หมอยง มั่นใจปลายปีนี้ ได้เห็นวัคซีนป้องกันโควิด-19

หมอยง มั่นใจปลายปีนี้ ได้เห็นวัคซีนป้องกันโควิด-19

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า แม้ในประเทศไทยจะไม่มีการระบาดภายในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่จนถึงขณะนี้สถานการณ์ทั่วโลกยังไม่น่าไว้วางใจ โดยทุก 4 วัน จะมีผู้ป่วยเฉลี่ย 1 ล้านคน และความหวังของทั่วโลกก็ยังอยู่ที่วัคซีน

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า เชื่อว่าภายในเวลาไม่เกินปลายปีนี้ เราจะได้เห็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แน่นอน เนื่องจากขณะนี้ผู้ผลิตวัคซีนไม่ต่ำกว่า 6 ราย กำลังอยู่ในการทดลองระยะที่ 3

“ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่า อย่างน้อยต้องมี 2-3 ราย ที่จะประสบความสำเร็จจากการทดลองวัคซีนดังกล่าว และนำออกมาใช้” ศ.นพ.ยง กล่าวและว่า โรคนี้เปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน ต้องผ่อนหนักผ่อนเบา ทุกคนต้องอยู่ได้ ถึงแม้จะพบผู้ป่วยในประเทศแต่อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ก็ต้องยอมรับ เพื่อให้ทุกคนทำมาหากิน ดำรงชีวิตไปได้

ส่วนด้านความกังวลว่าจะเกิดการระบาดระลอกที่ 2 นั้น ศ.นพ.ยง กล่าวว่า การจะเกิดหรือไม่ เปรียบได้ว่า ขณะนี้เราสร้างกำแพงไว้ล้อมรอบประเทศ เราวิดน้ำในบ้านออกไปจนแห้ง แต่หากมีน้ำเข้ามา ก็ต้องคอยกักกัน แต่กำแพงของประเทศไทยกว้างไกลมาก ไม่ใช่แค่เพียงสนามบิน ยังมีชายแดนธรรมชาติ ทะเล จึงไม่ทราบได้ว่ามีการรั่วเข้ามาหรือไม่ แต่ถ้ามีมาตรการที่ดี หากมีน้ำรั่วเข้ามาก็จะสามารถควบคุมปริมาณรั่ว ไม่ให้เกิดน้ำท่วมได้ เช่นเดียวกับการมีผู้ป่วยในประเทศ แต่ต้องช่วยกันไม่ให้ระบาด โดยประเทศเวียดนามและนิวซีแลนด์ ที่ไม่พบผู้ป่วยระยะหนึ่ง ก็กลับมาพบการระบาดซ้ำอีกครั้งได้ ข้อสังเกตคือ โควิด-19 จะเกิดในผู้ใหญ่ และเริ่มระบาดในเขตเมืองกระจายไปยังเมืองเล็กและชนบทซึ่งควบคุมได้ยากขึ้น ต่อมาเป็นการติดเชื้อจากผู้ใหญ่สู่เด็ก และเป็นเด็กแพร่เชื้อสู่เด็กด้วยกัน

Advertisement

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า กรณีการรายงานข่าวว่า การระบาดระลอก 2 จะมีกลายพันธ์ุ อธิบายได้ว่า สิ่งมีชีวิตมีวิวัฒนาการ จึงใช้คำว่ามีการเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการ “ไวรัสโควิด-19 แบ่งตัวเร็วมาก” ก็จะมีวิวัฒนาการเช่นกัน เริ่มต้นจากพบที่ประเทศจีน มีสายพันธุ์ S, L และที่พบบ่อยในไทยคือสายพันธุ์ S แต่ไม่ระบุว่ามีความรุนแรงหรือไม่ หลังจากนั้นเมื่อมาอยู่ในไทยก็มีการแบ่งตัวเป็นสายพันธุ์ T ที่มาจากการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนเพียง 1 ตัว ของไวรัสตัวเดิม แต่ไม่ได้มีความรุนแรงขึ้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัคซีน ส่วนในฝั่งของยุโรปเป็นสายพันธุ์ L มีวิวัฒนาการเป็นสายพันธุ์ G เช่น สายพันธุ์ D614G และมีการแพร่เชื้อที่เร็วมาก ดังนั้น จึงมีจำนวนประชากรของเชื้อมาก แต่ไม่ได้ระบุว่ามีความรุนแรงขึ้น หรือไม่สามารถใช้วัคซีนได้

“การตั้งชื่อสายพันธุ์ไวรัส เป็นการระบุตัวเชื้อไวรัสว่ามีต้นตอ มีที่มาจากที่ใด ช่วยด้านไวรัสวิทยามากกว่าการระบุว่าสายพัธุ์ใดมีความรุนแรงกว่ากัน และผู้ป่วยที่อยู่ในสถานกักกันโรคฯ เมื่อถอดรหัสพันธุกรรมแล้วพบว่า เกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ G แต่ในการระบาดภายในกระเทศไทยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ S หากเรากวาดล้างไวรัสในประเทศหมดแล้ว ดังนั้น การระบาดระลอกที่สองเกิดขึ้น จะสามารถหาได้ว่า กลุ่มการระบาดที่เกิดขึ้นมีที่มาจากแหล่งเดียวกันหรือไหม เช่น หากมีการระบาดที่ จ.พระนครศรีอยุธยา กับ จ.ภูเก็ต มีที่มาต้นตอเดียวกันหรือไม่ หากพบว่าเป็นคนละชนิดกัน ก็จะทำให้รู้ว่ามีการระบาดในพื้นที่อยู่กี่จุด” ศ.นพ.ยง กล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวว่า หากเกิดระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศ คงไม่ใช่สายพันธุ์ S เหมือนเดิม เพราะว่าในไทยไม่พบสายพันธุ์ S มากกว่า 80 วัน แต่หากเป็นสายพันธุ์ S ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าไวรัสมีความสามารถอยู่ได้นานถึง 80 วัน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image