่อลดผลกระทบต่อเด็กมากที่สุด หากตื่นตระหนกมาก เช่น มีผู้ติดเชื้อมาเดินในห้าง และเห็นเด็กของโรงเรียนตัวเองมาเดิน ก็ทำการปิดโรงเรียนไปกว่า 200 แห่ง ก็มองว่ามากเกินไป ต้องมีการตั้งแผนเผชิญเหตุ หากติดเชื้อในโรงเรียนจะต้องไม่ใช่แบบนี้แน่นอน ต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อให้การเรียนการสอนไม่สะดุดและการควบคุมโรคเป็นไปได้ด้วยดี” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image