ศบค.จัด 5สี “ประเภทกีฬา” อนุญาตกองเชียร์ นั่งในสนาม จำกัดปริมาณตามพื้นที่

ศบค.จัด 5 สี “ประเภทกีฬา” อนุญาตกองเชียร์นั่งในสนาม จำกัดปริมาณตามพื้นที่

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงถึงแนวทางปฏิบัติกรณีผ่อนคลายมาตรการ อนุญาตให้มีการแข่งขันกีฬาโดยมีผู้ชมในสนาม ว่า เรื่องกีฬาเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพและเศรษฐกิจ โดยได้แบ่งชนิดของกีฬาออกเป็นกีฬากลางแจ้ง และกีฬาในร่ม และแบ่งย่อยเป็นชนิดกีฬาที่มีและไม่มีการตะโกนเชียร์ แบ่งเป็น

1.กีฬากลางแจ้ง ชนิดที่ต้องมีการตะโกนเชียร์ เช่น ฟุตบอล รักบี้ฟุตบอล ฮอกกี้ วอลเลย์บอลชายหาด แข่งรถยนต์ แข่งรถจักรยานยนต์ เรือเร็ว หรือปั่นจักรยาน ชนิดที่ไม่มีการตะโกนเชียร์ เช่น เทนนิส กอล์ฟ ยิงธนู ปืน เป้าบิน เปตอง วู้ดบอล ลอนโบวล์ส

2.กีฬาในร่ม ชนิดที่มีการตะโกนเชียร์ เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล มวย เทควันโด ยูโด ฟุตซอล แฮนด์บอล แบดมินตัน หรือตะกร้อ ชนิดที่ไม่มีการตะโกนเชียร์ เช่น สนุกเกอร์ หมากรุก ยิมนาสติก ฟันดาบ ยกน้ำหนัก โบว์ลิ่ง ลีลาส

“นำมาแบ่งเป็น 5 กลุ่มสี ได้แก่ ขาว เขียว เหลือง ส้ม และแดง ซึ่งการกำหนดจะต้องเชื่อมโยงกับปริมาณความจุของสนามแข่ง เช่น สนามแข่งใหญ่ ที่มีพื้นที่เยอะ สามารถเว้นระยะห่างและเข้าชมได้หลักพันคน โดยตอนแรกเราล็อกจำนวนตัวเลขไว้ แต่ตอนหลังไม่ได้ล็อกจำนวน แล้วให้ดูที่อัตราร้อยละ เริ่มตั้งแต่ 15-70% ซึ่งมีรายละเอียดกำหนดไว้เป็นแนวปฏิบัติ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Advertisement

ส่วนกรณีที่ประชาชนมีความกังวลกลุ่มผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือกลุ่มนักธุรกิจชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะนี้ต้องบริหารอารมณ์คนไทยด้วยกัน หลังจากที่ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อในประเทศมาระยะเวลานาน พบว่ามีคนอยู่ 2 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ผู้ที่มีความกังวลอยู่ ได้แก่ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีความสนใจด้านสุขภาพ มีเกิดความกังวลในการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ว่าจะเกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ประเภทที่ 2 ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เช่น เจ้าของโรงแรม ผู้ค้าริมถนน ก็มีความต้องการให้ผ่อนคลายมาตรการโดยเร็ว เพื่อกลับสู่สภาพปกติ

“เราต้องบริหารอารมณ์ของคนสองกลุ่มนี้ เอียงหรือตึงเกินไป หย่อนเกินไปฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ก็จะมีการกระทบ มีการต่อว่ากันขึ้นมาแน่นอน ต้องประคองทั้งสองฝั่ง ทั้งการควบคุมโรคและเศรษฐกิจให้ไปด้วยกัน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ก็ได้พูดถึงว่า จะทำอย่างไรที่เราจะต้องรักษาสถานการณ์ อารมณ์ โดยที่สุดเรามีคำตอบว่า ความไว้วางใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ชุดข้อมูลมีความสำคัญอย่างยิ่ง รวมถึงสร้างการรับรู้ให้เท่ากัน เพื่อเข้าใจซึ่งกันและกัน หากเกิดเหตุการณ์ระบาดขึ้นมา ไม่มีฝ่ายถูกหรือผิด แน่นอนที่โลกความเป็นจริง ไม่สามารถยืนระยะที่เป็นศูนย์เช่นนี้ไปได้ตลอด จะต้องมีการติดเชื้อขึ้นและเราต้องอยู่กันไปแบบนี้” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

 

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image