ด่วน! ศบค.ประกาศ ยกระดับ พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวม 28 จังหวัด มีผล 4 ม.ค.

ศบค.จ่อประกาศ ยกระดับ พื้นที่ควบคุมสูงสุด รวม 28 จังหวัด เป็นพื้นที่สีแดง ส่งให้นายกฯเซ็น คาดมีผล 4 มกราคม

เมื่อวันที่ 2 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวว่า การประชุมช่วงเช้านี้ของ ศบค. และการประชุมศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 (ศปค.สธ.) โดยประชุมวิดีโอทางไกลร่วมกับอดีต รมว.สธ. และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้พูดคุยกันมีข้อสรุปขึ้นมาจาก สธ.ว่า การคัดกรองแรงงานต่างด้าวยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นขึ้นเรื่อยๆ การระบาดรอบใหม่ที่น่าจับตามองคือ กลุ่มก้อนในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งเริ่มกระจายในหลายพื้นที่และมีผู้เสียชีวิตโดยไม่สามารถหาความเชื่อมโยงจากศูนย์กลางการระบาดเดิมได้ ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะมีการแพร่กระจายโรคเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคและมาตรการทางสังคมที่เข้มข้นและรวดเร็วจึงมีประสิทธิภาพเพียงพอ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า เดิมเราต้องยึดหลักมาตรการเบาไปหาหนัก โดยมีข้อแม้ว่าการระบาดต้องไม่มาก อยู่ในวิสัยที่ควบคุมได้ ทรัพยากรมีเพียงพอ มีความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ตอนนี้ ศบค.เอาชุดนี้มาวิเคราะห์สถานการณ์ตอนนี้ว่า 1.การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยมีรูปแบบที่ต้องเฝ้าระวังเข้มข้น ดังนี้ 1.1 ผู้ติดเชื้อหลายคนทราบดีว่าตนเองได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ แต่ไม่ยอมกักตนเองหรือไม่หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้อื่น หรือไม่เข้าไปพบแพทย์ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเราเห็นภาพนี้มาใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 1.2 ยังมีกิจกรรมลักลอบมั่วสุมโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการพนันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุทำให้เกิดการระบาด นอกจากนั้นยังมีการมั่วสุมแบบเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งด้วย ซึ่งชัดเจนโดย ศปม.เป็นผู้ยืนยันหลักการนี้

2.จำนวนผู้ติดเชื้อและมีอาการต้องเข้ารักษาพยาบาลมีจำนวนมากขึ้น กระทั่งขีดความสามารถทางการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งด้านบุคลากรและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ลดลงจำนวนมาก มีความจำเป็นต้องทบทวนมาตรการป้องกันโควิด-19 ในภาพรวม ซึ่งอย่างที่เรารับทราบกันว่ามีผู้ติดเชื้อโดยไม่มีอาการถึงร้อยละ 80 ซึ่งหากเข้าใช้เตียงในโรงพยาบาล (รพ.) ก็อาจทำให้ไม่เพียงพอสำหรับผู้อื่น สธ.จึงมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการสาธารณสุขหาเตียงสำหรับผู้ที่มีอาการน้อย เพื่อเผื่อเตียงให้ผู้ที่มีอาการหนัก เช่น ห้องไอซียู เครื่องช่วยหายใจ 3.ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคและให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันเป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งขาดความระมัดระวังในมาตรการที่ ศบค.ขอความร่วมมือ จึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการดำเนินมาตรการป้องกันโรคเป็นภาพรวม

“เราเห็นภาพแผนที่พบผู้ป่วยก็จะมีบริเวณที่เป็นสีเหลืองและสีแดงเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ พื้นที่สีขาวแทบจะไม่มีแล้ว ดังนั้นเราใช้มาตรการตามกันไปคงยาก เราจึงต้องปรับมาตรการขึ้นมา วันนี้คุยกันใน EOC ของ สธ. มาตรการต้องนำการติดเชื้อเพราะหากให้เป็นไปตามปกติ และเราวิ่งไล่ตาม ไล่แก้ หาเตียงมารอผู้ป่วยอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องลดจำนวนผู้ป่วยให้ได้ ฉะนั้นมาตรการต้องเข้มขึ้น” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Advertisement

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม 2 แห่ง มีความเห็นตรงกันและต้องนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. เกิดมาตรการขึ้นมา เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เข้มข้นสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยแผนที่ตามมาตรา ยกระดับพื้นที่จากสีเหลืองให้เป็นสีส้ม จากสีขาวก็ต้องเป็นสีเหลือง ส่วนพื้นที่สีแดงอยู่แล้วต้องเพิ่มมาตรการที่เข้มขึ้นไปอีก จึงต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน

ในการประชุม ขอให้กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด สีแดง ใน 28 จังหวัด ได้แก่ ตาก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครนายก กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรปราการ จันทบุรี ชลบุรี ชลบุรี ตราด ระยอง ชุมพร ระนอง และ กทม.

พื้นที่ควบคุม สีส้ม 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และพังงา

Advertisement

พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด สีเหลือง คือ 36 จังหวัดที่เหลือ

“เราต้องมีมาตรการนำไวรัสไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งเราได้ผลเรียนรู้ของการใช้ยาแรงเมื่อเดือนมีนาคม 2563 เราเจ็บปวดกันมากแต่เราเอาอยู่ภายในช่วงเวลา 3 เดือนกว่า แต่ครั้งนี้เราก็เรียนรู้ว่าการล็อกดาวน์ คำพูดนี้เจ็บปวดหัวใจไม่มีใครอยากได้ยิน แต่ต้องมีผู้เสียสละคือพื้นที่ที่เป็นสีแดง เราไม่อยากให้เป็นการล็อกดาวน์ แต่ต้องมีการเข้มงวดมากๆ ควบคุมสูงสุดมากๆ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ขั้น โดยขั้นที่ 1 กำหนดเวลาปิด-เปิดสถานประกอบการ ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการระบาด ค้นหาและจับกลุ่มผู้มั่วสุมผิดกฎหมาย หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมคนจำนวนมาก ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด สถานศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์แทน ให้มีการทำงานจากที่บ้าน work from home ทั่วทั้งพื้นที่ที่ ศบค.กำหนด มีมาตรการควบคุมในการเดินทางของบุคคลจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด เร่งตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้รับข้อมูลจากการสอบสวนโรคของสธ.

โดยห้วงเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม เวลา 06.00 น. ถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เวลา 06.00 น.

“ที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันแล้ว แต่ต้องนำเรียนในท่านนายกฯพิจารณาลงนาม แต่ต้องให้มีช่วงเวลาซักหน่อยเพื่อให้มีการเตรียมตัว เรายังไม่ได้เกิดขึ้นวันนี้ แต่ต้องมีการพูดให้เตรียมตัว โดยเราเริ่มใช้ 4 มกราคม แต่ไม่ต้องถึงขนาดว่าต้องไปกักตุน เราใช้มาตรการนี้เพื่อคุมคนที่ไม่ให้ความร่วมมือกับเรามากให้ได้ที่สุด ไม่ต้องกักตุน ซึ่งในการประกาศนี้จะเป็นการนำประกาศฉบับที่ 5 – 6 ที่เราเคยใช้ มาใช้ในฉบับที่ 16 ต่อไป” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image