วัคซีนโควิด-19 อย่างเร็วกลางปี’64 แพทย์ศิริราชชี้อาจได้ผลแค่ 50%

วัคซีนโควิด-19 อย่างเร็วกลางปี’64 แพทย์ศิริราชชี้อาจได้ผลแค่ 50%

วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2563) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงข้อมูลล่าสุดของการผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ระหว่างแถลงสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาด โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทั่วโลก ที่โรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ว่า สำหรับข้อมูลเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น ทั่วโลกวันนี้มี 88 บริษัท ที่อยู่ระหว่างศึกษาในสัตว์ทดลอง ซึ่งใช้เวลาหลักเดือนก็จะตอบได้แล้วว่า วัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า และเมื่อผ่านการทดลองจากสัตว์ทดลองได้ผล ก็จะเข้าสู่การศึกษาในมนุษย์ ระยะที่ 1 ซึ่งจะดูความปลอดภัยเป็นหลัก ใช้จำนวนศึกษาไม่มาก มีจำนวน 35 บริษัท ระยะที่ 2 ศึกษาคนจำนวนมากขึ้น มีความหลากหลายทั้งเพศและอายุ ใช้กลุ่มทดลองในหลักพันคน มีจำนวน 14 บริษัท และ ระยะที่ 3 ศึกษาประสิทธิภาพของการป้องกันโรค โดยทั่วไปแล้วจะใช้กลุ่มทดลองมากกว่า 30,000 คน โดยวัคซีนที่ใช้จะมีทั้งวัคซีนจริงและวัคซีนหลอก โดยที่ผู้ถูกฉีดจะไม่ทราบว่าตนเองได้วัคซีนตัวใด เพื่อเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนนั้นๆ ในขณะนี้มี 11 บริษัท

“โดยหลังจากนั้น เมื่อเข้าสู่เฟส 3 เรียบร้อยแล้ว ก็จะมีวัคซีนจำนวนหนึ่งที่อยู่ในระยะทดลองเฟส 3 แต่เกิดความจำเป็นในประเทศนั้นๆ จนต้องอนุโลมให้ใช้วัคซีนได้มีอยู่ 6 บริษัท ที่มีการอนุโลมให้ใช้ในบางพื้นที่ และปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนตัวใดได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้ใช้ได้ โดยขณะนี้มีหลายงานวิจัยออกมาตรงกันว่า ภูมิคุ้มกันโควิด-19 ในร่างกายเป็นภูมิคุ้มกันระยะสั้น ซึ่งในบางบริษัทกำหนดให้ฉีด 2 เข็ม และบางบริษัทกำหนดว่าอาจต้องฉีดในทุกๆ ปี” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า โดยสรุปเรื่องวัคซีนโควิด-19 มีเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ของวัคซีนที่ทดลองในสัตว์จะประสบความสำเร็จในมนุษย์ วัคซีนที่ผ่านเข้าสู่การศึกษาในมนุษย์ ประสบความสำเร็จเพียงร้อยละ 20 วัคซีนที่ผ่านการศึกษาในมนุษย์ระยะที่ 3 อาจประสบความสำเร็จในการใช้จริงเพียงร้อยละ 50 และคนต่างพื้นที่ ต่างวัย อาจจะตอบสนองต่อการฉีดวัคซีนไม่เหมือนกัน

Advertisement

ดังนั้น วัคซีนจะผลิตได้จะไม่เร็วกว่ากลางปีหน้า แต่วัคซีนที่ได้ผลที่สุดคือ ตัวเราเอง ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง ลงทะเบียนการเข้าออกสถานที่ เราทำดีมาตลอด ต้องทำต่อเนื่อง หากเราอยากเห็นเศรษฐกินดำเนินการไปได้ พวกเราต้องช่วยกัน หากเราทำแบบเดิม เราก็ยังใช้ชีวิตนอกบ้านได้ หากเราไม่ช่วยกันทั้งหมด ก็จะเกิดเหตุการณ์เหมือนบางประเทศในยุโรป อย่างเช่น สหราชอาณาจักรที่ต้องประกาศปิดประเทศจนถึงวันที่ 2 ธันวาคมนี้” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image