‘จาตุรนต์’ เสนอ 7 มาตรการ สู้โควิด ชี้ยังไม่สายที่รัฐจะเรียนรู้-ปรับปรุง

‘จาตุรนต์’ เสนอ 7 มาตรการ สู้โควิด ชี้ยังไม่สายที่รัฐจะเรียนรู้-ปรับปรุง

วันที่ 6 มกราคม นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chaturon Chaisang ระบุว่า บทเรียน “โควิด-19” ยังไม่สายเกินไป ที่รัฐจะเรียนรู้และปรับปรุง

• ลักษณะพิเศษของการแพร่ระบาดในไทย
การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากหลายๆ ประเทศ ขณะที่บางประเทศอาจมีปัญหาเรื่องภูมิอากาศ วัฒนธรรมหรือความเชื่อที่ไม่เอื้อต่อการจัดระยะห่าง การใช้หน้ากากอนามัยและการล้างมือ ซึ่งสังคมไทยมีปัญหาเหล่านี้น้อย แต่การระบาด 2 รอบที่ผ่านมากลับมีสาเหตุปัญหาจากการที่คนบางกลุ่มมีอภิสิทธิ์ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะในครั้งหลังนี้เกี่ยวพันกับการแสวงประโยชน์โดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วน ซึ่งเป็นเหมือนวัฒนธรรมในการปล่อยปละละเลยเพื่อหาประโยชน์ที่โยงใยไปยังผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า และไม่สามารถตรวจสอบได้
• ขาดการเรียนรู้และสรุปบทเรียน
การระบาดครั้งนี้น่าแปลกใจที่ภาครัฐเหมือนจะไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการระบาดครั้งที่แล้วเท่าใดนัก หลายเรื่องไม่ได้เตรียมพร้อมรับมือ ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ายังอยู่ในสถานการณ์การระบาดและมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น การบริหารจัดการจึงดูฉุกละหุก แม้แต่เรื่องการรักษาพยาบาลและสถานที่รักษาพยาบาล ยังไม่รวมไปถึงการเตรียมรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาอีกด้วย
• ขาดการจัดความสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่ระบาดกับการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ปัญหาใหญ่คือ ภาครัฐยังรับมือด้วยวิธีการแบบเดิมๆ คือ คนที่สั่งปิด สั่งหยุด สั่งห้ามกับคนที่ดูแลเรื่องผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องคนตกงานและผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม ยังเป็นคนละส่วนและดูเหมือนไม่ได้มีการพูดคุยหารือกัน รัฐกำลังออกคำสั่งที่ทำให้คนตกงานเป็นล้านคน ส่วนราชการที่สั่งปิด สั่งห้าม ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบและไม่ได้เตรียมมาตรการเยียวยารองรับล่วงหน้า ทั้งๆ ที่ต้องตระหนักว่าไม่ควรทำให้คนต้องตกงานมากมายมหาศาล โดยไม่จำเป็น
มาตรการปิดสถานประกอบการที่ออกมานั้น ควรพิจารณาดำเนินการด้วยความระมัดระวังและสร้างความเสียหายให้น้อยที่สุด ซึ่งสามารถแยกประเภทความเสี่ยงตามลักษณะของการประกอบกิจการได้ หากกิจการไหนพอที่จะสามารถใช้มาตรการป้องกันการระบาดได้ ก็ควรพิจารณาให้เปิดและใช้มาตรการป้องกันที่เข้มงวด ซึ่งน่าจะสร้างความเสียหายน้อยกว่าการสั่งปิดแบบเหมารวม จนกลายเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจมหาศาล
• ต้องดูแลผู้ประกอบการ เพื่อปกป้องแรงงาน
ที่สำคัญและควรพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ คือ จะทำอย่างไรไม่ให้กิจการต่างๆ ต้องล้มลงไปเสียก่อน และจะต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับแรงงานจำนวนมาก โดยมีเป้าหมายเพื่อรักษาคน รักษางานและการจ้างงานไว้ให้มากที่สุด ไม่ให้มีการลาออกหรือเลิกจ้างมากเกินไป ซึ่งรัฐควรจะพิจารณาช่วยจ่ายค่าจ้างร่วมกับผู้ประกอบการระหว่างที่ต้องปิดกิจการเหมือนอย่างที่ทำกันในหลายประเทศ ต้องคิดว่าจะดูแลเยียวยากันอย่างไร เป็นเวลาเท่าไร
ที่จำเป็นอย่างมากและยังไม่ได้มีการพูดถึงก็คือ ระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ เพื่อจะได้ทราบว่า มีสถานประกอบการต้องปิดตัวลงไปเท่าไร มีคนต้องหยุดงาน ถูกเลิกจ้างหรือได้รับผลกระทบเท่าไร เพื่อจะได้นำไปสู่การเยียวยาอย่างทั่วถึงและตรงจุดมากที่สุด
ถ้าจะให้ผู้ที่รับผิดชอบมองปัญหาอย่างสมดุลระหว่างการป้องกันการแพร่ระบาดกับการดูแลผลกระทบทางเศรษฐกิจ ศบค.น่าจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบนี้ควบคู่กับตัวเลขผู้ป่วยในแต่ละวันด้วย
รัฐจะต้องประเมินสถานการณ์และวางระบบการเยียวยาเอาไว้แต่ต้น การใช้มาตรการเข้มข้นแบบเหวี่ยงแหนี้จะทำให้มีคนตกงานมหาศาล ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก คำถามคือรัฐบาลจะหาเงินจากไหน จะโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณที่ยังไม่ได้ใช้ได้มากแค่ไหน งบประมาณในปีหน้าจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไรและถ้าจะต้องกู้เพิ่ม จะวางแผนการใช้จ่ายอย่างไรให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าครั้งที่แล้ว ซึ่งขณะนี้ควรมีแผนไว้แล้วว่าระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว จะต้องดำเนินการอย่างไร ถ้าปัญหาหนักหนาและยืดเยื้อ อย่างน้อยที่สุด ขั้นต่ำคือ รัฐต้องดูแลประชากรไม่ให้อดอาหาร ดังนั้นจะต้องคิดว่าจะดูแลเรื่องอาหารอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยให้คนต้องไปอาศัยแต่โรงเจ โรงทาน เหมือนครั้งที่แล้ว และจะต้องดูแลไม่ให้คนถูกเลิกให้เช่าที่อยู่อาศัย เพื่อให้ได้มีที่อยู่ในระหว่างนี้
• มีมาตรการแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการระบาดอย่างได้ผล
ในส่วนของแรงงานต่างด้าว มีปัญหาต้องแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การแพร่ระบาดครั้งที่แล้วทำให้แรงงานต่างด้าวกลับประเทศไปหลายแสนคน รัฐบาลไม่ได้หาทางให้แรงงานเหล่านี้กลับมาได้เร็วและรัดกุม ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างล่าช้า ระบบในการดูแลแรงงานต่างด้าวของไทยเราเป็นระบบที่มุ่งหารายได้จากธุรกิจแรงงานต่างด้าว ทั้งจากผู้ประกอบการหรือครัวเรือนที่อาศัยแรงงานต่างด้าวและจากแรงงานต่างด้าวเอง มีบทกำหนดโทษรุนแรง มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูงมาก จนในที่สุดก็เกิดการหลีกเลี่ยงกฎหมาย ออกนอกระบบ เกิดการทุจริตผิดกฎหมายเพื่อหาประโยชน์จากการนำแรงงานต่างด้าวเข้าประเทศ ทำให้การดูแลป้องกันการแพร่ระบาดไม่อาจทำได้ การระบาดครั้งนี้จึงมีแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิดกันมาก
ปัญหาเฉพาะหน้าคือจะดูแลแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศอย่างไร ไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายจนทำให้เขารู้สึกว่าต้องหนีตายออกจากระบบ สร้างแรงจูงใจให้ทุกคนให้ความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาด ให้การรักษาพยาบาลที่ดีแก่แรงงานต่างด้าวที่ป่วยทุกคนไม่ว่าจะเข้าประเทศโดยถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
ส่วนในระยะยาว คงต้องยอมรับว่าระบบเศรษฐกิจของไทยยังต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวจำนวนมากไปอีกนาน ระบบในการดูแลแรงงานต่างด้าวที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจหรือแม้แต่สำหรับครัวเรือนนี้ ต้องมีการปรับปรุงเสียใหม่อย่างจริงจัง เรื่องนี้ต้องการมุมมองที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่อย่างมากและต้องเริ่มคิดกันอย่างจริงจังตั้งแต่บัดนี้แล้ว
ถ้าไม่ทำแบบนี้ก็ยังไม่รู้ว่ารัฐจะแก้ไขปัญหาการระบาดอย่างครอบคลุมได้อย่างไร และถ้ายังทำแบบที่ทำอยู่ก็จะยิ่งอันตราย ซึ่งสุดท้ายจะสร้างผลกระทบกับคนไทยและประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้แรงงานเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ ที่เดิมก็แย่อยู่แล้วก็จะแย่ไปอีก
• ต้องไม่ละเลยผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน
อีกส่วนที่กำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งในการระบาดรอบที่ผ่านมาก็มีปัญหานี้เกิดขึ้น แต่วันนี้ก็ยังไม่เห็นว่าผู้รับผิดชอบจะมีการเตรียมการรับมือที่ชัดเจน ก็คือผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน
ปีที่ผ่านมา หลายองค์กรได้ทำการศึกษาและพบว่า เด็กทั่วโลกมีอัตราการติดเชื้อและเสียชีวิตน้อยถึงน้อยมาก แต่กลับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สูงอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กในครอบครัวที่ยากจนหรือในประเทศที่ยากจน โดยเฉพาะผลกระทบจากการต้องหยุดเรียน ขาดเรียนหรือขาดการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ รวมไปถึงการขาดอาหาร การรักษาพยาบาลหรือขาดโอกาสในการได้รับวัคซีนป้องกันโรคต่างๆเนื่องจากโรงพยาบาลต้องหยุดให้บริการ การต้องประสบปัญหาครอบครัว ไม่ได้รับการดูแล ถูกรังแก ทำร้าย ต้องเผชิญกับอุบัติเหตุและอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งได้สรุปออกมาว่า มีเด็กนับพันล้านคนที่ได้รับผลกระทบ
วันนี้หลายประเทศประสบปัญหาการระบาดเช่นเดียวกับไทย และหลายประเทศก็มีผู้ติดเชื้อสูงกว่าไทย แต่ก็ยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าจะปิดโรงเรียนหรือไม่ เพราะเขาเห็นว่าการที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนเป็นความเสียหายที่ใหญ่มาก ขณะที่ไทยมีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ค่อนข้างน้อยเพราะภาครัฐกลับเลือกที่จะประกาศหยุดการเรียนการสอนไปเลยโดยไม่ได้มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่ตามมา
ซึ่งไม่ทราบว่าผู้รับผิดชอบฝ่ายต่างๆ มีการรวบรวมข้อมูลหรือไม่ว่ามีการหยุดเรียนกี่โรงเรียน ปิดกี่โรงเรียน มีเด็กไม่ได้เรียนกี่คน ได้เรียนกี่คน มีเครื่องมือและเข้าถึงอินเตอร์เน็ตกี่คน และที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มีกี่คน การปิดโรงเรียนที่ผ่านมาและที่กำลังทำอยู่นี้มีผลกระทบต่อเด็กในด้านต่างๆ อย่างไร ทั้งหมดนี้จะต้องรับผิดชอบต่อพวกเขาอย่างไร ซึ่งควรจะต้องคิดเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
• ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เลวร้ายลง
ใน 1 ปีมานี้ ที่เราต้องอยู่กับการระบาดของโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับคนยากคนจน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แย่ลงมากนี้มีการศึกษาและให้ความสำคัญโดยองค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลหลายประเทศ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งมีปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับต้นๆของโลกกลับยังเป็นมิติที่ถูกพูดถึงน้อย และรัฐบาลไทยไม่ได้พูดถึงเลยตั้งแต่การระบาดครั้งที่ผ่านมา จนกระทั่งเกิดการระบาดครั้งนี้
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image