ไทยไม่พบเชื้อโควิด-19 ในปท. 3 เดือน สธ.แนะเที่ยวแบบปลอดโรคช่วงหยุด 4 วัน

ไทยไม่พบเชื้อโควิด-19 ในปท. 3 เดือน สธ.แนะเที่ยวแบบปลอดโรคช่วงหยุด 4 วัน

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า ขณะนี้ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อภายในประเทศเป็นเวลา 3 เดือน แล้ว แต่ทั่วโลกยังมีการระบาดที่รุนแรง โดยประเทศอินเดียพบป่วยรายใหม่สูงที่สุด ข้อมูลเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พบผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 60,000 ราย สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น แต่อัตราป่วยต่อจำนวนประชากรยังไม่สูง

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ขณะที่สหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยรายใหม่ เฉลี่ยวันละ 32,000 ราย สถานการณ์ค่อนข้างดีขึ้น ส่วนประเทศโซนอเมริกาใต้ ได้แก่ บราซิล เปรู โคลัมเบีย ที่อาจจะมีจำนวนผู้ป่วยไม่สูงมากแต่เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในประเทศ จึงเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง และประเทศสวีเดน อังกฤษ มีนโยบายผ่อนปรนคล้ายกันที่ค่อนข้างเปิดกว้างเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าได้ แต่จำนวนอัตราป่วยเริ่มลดลงแม้ไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ สะท้อนให้เห็นว่าการล็อกดาวน์ทำให้การแพร่ระบาดชะลอได้เร็ว แต่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อทั้งในระดับบุคคล และองค์กร เป็นสิ่งที่ช่วยชะลอการแพร่ระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สถานการณ์กลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า ประเทศสิงคโปร์ มีอัตราป่วยสูง เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร แต่มีสถานการณ์ที่ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับอัตราป่วยของโลก พบว่าฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว และประเทศไทยสถานการณ์คงที่มาระยะหนึ่งแล้ว ส่วนเวียดนามที่มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยระลอกใหม่ในช่วงเดือนกรกฎาคม ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยรายใหม่เริ่มชะลอตัวลงค่อนข้างมาก หากดำเนินป้องกันโรคเป็นไปด้วยดี คาดว่าอีกไม่นานสถานการณ์จะลดลงเป็นศูนย์อีกครั้ง

Advertisement

“สัปดาห์หน้าจะมีการหยุดงาน 4 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีคำแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวในประเทศไทย สถานการณ์ค่อนข้างดี อยากเชิญชวนให้ออกมาเที่ยวอย่างปลอดภัย ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ผ่านมามากที่สุด” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

รองอธิบดี กล่าวว่า มาตรการของสถานประกอบการ คือ 1.ติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อย่างใกล้ชิดเป็นระยะ จากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ 2.จัดระบบคัดกรองผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยผู้ให้บริการจะต้องให้พนักงานที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ หยุดงานทันที 3.บันทึกการเข้า-ออกสถานที่ 4.พนักงานให้บริการและผู้รับบริการ ต้องสวมหน้ากากป้องกันโรคตลอดเวลา 5.กำหนดจำนวนผู้ใช้บริการ เพื่อลดความแออัดในอัตรา 10 ตารางเมตรต่อคน 6.รักษาระยะห่าง อย่างน้อย 2 เมตร จัดระบบคิว 7.บริการจุดล้างมือ 8.เพิ่มรอบความถี่การทำความสะอาด และ 9.จัดระบบระบายอากาศให้ถ่ายเท

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า มาตรการของผู้เข้าใช้บริการ คือ 1.ติดตามสถานการณ์การระบาด 2.เลือกบริษัทนำเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวและร้านค้าที่มีมาตรการป้องกันโรคได้มาตรฐาน หรือที่กรมอนามัยกำหนดมาตรฐาน SHA 3.วัดไข้และสังเกตสุขภาพของตนเองทุกวัน 4.หากมีอุณหภูมิร่างกาย 37.5 องศาเซสเซียสขึ้นไป ควรหยุดอยู่บ้าน เลี่ยงการใกล้ชิดผู้อื่น 5.หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด 6.บันทึกการเข้า-ออกสถานที่ 7.สวมหน้ากากป้องกันโรคตลอดเวลา 8.หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ 9.เลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้า 10.รับประทานอาหารปรุงสุก ร้อนและใหม่ และ 11.ใช้เทคโนโลยีลดความเสี่ยงในการท่องเที่ยว เช่น การจองคิดล่วงหน้า ใช้แอพพลิเคชั่นตรวจสอบความหนาแน่นของผู้เข้าใช้สถานที่ท่องเที่ยวก่อนเดินทางไป

Advertisement

นอกจากนี้ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ที่เริ่มมีข่าวผู้ป่วยรายใหม่ล่าสุด สิ่งที่สำคัญคือ การจัดการความเสี่ยง ซึ่งสามารถช่วยกันลดความเสี่ยงของสถานที่ และความเสี่ยงของตนเองในการติดเชื้อ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศยังคงเป็นความเสี่ยง ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสถานกักกันทางเลือก สถานกักกันขององค์กรหรือในสถานพยาบาล จะต้องกวดขัน ดูแลให้แยกออกจากกลุ่มประชากรอื่นเป็นอย่างดี เพื่อลดการระบาดของโรค การดูแลสถานที่มีคนหนาแน่น ซึ่งหากมีผู้ป่วยหลุดไปอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดขนาดใหญ่ได้ และสิ่งที่สำคัญที่ต้องดูแลพิเศษ คือ โรงพยาบาล

“ขณะนี้สถานการณ์ของประเทศไทยค่อนข้างดี อยากให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีสติ เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของเราจะได้สามารถดำเนินการต่อไปได้ หากช่วยกันร่วมแรงร่วมใจกัน ตอนนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการที่เราช่วยกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องโควิด-19 วิถีชีวิต สังคม และอยากเชิญชวนคนไทย กินของไทย ใช้ของไทยและเที่ยวเมืองไทย” นพ.ธนรักษ์ กล่าว

เมื่อถามว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการไม่สวมหน้ากากอนามัยป้องกันขณะให้บริการ รวมถึงการบันทึกการเข้า-ออกสถานที่ ที่ไม่เข้มงวดจะมีการจัดการอย่างไร นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ภาครัฐพยายามกวดขันให้สถานที่ต่างๆ และให้คนไทยมีความระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงส่งทีมตรวจสอบลงพื้นที่สม่ำเสมอ แต่มีสถานที่ต้องดูแลค่อนข้างเยอะ ดังนั้นประชาชนสามารถเป็นหูเป็นตา ด้วยการแจ้งข้อมูลที่หละหลวม และอยากให้ภาครัฐเข้าไปดูแล ได้ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไทยชนะ หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image