สธ.ชี้ม็อบเสี่ยงโควิด-19 ยกบทเรียนสวิตเซอร์แลนด์กักตัว นศ.2,500 คน

สธ.ชี้ม็อบเสี่ยงโควิด-19 ยกบทเรียนสวิตเซอร์แลนด์กักตัว นศ.2,500 คน หลังจัดปาร์ตี้

วันนี้ (25 กันยายน 2563) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ประจำวัน ในประเทศไทยวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3 ราย เป็นผู้เดินทางจากต่างประเทศ (ผู้ติดเชื้อรายใหม่จากสหรัฐเอมริกา 1 ราย และผู้ติดเชื้อรายเก่าจากสิงคโปร์ และคูเวต ประเทศละ 1 ราย) ทุกรายเข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ มีผู้ป่วยกลับบ้านได้ 7 ราย ทำให้มีผู้ป่วยกลับบ้านสะสม 3,360 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 95.48 ของผู้ป่วยทั้งหมด มีผู้ป่วยที่ยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาล 100 ราย หรือร้อยละ 2.84 ของผู้ป่วยทั้งหมด ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม รวมผู้เสียชีวิตสะสม 59 ราย ผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 3,519 ราย

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ เดินทางมาจาก

สหรัฐอเมริกา 1 ราย เป็นหญิง อายุ 39 ปี สัญชาติไทย อาชีพแม่บ้าน เดินทางถึงประเทศไทย วันที่ 19 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ที่จ.ชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรก วันที่ 23 กันยายน 2563 (วันที่ 4 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี

สิงคโปร์ 1 ราย เป็นชาย อายุ 42 ปี สัญชาติไทย อาชีพรับจ้าง เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 18 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ที่ จ.ชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรก วันที่ 21 กันยายน 2563 (วันที่ 3 ของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี มีประวัติเคยติดเชื้อโควิด-19 ขณะอยู่ที่สิงคโปร์ แต่มีเอกสารจากสิงคโปร์ระบุว่าพ้นระยะแพร่เชื้อแล้ว เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563

Advertisement

คูเวต 1 ราย เป็นชาย อายุ 58 ปี สัญชาติไทย อาชีพรับจ้างทั่วไป เดินทางถึงประเทศไทยวันที่ 22 กันยายน 2563 เข้ากักตัวในสถานที่รัฐจัดให้ ที่ จ.ชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกวันที่ 22 กันยายน 2563 (วันแรกของการกักตัว) ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.ชลบุรี มีประวัติเคยติดเชื้อโควิด จากคูเวต พักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.และแคมป์คนงาน ก่อนเดินทางกลับไทย

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกรายงานวันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 314,855 ราย ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลก 32,408,504 ราย โดย ประเทศที่มีการติดเชื้อสะสมสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 7,185,471 ราย อินเดีย 5,816,103 ราย บราซิล 4,659,909 ราย

“สำหรับการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคตามพื้นที่แนวชายแดน รัฐบาลไทยได้ให้หน่วยงานด้านความมั่นคง
ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) ร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันโรคในพื้นที่ชายแดนอย่างเข้มข้น รวมถึงในจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมเฝ้าระวัง ป้องกัน แรงงานที่ลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ไม่ได้เข้าสู่ระบบการคัดกรอง ควบคุมโรคตามมาตรการอาจนำเชื้อมาแพร่ให้กับคนในชุมชนได้ จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ไม่สนับสนุนการจ้างงานแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศผิดกฎหมายเข้าทำงาน โดยไม่ผ่านมาตรการเฝ้าระวังโรค อาจจะเป็นเหตุให้เกิดการแพร่เชื้อได้” นพ.โสภณ กล่าว

นอกจากนี้ นพ.โสภณ กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ กรณีพบการแพร่ระบาดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีสาเหตุจากการปาร์ตี้ของนักศึกษา ทำให้นักศึกษา 2,500 คน ต้องอยู่ภายใต้มาตรการกักกันโรค และทางการท้องถิ่นได้ออกคำสั่งปิดสถานบันเทิงทุกแห่งในแคว้นโวด์ และบังคับสวมหน้ากากในทุกสถานที่สาธารณะ

“ประเทศไทยเพิ่งเกิดการรวมกลุ่มชุมนุมทางการเมือง เมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา ถือว่ามีความเสี่ยงที่อาจเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ โดยสัดส่วนผู้ติดเชื้อสะสมของประเทศไทย ตั้งแต่เริ่มมีรายงานโควิด-19 พบว่ากลุ่มวัยรุ่น-วัยทำงาน ช่วงอายุ 20-39 ปี มีการติดเชื้อรวมกันมากกว่าร้อยละ 50 และส่วนมากเป็นผู้ที่ไม่แสดงอาการ สธ.มีความห่วงใย ขอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมในวันดังกล่าวเฝ้าระวังสังเกตอาการตนเองจนครบ 14 วัน หากมีอาการ ไข้ ไอเจ็บคอ น้ำมูก การรับรส/ กลิ่นลดลง อย่าปล่อยไว้ให้รีบไปรับการตรวจวินิจฉัยที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เนื่องจากกลุ่มนี้หากป่วยจะมีอาการรุนแรงและอาจเสียชีวิตได” นพ.โสภณ กล่าว

ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า ขอให้ผู้ที่จัดการประชุม สัมมนา หรือจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคน ให้เข้มงวดมาตรการ โดยทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดสถานที่เว้นระยะห่าง จัดจุดบริการ    เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ส่วนผู้ร่วมงาน ขอให้ความร่วมมือสวมหน้ากากอนามัย เลี่ยงการตะโกนเนื่องจากอาจเกิดฝอยละอองน้ำลาย น้ำมูกกระจายและสัมผัสสู่ผู้อื่นได้ และลงทะเบียนเข้าออกสถานที่ที่ใช้บริการผ่าน “ไทยชนะ” ทุกครั้ง เพราะหากพบผู้ติดเชื้อจะง่ายต่อการติดตามผู้สัมผัสมาตรวจและเฝ้าระวังโรคต่อไป ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตนเอง สมาชิกในครอบครัว คนรอบข้าง ชุมชน สังคม และคนในประเทศไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image