สธ.ชี้ไทยยังมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ปท. ย้ำต้องจำกัดไม่ให้ระบาดวงกว้าง

สธ.ชี้ไทยยังมีโอกาสพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน ปท. ย้ำต้องจำกัดไม่ให้ระบาดวงกว้าง

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า วันนี้สถานการณ์ในประเทศไทยค่อนข้างดีมาก โดยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศไทยกว่า 80 วัน อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของต่างประเทศ ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้เลย

“ส่วนกรณีของผู้ติดเชื้อชายชาวมาเลเซีย อายุ 46 ปี ที่มีประวัติเดินทางออกจากประเทศไทยนั้น สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรค ติดตามตรวจหาเชื้อผู้ใกล้ชิดกับผู้ป่วยขณะอยู่ในประเทศไทย จำนวน 11 ราย ผลตรวจไม่พบการติดเชื้อ โดยจากประวัติจะพบว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าว ระหว่างอยู่ในประเทศไทยไม่มีอาการและยังไม่มีการติดเชื้อ ดังนั้นจึง มีโอกาสน้อยมากที่ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยจะมีการติดเชื้อ เนื่องจากตรวจพบการติดเชื้อขณะอยู่ในประเทศมาเลเซีย” รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า ข้อมูลเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พบแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย เมื่อตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทุกรายให้ผลเป็นลบทุกราย ทั้งนี้ จะต้องกักกันตัวทุกรายเพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจนครบ 14 วัน และว่า สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศ อัตราการเสียชีวิตของโลกต่อประชากร 1 ล้านคน พบว่า ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีอัตราที่ค่อนข้างสูง และในประเทศไทยอัตราคงที่ ส่วนเวียดนาม การระบาดระลอกแรกนั้นมีผู้ติดเชื้อเพียง 400 กว่าราย แต่การระบาดระลอกที่ 2 เริ่มมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น และสถานการณ์รุนแรงกกว่าระลอกแรก และสถานการณ์โลก พบการระบาดโควิด-19 ในโรงเรียน แต่ขณะนี้เริ่มมีการระบาดในโรงเรียนของสหรัฐอเมริกา ที่มีการเปิดโรงเรียนเพียงไม่นาน แต่พบการป่วยในเด็ก 199 ราย ครู 245 ราย ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านสุขภาพและสังคม และมีเด็กที่ต้องเข้ากักตัวสังเกตอาการกว่า 2,000 ราย ครู 589 ราย

“นักวิชาการบางคนเชื่อว่า ยังมีผู้ป่วยหลงอยู่ในประเทศไทย แต่หากมีก็น่าจะน้อยมาก เพราะเราไม่พบผู้ติดเชื้อกว่า 80 วัน และมีการตรวจหาเชื้อในประเทศสัปดาห์ละกว่า 20,000 ราย แต่ยังไม่พบเชื้อ ดังนั้น เราจะต้องจัดการความเสี่ยงของผู้เดินเข้ามาจากต่างประเทศ อย่าให้มีจุดผิดพลาด รวมถึงการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น การประกอบศาสนกิจ การรวมตัวในโรงเรียน แม้ว่าความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แต่การรวมตัวกันก็จะเพิ่มความเสี่ยงขึ้น” นพ.ธนรักษ์กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าประเทศไทยมีโอกาสพบผู้ป่วยรายใหม่ แต่ต่างจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ อาจพบผู้ป่วยรายใหม่ได้ แต่อย่าให้เกิดเป็นการระบาดระลอกใหม่ ปัจจัยสำคัญคือ 1.ตัวเชื้อ ที่มีบางรายงานระบุว่าอาจมีความรุนแรงขึ้น แต่ยังไม่มีการยืนยันที่ชัดเจน 2.ระบบการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งจะต้องทีความพร้อมรับมือ และ 3.ความร่วมมือของประชาชนทุกคน หากยังเข้มแข็ง ให้ความร่วมมือเต็มที่ โอกาสจะพบการระบาดระลอกที่ 2 ก็ไม่สูงมากนัก

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image