เล็งเปิดสถานกักกันโควิด-19 รูปแบบวิลล่า เพิ่มบริการนวด-สปา

เล็งเปิดสถานกักกันโควิด-19 รูปแบบวิลล่า เพิ่มบริการนวด-สปา 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการจัดการและดูแลสถานกักกันโรคในสถานพยาบาล (Alternative Hospital Quarantine: AHQ) ที่เปิดให้บริการสำหรับชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ว่า สืบเนื่องจากที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) มีมติเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยสามารถเดินทางเข้ามารักษาโรคประจำตัวในราชอาณาจักรได้ มีผู้ติดตามไม่เกิน 3 คน โดยไม่ใช่การรักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 และกำหนดให้อยู่ในสถานกักกันโรคเป็นโรงพยาบาล (รพ.) เดียวกัน ไม่ต่ำกว่า 14 วัน

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สบส.ร่วมกับสมาคม โรงพยาบาลเอกชน สมาคมคลินิก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดแนวทางระบบกักกันโรคให้ปลอดภัย ได้แก่ 1.ผู้เดินทางจะต้องมีผลตรวจว่าไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยการตรวจวิธี RT-PCR จากประเทศต้นทางภายใน 72 ชั่วโมง ก่อนเดินทางเข้าไทย 2.ต้องนัดหมายกับสถานพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษาโรค 3.เอกสารอื่นๆ เช่น หลักฐานรับรองการเงิน กรมธรรม์ประกันสุขภาพกรณีการติดเชื้อโควิด-19 ประสานงานกับสถานทูตไทยในต่างประเทศ เป็นต้น เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย รพ.ที่รับรักษาจะต้องจัดรถไปรับโดยตรง ลงทะเบียนในระบบติดตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด และเมื่อถึง รพ. จะต้องส่งตัวเข้าแผนกรักษาที่เป็นตึกแยกเฉพาะเพื่อรักษาโรคประจำตัวต่อไป

“ในระหว่างรักษาจะมีการตรวจโควิด-19 อีก 3 ครั้ง หากโรคประจำตัวหายก่อน 14 วัน แต่จะต้องอยู่กักกันโรคต่อใน รพ.จนครบ 14 วัน ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อครบ 14 วัน รพ.จะออกใบรับรองให้ และติดตามจนกว่าจะเดินทางกลับ เพื่อตรวจหาโควิด-19 อีกครั้งใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางกลับประเทศต้นทาง โดยตั้งแต่การประกาศของ ศบค. มีผู้เดินทางเข้ามาในโปรแกรม Medical and Wellness Program เข้ามาสู่เอเอชคิว รวม 166 ราย เป็นผู้ป่วย 90 ราย ผู้ติดตาม 76 ราย แต่มีผู้ที่ยื่นความจำนงเข้ามาในไทยทั้งหมด 423 ราย ผู้ติดตาม 250 ราย รวม 673 ราย โดยจะทยอยเข้ามา” นพ.ธเรศ กล่าว

นพ.ธเรศ กล่าวถึงหลักการออกแบบระบบ ว่า คือความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน โดยขณะนี้มี รพ.ที่เข้าร่วมในระบบ 98 แห่ง คลินิก 26 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นการรักษามีบุตรยาก ทันตกรรม ความงามและทั่วไป ทั้งนี้ การผ่อนปรนนี้เพื่อ 1.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 2.เพื่อมนุษยธรรม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่รักษาประจำต่อเนื่องกับสถานพยาบาลนั้น และการกักกันโรคในสถานพยาบาล หากผู้ใดละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ผู้อำนวยการ รพ.และผู้ปฏิบัติงานจะต้องรับผิดชอบ และผู้ละเมิดจะบทลงโทษตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.สถานพยาบาล

Advertisement

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีรายงานผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศกาตาร์ เข้ามาเพื่อรักษาโรคมะเร็งตับ และเข้ากักกันโรคในเอเอชคิว มีรายละเอียดอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เดินทางเข้ามาโดยมีผู้ติดตาม การตรวจจากประเทศต้นทางไม่มีการติดเชื้อโควิด-19 แต่ด้วยระบบการจัดสถานกักกันโรคของไทยที่เป็นระบบปิด 100% และการตรวจหาเชื้อซ้ำ พบว่ามีเชื้อโควิด-19 จึงตรวจหาเชื้อผู้ติดตาม แต่ไม่พบเชื้อ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กองระบาดวิทยาดำเนินการสอบสวนโรคและตรวจสอบมาตรฐานการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของประเทศต้นทาง เพื่อพิจารณาทบทวนประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

เมื่อถามว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่ให้ผลตรวจครั้งแรกกับครั้งอื่นๆ ที่ไม่ตรงกัน จะมีมาตรการกำกับอย่างไร นพ.ธเรศ กล่าวว่า ผลตรวจที่ออกมาไม่ใช่ไม่ตรงกันทั้งหมด แต่อาจเกิดจากระยะฟักตัวของโรค ที่ในช่วงแรกมีเชื้อน้อย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผลไม่ตรงกัน จะต้องมีห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ยืนยันอีกครั้ง เช่น แล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมถึงใช้ระบบกักกันโรคในรูปแบบของผู้ป่วยยืนยันทันทีเพื่อความปลอดภัย

เมื่อถามว่าเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น จะมีการปรับรูปแบบสถานกักกันโรคในเอเอชคิวหรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า โปรแกรม Medical and Wellness Program อาจจะมีการกักกันโรคของกลุ่มผู้เดินทางเข้ามาดูแลด้านสุขภาพ (Wellness) ในสถานที่เฉพาะที่เป็นลักษณะวิลล่า หรือ การดูแลส่งเสริมสุขภาพ มีการจัดบริการสปา นวด ขณะนี้ สบส.ได้หารือกับสมาพันธ์สปา สมาคมสปาไทยและภาคเอกชน ในการกำหนดรูปแบบเพื่อความปลอดภัย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image