อนุทิน แย้มแจ้ง ‘บิ๊กตู่’ ประเดิมวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มแรก คาดพร้อมฉีด 11 มี.ค.

อนุทิน แย้มแจ้ง ‘บิ๊กตู่’ ประเดิมวัคซีนแอสตร้าฯ เข็มแรก คาดพร้อมฉีด 11 มี.ค.

วันที่ 8 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. กล่าวว่า วัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำนวน 117,000 โดส กรมควบคุมโรคจะได้รับมอบในวันนี้ หลังจากนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ต้องนำไปตรวจสอบรับรองรุ่นการผลิต (Lot Release) คาดว่าใช้เวลา 2-3 วัน ซึ่งเร็วสุดที่พร้อมฉีดก็จะเป็นวันที่ 11 มีนาคมนี้ ก็จะต้องแจ้งไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการฉีดท่านเป็นเข็มแรก ว่าท่านสะดวกฉีดวันใด แต่ต้องฉีดในสถานพยาบาล ซึ่งคาดว่าที่สถาบันบำราศนราดูร

“ส่วนการกระจายวัคซีนแอสตร้าฯ เราเอาใจแฟนๆ ไม่ได้ เราต้องกระจายไปพื้นที่ที่ต้องการจริงๆ เพื่อให้เห็นผล หากฉีดกระจายเพื่อสร้างความมั่นไปก็คงไม่เห็นผล ดังนั้นเราต้องฉีดโถมเข้าไปในพื้นที่ระบาด เพื่อให้เกิดผลและลดการระบาด” นายอนุทิน กล่าวและว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนโควิด-19 จำนวน 63 ล้านโดส ซึ่งครอบคลุมประชาชน 31.5 ล้านคน หากตัดหญิงตั้งครรภ์และคนอายุน้อยกว่า 18 ปี ก็ยังขาดอีกประมาณ 10 ล้านโดส การหาเพิ่มก็อาจสั่งจากแอสตร้าฯ เพิ่มได้ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ ซึ่งการจัดหาต้องบริหารจัดการให้พอดีทั้งงบประมาณ การจัดเตรียม ความสามารถการจัดส่งวัคซีน ไม่ใช่ซื้อได้ถูกแต่ส่งมาปีหน้า หรือซื้อแพงแล้วส่งได้เลย ทุกอย่างต้องบริหารจัดการ หาจุดลงตัว ไม่ล่าช้าจนเกิดอันตราย และมีประสิทธิภาพประสิทธิผลตามหลักการ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 นายอนุทิน กล่าวว่า หากเอกชนจะนำเข้าวัคซีน ก็สามารถทำได้แต่ต้องนำมาขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับต้องมีเอกสารข้อมูล รับรองผลของวัคซีน เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตรวจสอบขึ้นทะเบียนใช้ในประเทศไทย ยืนยันว่า เราเปิดกว้างในเรื่องนี้ และนับว่าเป็นการแบ่งเบาภาครัฐ จัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย แต่ก่อนจะนำเข้ามาได้ก็ต้องทำตามหลักการของกรมควบคุมโรค เป็นมาตรฐานเดียวกันกับที่ฉีดในสถานพยาบาลของรัฐ เช่น การเฝ้าสังเกตอาการหลังฉีด 14 วัน การติดตามผลหลังฉีดต่อเนื่อง การออกใบรับรองการฉีดวัคซีน ไปจนถึงเก็บข้อมูลเอกสาร รายงานไปยัง สธ. ส่วนการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนที่ฉีดจากเอกชน จะต้องมีการประชุมหารือร่วมกัน

Advertisement

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการไม่พึ่งประสงค์ในวัคซีนที่เกิดขึ้นหลังรับวัคซีน ไม่ใช่อาการแพ้วัคซีน คำว่าไม่พึ่งประสงค์ แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับไม่รุนแรง และรุนแรง โดยอาการไม่พึ่งประสงค์แบบไม่รุนแรง พบเป็นส่วนใหญ่ เช่น มีไข้ แสบคัน ปวด เจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน ส่วนอาการไม่พึ่งประสงค์แบบรุนแรง จะต้องมีไข้สูงหมดสติ หัวใจหยุดเต้น ป่วยหนักต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) ซึ่งต้องมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญมาวินิจฉันตรวจสอบว่าใช่ความรุนแรงจากวัคซีนหรือไม่ ซึ่งที่หลังจากมีรับวัคซีน พบอาการไม่พึ่งประสงค์แบบไม่รุนแรงแค่ ร้อยละ 3 เท่านั้น

“กรณีแพทย์หญิง อายุ 28 ปี จ.สมุทรสาคร ไม่ใช่การแพ้วัคซีน แต่เป็นอาการท้องเสีย ขณะเดียวกัน นส่วนของพยาบาล อายุ 39 ปี จ.ราชบุรี อาการดีขึ้น และเมื่อเทียบกับเคสสมุทรสาคร ถือว่าอาการรุนแรงน้อยกว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการว่า อาการที่เกิดขึ้นเกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่” นพ.โอภาสกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image