ผู้บริหารเครือซีพี ร่วมเวที World Economic Forum แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ฟื้นฟูศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายนพปฎล เดชอุดม ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด(เครือซีพี) ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ของเครือฯ ในการรับมือปัญหาโรคระบาดโควิด-19 และวิสัยทัศน์การพัฒนาฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ในเวทีเสวนาออนไลน์ “A New Development Agenda: Leapfrogging Out of the Pandemic Economy” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสุดยอด The Jobs Reset Summit 2020 จัดโดย World Economic Forum

ทั้งนี้ นายนพปฎล เป็นตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนในเวทีดังกล่าว ร่วมหารือกับผู้บริหาร นักวิชาการ นักลงทุนจากองค์กรชั้นนำอีก 3 คน ได้แก่ น.ส.ฟาตูมาตา บา ผู้ก่อตั้งและประธาน Janngo กองทุนส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพในทวีปแอฟริกา นายอัลเฟรด ฮานนิก ผู้อำนวยการบริหาร Alliance for Financial Inclusion องค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และน.ส.เดโบรา รีโวเทลญ่า นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งสหภาพยุโรป ดำเนินรายการโดยศาสตราจารย์ เอียน โกลดิน นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการพัฒนาจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร

รายข่าวแจ้งว่า ผู้เข้าร่วมเสวนาได้กล่าวถึงความท้าทายของโลก ที่จำเป็นต้องพัฒนาอย่างก้าวกระโดดเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs ในปี 2030 ในขณะที่ยังต้องจัดการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

Advertisement

ขณะที่นายนพปฎล ได้นำเสนอบทบาทของเครือเจริญโภคภัณฑ์ในการร่วมมือกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด สอดคล้องกับหลักการ 3 ประโยชน์ของเครือฯ ที่มุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน และประโยชน์ทางธุรกิจ ทั้งในด้านการรักษาตำแหน่งงานในทุกกลุ่มธุรกิจทั่วโลก การจ้างงานเพิ่ม 28,000 ตำแหน่ง การสนับสนุนอาหารให้แก่ผู้กักตัวและบุคลากรทางการแพทย์ และการสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยสำหรับผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข และได้ตอบประเด็นคำถามถึงบทบาทของภาคธุรกิจเอกชนในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา ตอกย้ำความสำคัญของการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการลงทุนเพื่ออนาคต

“สหประชาชาติประเมินว่าเราต้องลงทุนเพื่อฟื้นฟูรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างความแข็งแกร่งของสังคมและเศรษฐกิจ ประมาณ 3.3-4.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2030 ซึ่งการลงทุนขนาดนี้ต้องอาศัยทรัพยากร ประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญจากทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันแบ่งปันความเสี่ยง โดยในโลกที่มีความซับซ้อนมากขึ้น การดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในลักษณะเป็นกิจกรรมหรือโครงการเดี่ยว อาจจะไม่เพียงพอ เราจะต้องมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรือการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมให้มากขึ้น”นายนพปฎลกล่าว

ขณะที่ ผู้เข้าร่วมเสวนาอื่นๆ ได้ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลกหลังโควิด อาทิ น.ส.เดโบรา รีโวเทลญ่า ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งสหภาพยุโรป ยกตัวอย่างการลงทุนที่เน้นผลลัพธ์ทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Impact Investment) และการสร้างงานเพื่อรองรับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในยุโรป

ด้าน น.ส.ฟาตูมาตา บา ผู้แทนจาก Janngo กองทุนส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพในทวีปแอฟริกา กล่าวถึงศักยภาพของอีคอมเมิร์ซที่จะช่วยสร้างงานและเพิ่มรายได้แก่ประเทศกำลังพัฒนาในแอฟริกา และบทบาทของสตรีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น

ส่วนนายอัลเฟรด ฮานนิก ผู้แทนจาก Alliance for Financial Inclusion องค์กรพัฒนาภาคเอกชนที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน เน้นย้ำความสำคัญของบทบาทสตรี โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ที่มีทักษะในการทำธุรกิจแต่ยังขาดโอกาสและแหล่งเงินทุนที่เข้าถึงได้ง่าย และผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ เช่น บัญชีออมทรัพย์และสินเชื่อที่เชื่อมกับบริการโทรศัพท์มือถือ

ประธานคณะผู้บริหารด้านความยั่งยืนองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวสรุปโดยยกตัวอย่างสงครามโลก ที่ธุรกิจเอกชนทั้งระบบเศรษฐกิจระดมสรรพกำลังผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเตรียมพร้อมต่อสู้สงคราม เปรียบเทียบกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ทั้งโลกต้องรวมกำลังกันระดมทรัพยากรและเทคโนโลยี เพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัส รวมถึงร่วมมือกันแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ปัญหาความขัดแย้งทั้งในระดับสังคมและระหว่างประเทศ ซึ่งนับเป็นภัยคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติไม่ยิ่งหย่อนกว่าภัยสงคราม

ทั้งนี้ ศาสตราจารย์เอียน โกลดิน ผู้ดำเนินรายการ กล่าวแสดงความเห็นด้วยและตั้งความหวังว่าโลกจะเรียนรู้บทเรียนจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ เหมือนกับที่เรียนรู้ผลร้ายของสงครามจากสงครามโลกครั้งที่สอง จนนำไปสู่ความพยายามสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อลดข้อขัดแย้งและส่งเสริมสันติภาพและการพัฒนาร่วมกัน
————————

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image