สธ.ชี้สถานการณ์โลกรุนแรง ทุก 5 วัน ติดเชื้อ “โควิด-19” เฉียดล้านคน

สธ.ชี้สถานการณ์โลกรุนแรง ทุก 5 วัน ติดเชื้อ “โควิด-19” เฉียดล้านคน 

เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวระหว่างแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า สรุปสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย จากการติดตามการระบาดในประเทศ พบว่าผู้ป่วยในประเทศส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยหนุ่มสาว อายุประมาณ 20-49 ปี เป็นวัยทำงาน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยมีอัตราป่วยตายที่ค่อนข้างต่ำ และผู้ชายมีอัตราป่วยมากกว่าผู้หญิงเล็กน้อย พื้นที่แพร่ระบาดอยู่ในกทม. ปริมณฑล เป็นส่วนใหญ่ ภาคใต้อยู่ที่ จ.ภูเก็ต และ 4 จังหวัดชายใต้ภาคใต้ คือ นราธิวาส สงขลา ยะลา ปัตตานี ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี

“การแพร่ระบาดในไทยดีขึ้นเป็นลำดับ จากวันที่เริ่มพบผู้ป่วยช่วงต้นเดือนมกราคม พบผู้ป่วยเป็นกลุ่มก้อนในเดือนมีนาคม หลังจากนั้นใช้มาตรการทางสาธารณสุขและมาตรการทางสังคม ทั้งภาคสมัครใจและบังคับ ทำให้เรามีสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับในเดือนมีนาคมและเมษายน มาจนเราพบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อในประเทศรายสุดท้ายเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม หลังจากนั้นก็ไม่พบผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว และระยะหลังเป็นการป่วยในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศและเข้าพักในสถานกักกันโรคที่รัฐจัดให้เป็นหลัก สถานการณ์ของไทยค่อนข้างดี มีจำนวนผู้ป่วยส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีความเสี่ยงในประเทศ” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในต่างประเทศ ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วันละ 250,000 ราย ดังนั้นทุก 5 วัน ทั่วโลกจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็วมาก ในภูมิภาคเอเชียมีหลายประเทศที่มีการแพร่ระบาดค่อนข้างมาก โดยประเทศอินเดียมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในภูมิภาค ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่า 50,000 รายต่อวัน ตามมาด้วยปากีสถาน บังคลาเทศ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

Advertisement

“บางคนอาจมองว่า อัตราป่วยตายเมื่อเทียบกับอัตราผู้ป่วยใหม่ ก็ทำให้เข้าใจว่าอัตราป่วยตายลดลง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ แต่เป็น เพราะว่าอัตราการป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปเร็วกว่าอัตราป่วยแล้วเสียชีวิต ฉะนั้นสถานการณ์ในปัจจุบันเราไม่สรุปว่าอัตราป่วยตายของโรคต่ำลงหรือมีอาการรุนแรงน้อยลง เนื่องจากจะต้องป่วย 2 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน จึงจะเสียชีวิต ดังนั้นอัตราป่วยตายจะไล่ตามตัวเลขจำนวนการป่วย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่น่าสนใจในต่างประเทศ พบว่า หลังจากที่ประเทศจีนในเมืองปักกิ่งและอื่นๆ หลังจากไม่พบผู้ป่วยในประเทศเป็นระยะนาน ก็กลับมาพบป่วยใหม่อีกครั้ง โดยครั้งนี้พบเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศเวียดนาม เมืองดานัง หลังจากไม่พบผู้ป่วยมา 3 เดือนเศษ ก็กลับมาพบผู้ป่วยอีกครั้งเช่นกัน และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว ในหลักสิบรายต่อวัน ทางการเวียดนามจึงต้องออกมาตรการต่างๆ เช่น มาตรการสังคม ให้นักท่องเที่ยวที่มาเมืองดานังกลับออกไปและเมื่อกลับไปถึงภูมิลำเนาของตนเอง ให้กักกันตนเอง สังเกตอาการ 14 วัน และเร่งหาสาเหตุของการกลับมาระบาด หากพบสาเหตุแล้วก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันโรคของไทยได้

“ในช่วงนี้ที่เราไม่พบผู้ป่วย ภาครัฐกำลังดำเนินการวางแผนรับมือ หากเราจะต้องกลับมาเจอผู้ป่วยรายใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เราตอบโต้ ตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม จำกัดวงการแพร่โรคให้ได้ดีที่สุด ไม่ให้มีการแพร่ระบาดในประเทศ ไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคมหรือเศรษฐกิจมากเกินไป ซึ่งเป็นเป้าหมายของการดำเนินการ การไม่เจอผู้ป่วยในประเทศไทยเลยไม่ใช่เป้าหมาย” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

Advertisement

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการที่จำเป็นต้องดำเนินจะต้องเป็นมาตรการทั้งระดับบุคคลและองค์กร มาตรการบุคคลที่เน้นย้ำคือ ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น เลี่ยงสถานที่แออัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ไม่รวมตัวกันโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักในการพบผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูง รวมถึงการรับประทานอาหารร้อน ใช้ช้อนกลาง นอกจากนี้คือ มาตรการระดับองค์กร ที่ต้องสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทำงานที่บ้านให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ร่วมกับมาตรการเหลื่อมเวลาทำงาน ซึ่งองค์กรควรจะปรับตัวให้มาตรการนี้เป็นเรื่องปกติเป็นมาฐานการทำงาน

“ภาคราชการ และ สธ. ยังไม่มีการกลับมาทำงาน 100% เมื่อไรก็ตามที่เราเจอ หากเราไม่เตรียมความพร้อมเรื่องนี้ หากมีเหตุการณ์ขึ้นมา เราอาจจะไม่มีความพร้อมเรื่องนี้และอาจก่อให้เกิดความเสียหาย ดังนั้นจึงยังต้องคงมาตรการเหล่านี้ไว้ ร่วมถึงการส่งเสริมให้ทำธุรกรรมออนไบน์ ลดความแออัดในสถานที่ สัมผัสใกล้ชิดกันน้อยที่สุด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ทั้งนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการทางสาธารณสุข 4 หลักคือ ป้องกัน ค้นหา ควบคุม และรักษา โดยขณะนี้มาตรการที่ดีที่สุดคือการป้องกันและค้นหาผู้ป่วย โดยกลุ้มที่ต้องค้นหาคือ 1.ผู้ป่วยอาการปอดอักเสบทุกรายควรได้รับการตรวจคัดกรอง 2.บุคลากรทางการแพทย์ ที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ และ 3.ประชาชนที่มีความเสี่ยง คือ ผู้ที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ โดยสถานพยาบาลทุกแห่งยังต้องมีความพร้อมรับมือกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 และหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ และระบบการสอบสวนโรค ทาง สธ.ได้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้วยการมีนโยบายเพิ่มจำนวนหน่วยสอบสวนโรคให้มากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image