‘อนุทิน’ ตรวจความพร้อม ‘อาคารนิมิบุตร’ ก่อนเปิดศูนย์แรกรับพรุ่งนี้

‘อนุทิน’ ตรวจความพร้อมอาคารนิมิบุตร ก่อนเปิดศูนย์แรกรับพรุ่งนี้ ย้ำรับเฉพาะกลุ่มตกค้าง หากติดเชื้อ 1-2 วันให้รอเตียงตามระบบ แนะโทรติดต่อเข้ามาก่อน จัด 40 คู่สายรับเรื่องและรีเช็ก หลังรับตัวแยกระดับอาการพร้อมส่งต่อทันที หากเตียง รพ.เต็ม รับกลุ่มอาการสีเหลืองมาดูแลได้ 200 เตียง ส่วนที่ต้องใช้ไอซียูส่งไป รพ.ปริมณฑล คาด 1-2 สัปดาห์เคลียร์ได้ หลังจบภารกิจปรับเป็นจุดฉีดวัคซีน

วันที่ 29 เมษายน อาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และผู้บริหาร สธ. ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมก่อนเปิดศูนย์แรกรับและส่งต่อ กระทรวงสาธารณสุข (Pre-Admission Center MOPH) อย่างเป็นทางการ

นายอนุทินกล่าวว่า สธ.ได้รวมสรรพกำลังทุกกรมในการตั้งศูนย์แรกรับแห่งนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อแบ่งเบาภาระของ กทม. ในการบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยโควิด ซึ่งตอนนี้ยังมีผู้ป่วยตกค้างอยู่ที่บ้าน ทำให้เกิดความกังวลทั้งตัวผู้ป่วยและญาติที่อาจมีการแพร่เชื้อต่อได้ จึงตั้งศูนย์แห่งนี้ขึ้นโดยจะเปิดรับผู้ติดเชื้อตกค้างที่บ้านได้วันที่ 30 เมษายนเป็นต้นไป ส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่ขอให้รอเตียงตามระบบปกติก่อน ทั้งนี้ ขอให้ผู้ป่วยโควิดตกค้างที่ยังไม่มีเตียงมานานหลายวัน หรือยังไม่มีรถพยาบาลไปรับจริงๆ ติดต่อเข้ามาที่ศูนย์แรกรับแห่งนี้ก่อนเดินทางเข้ามา โดยติดต่อที่เบอร์ 02-079-1000 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเอไอเอสมาตั้งคอลเซ็นเตอร์ 40 คู่สาย

“ขอให้โทรติดต่อเข้ามาก่อน เพื่อตรวจสอบว่าเป็นผู้ป่วยตกค้างจริงหรือไม่ โดยให้แจ้งชื่อนามสกุล ซีเรียลนัมเบอร์ของผลการตรวจเชื้อ แจ้งอาการ ระยะเวลาที่รอ ซึ่งทางนี้มีระบบตรวจสอบกลับไปยังต้นทางได้ ซึ่งหากผลติดเชื้อเพิ่งออกมาเมื่อวาน เราก็ยังไม่รับตัวมา เพราะอาจอยู่ในระบบการหาเตียง แต่หากหลายวันแล้วยังไม่ได้เตียงก็จะมีรถพยาบาลจากเครือข่ายสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ไปรับ หรือเดินทางมาด้วยรถส่วนตัว อย่าเดินทางโดยรถสาธารณะเด็ดขาด” นายอนุทินกล่าว

Advertisement

นายอนุทินกล่าวว่า เมื่อมาถึงจะมีการซักประวัติคัดกรองอาการของผู้ป่วยว่าอยู่ระดับสีใด หากเป็นสีเขียวจะส่งต่อไปยัง รพ.สนามหรือ ฮอสปิเทลทันที หากอาการสีเหลืองหรือสีแดงก็จะส่งไปยัง รพ.ที่ดูแลตามระดับอาการได้ หากยังหาเตียงไม่ได้ก็จะรับไว้ดูแลที่นี่ ซึ่งภายในจัดเป็นสถานพยาบาลรองรับ 200 เตียง มียา อุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่างๆ พร้อม ถือว่าอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ พยาบาลแน่นอน แต่กลุ่มที่ต้องได้เตียงไอซียูหรือเครื่องช่วยหายใจ หากเตียงใน กทม.เต็มจริงๆ ก็สามารถส่งไปยัง รพ.ในปริมณฑลได้ ทั้งนนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ซึ่ง รพ.ระดับอำเภอก็มีเตียงไอซียู

“1 สัปดาห์จากนี้ไปจะทำให้ไม่มีผู้ป่วยตกค้างที่บ้านที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา จะทำให้คนติดเชื้อเข้าถึงการรักษาพยาบาลครบทุกคน ซึ่งหวังว่าจะตั้งศูนย์แรกรับไม่นาน และไม่ต้องเปิดเพิ่ม เพราะมีการออกมาตรการต่างๆ ทั้งทำงานที่บ้าน จะเห็นว่าถนนโล่ง คนออกจากบ้านน้อยลง ลดการรวมตัว มีการปิดผับบาร์ ห้ามขายเหล้า จำกัดเวลาเปิดห้าง ก็เชื่อว่าผู้ติดเชื้อน่าจะลดลง หลังผ่านวงรอบการติดเชื้อนี้ไปแล้ว ขอให้มั่นใจว่าเราน่าจะควบคุมสถานการณ์ได้โดยเร็ว” นายอนุทินกล่าว

Advertisement

นายอนุทินกล่าวอีกว่า หลังจากหมดภารกิจจะปรับสถานที่แห่งนี้เป็นหน่วยบริการฉีเวัคซีนเช่นเดียวกับ รพ.สนามที่มีการเปิดอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งประชาชนสามารถวอล์กอินเดินเข้ามารับบริการได้ เพราะตั้งแต่ มิ.ย.นี้เป็นต้นไปที่จะมีวัคซีนล็อตใหญ่ ซึ่งรัฐบาลจัดให้คนไทยทุกคนอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนยังต้องสังเกตอาการ 30 นาที ซึ่งภายในเป็นสถานพยาบาลมาก่อนก็มีความพร้อมในการดูแลหากมีอาการหลังฉีดวัคซีน ทำให้การรับวัคซีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและฉีดครอบคลุมจำนวนมากที่สุด

“ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขไม่ได้ล้มเหลวหรือบกพร่อง นี่คือตัวพิสูจน์ความพร้อมของระบบในการบริการดูอลผู้ป่วยทุกคนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านความร่วมมือของภาครัฐและการสนับสนุนจากเอกชน เช่น สมาคมโรงแรมจัดแม่บ้านมาช่วยปูเตียง มีการสนับสนุนกล้องวงจรปิด เคนื่องวัดออกซิเจน วัดไข้ต่างๆ การสนับสนุนอาหารแก่ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่” นายอนุทินกล่าว

เมื่อถามว่าใช้เวลาในการรับส่งต่อนานแค่ไหน นายอนุทินกล่าวว่า เมื่อคัดกรองอาการแล้วมีการส่งต่อทันทีที่หาเตียง รพ.ให้ได้ คาดว่าใช้เวลาไม่นาน ดังนั้น ขอว่าญาติไม่ต้องมาเยี่ยม เพราะไม่อนุญาตให้เข้าไป และผู้ป่วยอาจถูกส่งไปยัง รพ.อื่น หรือ รพ.สนามแล้ว แต่กลุ่มที่อยู่ที่นี่ก็ไม่ต้องกังวล เะราะมีการต่อสายไฟให้สามารถชาร์จโทรศัพท์ มีติดไวไฟให้ใช้สัญญาณได้

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัด สธ.กล่าวว่า ผู้ป่วยโควิดตกค้างทุกรายที่เข้ามาจะได้รับการซักประวัติ คัดกรองปอดอักเสบด้วยการเอกซเรย์ปอดทุกคน เพื่อแยกกลุ่มอาการเขียวเหลืองแดง โดยจะมีจัดไว้ 20 เตียงบริเวณชั้นหนึ่งเพื่อรอผลตรวจ หากทุกอย่างเรียบร้อยส่งได้จะส่งตัวไปทันที แต่หากยังส่งไม่ได้เช่นติดช่วงเวลากลางคืนก็นอนตรงนี้ก่อน

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โดยปกติคนที่ทราบว่าติดเชื้อก็จะมีความเครียดอยู่แล้ว และอาจยังมีภาระบางอย่างที่บ้าน ซึ่งการต้องมาอยู่ 14 วันก็อาจมีความเครียดได้ รวมถึงการเข้ามาอยู่รวมกันคล้าย รพ.สนาม ต้องดูแลตัวเอง มีการอยู่ร่วมกับคนอื่น ก็ต้องมีการปรับตัว ทั้งนี้ ทางสุขภาพจิตก็จะช่วยดูแลและประเมินร่วมกับทีมแพทย์ทางกาย เพื่อแบ่งเบาภาระตรงนี้ เพราะสิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลสร้างความเข้าใจตั้งแต่แรก จะช่วยลดข้อกังวลหรือความเครียดต่างๆ ลงได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image