ศบค.ผวามกราคม ป่วยโควิดพุ่งวัน 1.8หมื่นคน ถ้ายังไร้มาตรการเข้ม ขู่ 7 วันถ้าย่อหย่อนใช้ยาแรง

ศบค.ผวามกราคม ป่วยโควิดพุ่งวัน 1.8หมื่นคน ถ้ายังไร้มาตรการเข้ม ขู่ 7 วันถ้าย่อหย่อนใช้ยาแรง อย.สั่งปรับรพ.เอกชนดัง 1 แสนเปิดจองวัคซีน

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบ 2 ในประเทศไทยยังต้องเฝ้าระวังและคุมเข้มมาตรการอย่างใกล้ชิด หลังยอดผู้ติดเชื่อรายใหม่ยังเพิ่มขึ้น หลายจังหวัดออกมาตรการล็อกดาวน์จุดเสี่ยง ล่าสุด นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ว่าขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยใน 45 จังหวัด จะเห็นว่าแต่ละช่วงเวลา ตั้งแต่วันที่ 18-20 ธันวาคม พบเพียง 6 จังหวัด วันที่ 21-23 ธันวาคม เพิ่มเป็น 26 จังหวัด วันที่ 24-26 ธันวาคม เป็น 37 จังหวัด และวันที่ 27-29 ธันวาคม เพิ่มขึ้นมาเป็น 45 จังหวัด ถือว่าค่อนข้างเร็ว ทีมระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค จึงทำฉากทัศน์ของการระบาดระลอกใหม่ใน 3 ฉากทัศน์

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ฉากทัศน์ที่ 1 หากไม่มีการควบคุมหรือมาตรการใด จะเกิดเป็นเส้นสีแดง เป็นกราฟระฆังคว่ำ จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นวันละ 1,000-2,000 ราย ไปจนถึงวันที่ 14 มกราคม จะพบเพิ่มขึ้น 18,000 รายต่อวัน ฉากทัศน์ที่ 2 เส้นสีเหลือง ใช้มาตรการปานกลาง จะพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเกือบ 4,000 รายต่อวัน โดยกลางเดือนหน้าจะพบผู้ป่วยรายใหม่ 8,000 รายต่อวัน ซึ่งกำลังดำเนินการระดับนี้อยู่และเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากระยะสั้นๆ พบผู้ป่วยสะสมหลักหมื่นราย และ ฉากทัศน์ที่ 3 เส้นสีเขียว เป็นมาตรการเข้มข้นที่เราเคยทำได้ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ก็จะพบผู้ป่วยน้อยกว่า 1,000 รายต่อวัน

“ระลอกสอง ระลอกใหม่ แล้วแต่คนจะใช้ เราไม่อยากเห็นภาพเส้นสีแดง หากพูดถึงเราพบรายใหม่หลักร้อย เราอยู่ในเส้นสีเหลืองอยู่ ซึ่งน่ากังวลใจมาก หากเราไม่ทำอะไร กราฟจะยิ่งชันขึ้น จะพบผู้ป่วยหลักหลายพัน สะสมเป็นหลักหมื่นราย ดังนั้นหากเราร่วมมือกันในวันนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อเราจะไม่เยอะเหมือนต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกพบผู้ป่วยรายใหม่รอบ 24 ชั่วโมง 487,273 ราย สะสมที่ 81,669,521 ราย พบเสียชีวิต 9,105 ราย อัตราเสียชีวิตร้อยละ 2.2 โดยวันนี้เราก็พบผู้เสียชีวิตใหม่ 1 ราย ก็หมายความว่า ถ้าเราสะสมหลายวันก็จะมีผู้เสียชีวิตตามมา เหมือนกับสถานการณ์ของโลกตอนนี้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

  • สั่งผวจ.แบ่ง4พื้นที่ตามศบค.

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงมาตรการควบคุมป้องกันการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยว่า ที่ประชุมศบค.ชุดเล็ก มีการวิเคราะห์สถานการณ์ขณะนี้ จำนวนเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.การติดเชื้อจากบุคคลถึงบุคคล ซึ่งเกิดขึ้น 2 แบบ แบบที่ 1 การเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงมีกิจกรรมเสี่ยง จะติดเป็นรายบุคคล เช่นที่ จ.สมุทรสาคร ที่ทำงานในพื้นที่เสี่ยง มีโอกาสติดอยู่แล้ว แบบที่ 2 ไม่ทราบและไม่ระวังการสัมผัสผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะต้องดูแลตนเอง

Advertisement

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า 2.การติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน มีสาเหตุจากการเข้าไปร่วมกิจกรรมต่างๆ หากเป็นกิจกรรมที่ถูกต้อง เช่น การประชุม งานเลี้ยงสังสรรค์ แต่อาจจะถอยทิศทางลงให้ปลอดภัยขึ้น และกิจกรรมที่ลักลอบ เป็นเรื่องที่ปวดหัวใจคนไทย เช่น การเล่นพนัน มั่วสุม ปาร์ตี้ ที่ซึ่งมาแล้วเป็นภาพสีเทาๆ ดำๆ เกิดเป็นตัวเลขติดเชื้อ 2-3 หลัก เพราะตรงนี้เป็นส่วนใหญ่ แต่เป็นสิ่งที่ป้องกันได้แต่ต้องควบคุม

เรายังใช้มาตรการเดิมที่นายกฯ ประกาศออกมา คือ 4 พื้นที่เสี่ยง ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุม พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดและพื้นที่เฝ้าระวัง แต่สิ่งสำคัญที่สุด แปลงไปสู่การปฏิบัติ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะผู้ที่ได้รับมอบอำนาจตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ ให้แบ่งส่วนพื้นที่ต่างๆ เหล่านี้ ภายในวันพรุ่งนี้และจะต้องประกาศออกมาในระดับของอำเภอ ตำบล ให้ได้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

  • ขู่7วันถ้าย่อหย่อนใช้ยาแรง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การดำเนินการในโครงข่ายเฝ้าระวัง รังผึ้ง มอบให้ ศบค.มท. ขับเคลื่อน ศปก.จังหวัด ศปก.กทม. ให้มีกลไกเฝ้าระวังถึงระดับ ศปก.ตำบล โดยใช้กลไกการปกครองและสาธารณสุข คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จะรับผิดชอบประเมิน กำหนดระดับพื้นที่สถานการณ์ โดยเน้นที่จังหวัดหรืออำเภอขึ้นมา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะประกาศให้ประชาชนรับทราบ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือประชาชน เน้นย้ำมาตรการที่จะออกจากทางจังหวัดอย่างเข้มข้น โดยจะใช้เวลานี้นับไปอีก 7 วัน ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่เราเคยนับ 7 วันอันตราย นอกจากอุบัติเหตุแล้วการติดเชื้อก็เป็นความสำคัญ หากควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อได้อยู่ในขีดความสามารถที่มีทรัพยากรรองรับ เรายังคงใช้มาตรการ 4 พื้นที่ แต่หากประชาชนไม่ให้ความร่วมมือ เอกชนย่อหย่อน จะทบทวนมาตรการทั้งหมด

Advertisement
  • ปรับ1แสนรพ.เปิดจองวัคซีน

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ตามที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเปิดบริการรับจองวัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 ที่นำเข้าจากต่างประเทศนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า วัคซีนจัดเป็นยาตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา พ.ศ.2510 ซึ่งการผลิตหรือนำเข้าวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศไทยจะต้องขึ้นทะเบียนกับ อย. ก่อน แม้ว่าจะผ่านการขึ้นทะเบียนจากต่างประเทศแล้วก็ตาม เนื่องจาก อย.ต้องประเมินทางวิชาการว่าวัคซีนนั้นมีคุณภาพ ปลอดภัย และป้องกันโรคได้

ด้าน ภญ.สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า จากกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนโฆษณาเปิดจองวัคซีนทางเว็บไซต์ เข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ยาฯ ฐานโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งขณะนี้ อย.ได้สั่งระงับการโฆษณาขายยาดังกล่าว และมีหนังสือแจ้งทางโรงพยาบาลมาเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 100,000 บาท แล้ว

ทั้งนี้ วัคซีนไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่ประชาชนจะหาซื้อมาใช้เอง การพิจารณาว่าผู้ใดควรฉีดวัคซีนหรือไม่ ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวังโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการแพ้ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และต้องมีการประเมินความปลอดภัยของวัคซีนอย่างรอบด้านทั้งก่อนและหลังการฉีด ดังนั้น ประชาชนโปรดอย่าหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มาใช้เอง ขณะนี้ภาครัฐได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพโดยเร็วที่สุด ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นและรับข่าวสารที่ถูกต้องจากภาครัฐเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image