“หมอธีระวัฒน์” ชี้เป็นไปได้ติดโควิด-19 รอบ2 เชื้อหลบใน ไวรัสเปลี่ยนรูป ตรวจไม่พบ

“หมอธีระวัฒน์” ชี้เป็นไปได้ติดโควิด-19 รอบ2 เหตุเชื้อหลบใน ไวรัสเปลี่ยนรูป ทำตรวจไม่พบ

วันที่ 26 ส.ค. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีมีข้อมูลว่าชาวฮ่องกงป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ว่า มีความเป็นไปได้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การกลับเป็นใหม่ครั้งที่ 2 มีสาเหตุจาก 1.เกิดจากเชื้อที่ติดจากครั้งแรกแล้วก็หลบซ่อนอยู่ในตัวและปะทุขึ้นมาใหม่
กรณีเช่นนี้พบได้ตั้งแต่ไวรัสนิปาห์ ที่ทำให้เกิดสมองอักเสบเฉียบพลัน ทำให้เกิดหลอดเลือดอักเสบอย่างรุนแรงโดยเชื้อนี้มาจากค้างคาว ทั้งนี้เมื่อหายแล้วอีก 2 ปีถัดมาเ กิดสมองอักเสบขึ้นมาใหม่ แต่คราวนี้ไม่ใช่หลอดเลือดอักเสบว่าเป็นเนื้อสมองอักเสบจริง

“กรณีของไวรัสอีโบลา หลังจากที่รอดชีวิตจากการติดเชื้อครั้งแรก ไวรัสเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในลูกตาหรือในสมอง หลังจากนั้น มีลูกตาและสมองอักเสบ ไวรัสโควิด-19 สามารถหลบซ่อนในที่ต่างๆได้ ถ้าไม่สามารถกำจัดได้หมดสิ้นในระยะแรกและกลไกของการกดไวรัสในที่ต่างๆนั้นอาจไม่ได้ใช้กลไกเหมือนกันกับในระยะแรกก็ได้ และอาจแตกต่างกันในแต่ละเนื้อเยื่อหรืออวัยวะ” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวและว่า ที่ผ่านมา การกลับเป็นใหม่ครั้งที่ 2 มีรายงานประปรายอยู่แล้วในประเทศจีนตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่ไม่รุนแรง ส่วนในอนาคตจะรุนแรงหรือไม่ก็ตาม คงไม่สามารถบอกได้

ขณะที่ 2.เกิดจากเชื้อจากภายนอกและเกิดการติดใหม่จริงครั้งที่2 ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสโควิด-19 หลังจากที่เป็นครั้งแรกนั้น ต้องการทั้ง ภูมิที่ได้จากน้ำเหลือง และจากระบบเซลล์ภูมิคุ้มกัน

Advertisement

“ภูมิคุ้มกันใน้ำเหลืองนั้นสลายตัวไปเร็วมากในระยะเป็นเดือน แม้ไม่ทุกคน แต่อย่างน้อยร้อยละ 15 ขึ้นไปจะหายไปใน 2-3 เดือน ดังที่พบในการศึกษาในประเทศไทยในจังหวัดทางภาคใต้ โดยจุฬาฯ ทีมใบยา และพันธมิตรร่วมกับทางจังหวัด แต่ถ้าระบบความจำของภูมิคุ้มกัน ไม่บกพร่อง แม้มีการติดเชื้อใหม่ก็จะมีการปลุกระดมภูมิขึ้นมาต่อต้านไวรัสอย่างรวดเร็ว (anamnestic response) และทำให้ไม่มีอาการเลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยดังนั้น ไม่มีทางทราบได้ว่าการเป็นครั้งที่ 2 จากเชื้อภายนอกจะรุนแรงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังข้างต้น” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับหน้าตาของเชื้อไวรัส ถ้ามีลักษณะรูปร่างหน้าตาผิดเพี้ยนไปจากเดิมจนระบบความทรงจำ จำไม่ได้ ก็จะเป็นเสมือนติดเชื้อใหม่ ดังนั้นความรุนแรงอาจจะมากหรือน้อยได้อย่างที่พบในการติดครั้งแรกหรือในอีกกรณีหนึ่งรูปร่างหน้าตาแปลกไปบ้างจำได้ แต่ไม่ทำลาย กลับชักชวน ให้เข้าไปในบ้าน เช้าไปในเซลล์ภูมิคุ้มกัน เสียเอง และเกิดการอักเสบอย่างรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในลักษณะนี้เกิดขึ้นได้แน่นอน แต่จะมากหรือน้อย บ่อยเพียงใดดังนั้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image