ศบค.ปรับ 6 จว.เป็นสีแดงเข้ม ห้ามกินที่ร้าน ขอ WFH 100% เริ่ม 1 พ.ค. ยันไม่ใช่เคอร์ฟิว

ศบค.เข้มมาตรการ กลับมากักตัว 14 ทุกกรณี ปรับระดับพื้นที่ 6 จังหวัดเป็นสีแดงเข้ม ห้ามรับประทานอาหารในร้าน งดข้ามจว. ขอ WFH 100% เริ่มบังคับใช้ 1 พ.ค. ยัน ไม่ใช่เคอร์ฟิว สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องปรับแนวทางลงโทษคนไม่ใส่หน้ากาก กางแผน เร่งฉีดวัคซีนให้ได้ 15-30 ล้านโดสต่อเดือน ระบุ 14 วันนี้หากตัวเลขดี อาจลุ้นผ่อนคลาย

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 29 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 6/2564 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบปรับระยะเวลาการกักตัวผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลา 14 วัน จากเดิมที่เคยลดไปเหลือ 10 วันสำหรับคนทั่วไป และ 7 วันสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว และไม่ให้ผู้ที่กักตัวออกจากห้องพัก เว้นแต่เพื่อทำการตรวจหาเชื้อ สำหรับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. และจะเดินทางถึงราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.ต้องตรวจหาเชื้อถึง 3 ครั้ง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบการปรับระดับพื้นที่ของสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร ประกอบด้วย พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือสีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้แก่ กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือสีแดง จากเดิม 18 จังหวัด เป็น 45 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ เชียงราย ตาก ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ภูเก็ต มหาสารคาม ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สระแก้ว สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อ่างทอง อุดรธานี อุบลราชธานี พื้นที่ควบคุม หรือสีส้ม จากเดิม 59 จังหวัด เป็น 26 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร ตราด นครนายก นครพนม หนองคาย บึงกาฬ บุรีรัมย์ พังงา พะเยา แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร เลย สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อำนาจเจริญ

สำหรับการยกระดับมาตรการตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักรนั้น ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 20 คน งดรับประทานอาหารในร้าน โดยให้ซื้อกลับบ้านได้ไม่เกิน 21.00 น. ร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง เปิดบริการ 04.00 – 23.00 น. ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนคน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ขณะที่สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคาร สถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการที่มีการรวมคนจำนวนมาก ปิดสถานที่เสี่ยงหรือสถานที่ที่มีกิจกรรมเสี่ยง ยกเว้นสถานที่เล่นกีฬากลางแจ้งเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. แข่งขันโดยไม่มีผู้ชม นอกจากนี้ ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดงดการเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อลดการเดินทางที่อาจเสี่ยงต่อการติดโรค ถ้ามีสาเหตุจำเป็นสามารถขออนุญาตเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ตั้งด่านอยู่ได้ ยืนยันว่าไม่ใช่เคอร์ฟิวส์ แต่เป็นการขอความร่วมมือ

Advertisement

ส่วนพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน บริโภคในร้านอาหารได้ไม่เกิน 21.00 น. สั่งกลับบ้านไม่เกิน 23.00 น. แต่งดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน ส่วนร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง เปิดบริการได้ตามปกติ แต่ไม่เกิน 23.00 น.โดยสถานที่ที่เปิดบริการ 24 ชั่วโมงให้เริ่มเปิดดำเนินการได้ตอน 04.00 น. ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนคน งดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ขณะที่สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคาร สถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการที่มีการรวมคนจำนวนมาก ในส่วนของสถานที่ออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส เปิดให้บริการได้ไม่เกิน 21.00 น. สามารถจัดแข่งขันกีฬาได้โดยจำกัดผู้ชม สำหรับการตั้งจุดสกัดหรือจุดคัดกรอง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเท่าที่จำเป็นและต้องไม่เป็นการก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินกว่าเหตุ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่พื้นที่ควบคุม ให้สวมหน้ากากอนามัย/หน้ากากผ้า เมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ ห้ามจัดกิจกรรมรวมคนมากกว่า 50 คน บริโภคในร้านอาหารได้ไม่เกิน 23.00 น. แต่งดจำหน่ายและดื่มสุราในร้าน ส่วนร้านสะดวกซื้อ ตลาดโต้รุ่ง เปิดบริการตามปกติตามมาตรการที่กำหนด ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดบริการตามปกติไม่เกิน 21.00 น. โดยจำกัดจำนวนคนและงดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ขณะที่สถานศึกษาทุกระดับและสถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคาร สถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน กิจกรรมการที่มีการรวมคนจำนวนมาก สถานที่เล่นกีฬาเปิดปกติแข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชม/ผู้เล่น

สำหรับมาตรการควบคุมและบูรณาการทุกพื้นที่คือ การสวมกากอนามัยและหน้ากากผ้าที่ก่อนหน้านี้เคยมีปัญหาเรื่องบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ยอมให้ปรับ และอ้างว่าต้องให้ศาลเป็นผู้ปรับนั้น กรมควบคุมโรคได้เสนอคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเพื่อออกระเบียบเปรียบเทียบปรับ โดยมาตรการต่างๆ จะให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย และกทม.ดำเนินการออกระเบียบคาดว่า ภายใน 1 สัปดาห์น่าจะได้ข้อกำหนดแนวทางใหม่ขึ้นมา ระหว่างนี้ให้ดำเนินการตามมาตรการที่เหมาะสมไปก่อน อย่างไรก็ตาม ก่อนเปรียบเทียบปรับ อาจให้มีมาตรการอื่น เช่น ตักเตือน หรือให้บำเพ็ญสาธารณะประโยชน์แก่สังคม นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนงดกิจกรรมทางสังคมในลักษณะที่เป็นงานสังสรรค์ รื่นเริง ในช่วงนี้ก่อน ยกเว้นกิจกรรมตามประเพณีนิยม เช่น งานศพ หรือกิจกรรมในครอบครัว โดยต้องมีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ สำหรับการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ให้หัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เจ้าของกิจการ ผู้ประกอบการภาคเอกชน พิจารณาดำเนินการขั้นสูงสุดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อลดการเดินทาง ขอความร่วมมือทำให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเราไม่ได้ล็อคดาวน์ ถ้าทำไม่ได้ให้ลดหลั่นลงมา ทั้งนี้ ข้อกำหนดเหล่านี้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.

Advertisement

ส่วนมาตรการเรื่องวัคซีน โควิด-19 ที่มีแผนการฉีดวัคซีนให้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย 100 ล้านโดส โดยจากประชากร 70 ล้านคนต้องได้รับวัคซีน 70% คิดเป็นจำนวน 50 ล้านคน ขณะนี้ประเทศไทยจัดหาได้แล้ว 63 ล้านโดส ดังนั้ นจึงต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 37 ล้านโดสสำหรับประชากรในประเทศ จำนวน 18.5 ล้านคน สิ่งที่เราจะต้องทำคือต้องหาวัคซีนให้ได้เพียงพอและทันเวลาโดยจะต้องฉีดเข็มที่สองเสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2564 หากสามารถจัดหาวัคซีนได้ 20 ล้านโดสต่อเดือน จะทำให้สามารถฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมตามแผนที่ตั้งไว้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอเป็นแผน เพื่อฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่อื่นที่สัมผัสโรค เช่น ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ที่ทำงานสถานกักกัน อาชีพเสี่ยง พนักงานขับรถสาธารณะ ครู ประชาชนผู้มีโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป ซึ่งแผนต่างๆ ได้วางไว้ทั้งหมดแล้วนอกจากนี้ยังมีการลงไปในรายละเอียดว่าเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการฉีดจะเป็นไปตามแผนที่จะครอบคลุมประชากรภายในปี 2564

ทางกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า จะมีจุดบริการที่จะฉีดวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาล จำนวน 1,000 แห่ง แห่งละ 500-1,000 โดสต่อวัน รวม 5 แสน ถึง 1 ล้านโดสต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน คิดเป็น 15-30 ล้านโดสต่อเดือน ทั้งนี้ จะฉีดครบ 100 ล้านโดสภายในระยะเวลา 4-7 เดือนคือ ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ส่วนกรุงเทพมหานครที่เป็นพื้นที่เปราะบางทางพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผอ.ศบค. ได้มีความเป็นห่วงมากจึงต้องให้จัดจุดบริการต่างๆ และให้เพิ่มจุดบริการนอกโรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ศูนย์ประชุม ฯลฯ จุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 100 แห่ง แห่งละ 1,000 โดสต่อวัน รวม 1 แสนโดสต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน เท่ากับ 3 ล้านโดสต่อเดือน โดยจะได้รับเข็มที่หนึ่งครบภายในระยะเวลา 3 เดือนคือ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564

กระทรวงสาธารณสุขขอเสนอให้พิจารณาใน 3 ข้อคือ 1.แผนการจัดหา การจัดฉีดวัคซีน โควิด-19 จำนวน 100 ล้านโดส 2.ทราบโครงการการจัดหา จัดซื้อวัคซีน โควิด-19 เพิ่มเติม สำหรับประชากรในประเทศไทยจำนวน 18.5 ล้านคนหรือ 37 ล้านโดส โดยการจัดซื้อรวมเป็นวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหาจัดซื้อสำหรับประชากรทั้งสิ้นจำนวน 50 ล้านคนหรือวัคซีนจำนวน 100 ล้านโดส และ3.ขออนุมัติหลักการ ให้ทางภาครัฐและเอกชน จัดหาจัดซื้อวัคซีน โควิด-19 ให้วัคซีนที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและราคา เพื่อให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครอบคลุมร้อยละ 70 โดยเร็วที่สุด โดยภาครัฐจัดหาวัคซีน ไฟเซอร์จำนวน 5-20 ล้านโดส สปุตนิกวี จำนวน 5-10 ล้านโดส Johnson & Johnson จำนวน 5-10 ล้านโดส และซิโนแวค 5-10 ล้านโดส หรือวัคซีนอื่นเช่น โมเดิร์นนา ซีโนฟาร์ม หรือบารัท หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยภาคเอกชนไม่ได้ถูกตัดออกจากความร่วมมือ ยังสามารถที่จะร่วมจัดซื้อได้

โดยข้อสรุป ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ให้มอบหมายให้ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขาภายใต้ คณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ ทำงานร่วมกับภาคเอกชน 4 ด้านคือ 1.การจัดทำแผนกระจายวัคซีนให้กับแรงงานในระบบประกันสังคมและประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในระยะถัดไป 2.ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชนในการกำหนดสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการกระจายวัคซีนให้กับแรงงานในระบบประกันสังคมในจังหวัดต่างๆ 3 ประสานงานกับ สปสช. แรงงาน และภาคเอกชนในการรวบรวมตรวจสอบข้อมูลความต้องการวัคซีนของแรงงานในระบบประกันสังคม และจัดส่งให้กรมควบคุมโรคทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดำเนินการต่อไป และ4. ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลดปัญหาอุปสรรค ในกรณีที่ภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนด้วยตนเองในระยะต่อไป โดยจะนำเสนอผลการดำเนินงานต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการศูนย์สถานการณ์ โควิด-19 ต่อไป

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า มาตรการต่างๆ ที่พยายามทำกันขึ้นมาโดยหลักการไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้เกิดความลำบากในชีวิตของท่าน แต่อย่างน้อยต้องขอให้ลดการเดินทาง ลดการพบปะ และให้ทำงานที่บ้านกันให้มาก เพราะการติดต่อเกิดจากคนต่อคนเพราะฉะนั้นหากรถการติดต่อก็จะลดการระบาดจึงขอแรงพี่น้องประชาชนทุกท่านทำความเข้าใจให้ปฏิบัติและทำตามเรื่องที่เราได้ช่วยกันคิดช่วยกันทำขึ้นมา 14 วันนี้หากตัวเลขลดลงการผ่อนคลายก็จะเกิดขึ้น

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image