รปภ.จุฬาฯ ติดโควิดอีก 4 ยอดรวม 14 คน

รปภ.จุฬาฯ ติดโควิดอีก 4 ยอดรวม 14 คน

เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกประกาศมาตรการของคณะกรรมการโควิด-19 ฉบับที่ 5/2564 หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดเพิ่ม 1 ราย สะสมรวม 14 ราย โดยระบุว่าตามที่คณะกรรมการโควิด-19 จุฬาฯ ประกาศพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) ซึ่งพักอาศัยในหอพักบุคลากรและดำเนินการส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจุฬาฯ แล้วนั้น คณะกรรมการโควิด จุฬาฯ ได้มีมาตรการระดมตรวจคัดกรองโรคเชิงรุกกับกลุ่มผู้สัมผัสใกล้ชิดกับบุคลากรกลุ่มดังกล่าวเพิ่มเติมในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 อีก 389 คน รวมเป็นผู้ได้ตรวจคัดกรองโรคแล้ว 619 คน ผลจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกดังกล่าวพบว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID–19) เพิ่มเติมอีก 1 คน รวมเป็น 14 คน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ วันที่ 10 ก.พ. พบว่า 1.มาจากระบบเฝ้าระวังและการสอบสวนโรค 38 ราย ได้แก่ กทม. 8 ราย สมุทรสงคราม 1 ราย มหาสารคาม 1 ราย และสมุทรสาคร 28 ราย 2.คัดกรองเชิงรุกในชุมชน 106 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 104 ราย และสมุทรสงคราม 2 ราย และ 3.มาจากต่างประเทศ 13 ราย ได้แก่ อินโดนีเซีย 5 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย อินเดีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น คูเวต อาร์เจนตินา และมาเลเซีย ประเทศละ 1 ราย

“ผู้ติดเชื้อใน กทม. 8 ราย เกิดขึ้นในแฟลตที่พักของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ พนักงานรักษาความปลอดภัย 4 ราย พนักงานบริษัท 2 ราย และไม่ระบุ 2 ราย มีความเชื่อมโยงหลายส่วนทั้งแฟลตที่พัก ใกล้ตลาดที่มีแรงงานพม่าอยู่ด้วย อาจเชื่อมโยงกับแรงงานด้วยหรือไม่ ก็ต้องมีการสอบสวนต่อ ส่วนมหาสารคามเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์เดิม” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

Advertisement

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การตรวจเชิงรุกในสมุทรสาครทำไปแล้วแสนกว่าราย ตรวจพบ 7 พันกว่าราย คิดเป็นประมาณ 17% ทั้งนี้ โรงงานที่มีการติดเชื้อสูงมี 9 โรงงาน โดย 4 โรงมีคนงานจำนวนหลักหมื่นรายและติดเชื้อสูงสุด อัตราติดอยู่ที่ 26-27% ได้ทำการตรวจและใช้ระบบ Bubble and Seal ซึ่งคนที่ยังไม่ติดการมีคนติดมากขนาดนี้ก็อาจติดตามไปด้วยตามธรรมชาติ ถ้าเข้าไปตรวจก็จะเจอคนติดเรื่อยๆ แน่นอน แต่ที่ไม่ได้เข้าไปตรวจเพราะไม่ได้มีประโยชน์อะไรในการเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินงาน เนื่องจากถูกกักไว้อยู่แล้ว ก็ต้องทอดเวลารอออกไปให้เกิดการติดเชื้อและจะทยอยตรวจหาภูมิคุ้มกัน ถ้ามีภูมิคุ้มกันจำนวนมากขึ้นเป็นไปตามที่คาดคิด ก็อาจผ่อนคลายที่จะวางแผนมาตรการเพื่อเปิดเมืองขึ้นมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image