‘ศิริกัญญา’ ชี้โควิดระลอก3 สะท้อนเหลื่อมล้ำ เผยเงินกู้ก้อนใหม่ ฟื้นศก.ได้แต่ไม่ใช่รบ. ‘บิ๊กตู่’

‘ศิริกัญญา’ ชี้โควิดระลอก3 สะท้อนเหลื่อมล้ำ โอกาสเข้าถึงสาธารณสุขคนจน ต่างจากคนมีฐานะ เผยเงินกู้ก้อนใหม่ สามารถช่วยฟื้นฟูศก.ได้แต่ไม่ใช่รบ. ‘บิ๊กตู่’

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 8 พฤษภาคม ที่ห้องประชุมไทยไม่ทน สถานี Peace TV รามอินทรา กลุ่มไทยไม่ทน โดยสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย ได้เปิดเวทีอภิปรายออนไลน์

โดยในตอนหนึ่ง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ฝ่ายนโยบาย และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาเศรษฐกิจ อภิปรายเรื่อง “ปัญหาสังคมเศรษฐกิจการเมือง กับอนาคตประเทศไทย ในวันที่ไม่มีพล.อ.ประยุทธ์ฯ”

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนี้เป็นวิกฤติเศรษฐกิจที่ มาพร้อมทั้งด้านสาธารณสุขและด้านการเมือง แต่ขณะนี้ สิ่งที่หนักหนากับชีวิตของประชาชนมากที่สุดคือ เรื่องของปากท้อง ถึงแม้จะไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ แต่ก็ดูเหมือนกับการล็อกดาวน์เข้าไปทุกวัน จะขาดก็แค่ประกาศเคอร์ฟิวและการตั้งด่านตรวจเท่านั้น ทุกวันนี้ประชาชนไม่อยากออกไปข้างนอก เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนหลักพันต่อวัน แต่คนที่หาเช้ากินค่ำ ถึงไม่อยากออกก็ต้องออก เพราะไม่รู้จะเอาอะไรกิน เศรษฐกิจในวันนี้ กิจกรรมต่างๆที่ชะลอตัวเทียบเท่ากับการระบาดระลอกที่ 1 แล้ว

Advertisement

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตนได้ร่วมมือกับนายณัชชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก.ก. ทำโครงการช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของประชาชน พบว่ามีแต่ความหดหู่ เพราะว่ามาตรการที่รัฐมีอยู่ในตอนนี้ ไม่สามารถที่จะช่วยเหลือประชาชนได้เลย ประชาชนบอกกับเราว่า เขาสู้ยิบตามาโดยตลอด พยายามหารายได้ เมื่อปีที่แล้วทุกอย่างเหมือนจะดีขึ้น แต่ตอนนี้กลับมาเจอปัญหาอีกรอบ เพราะเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกที่ 3 หลายคนต้องตกงานอย่างกะทันหัน เมื่อมีประกาศปิดสถานประกอบการ เมื่อวันที่ 29 เมษายน ส่วนหนี้สินที่เคยไปเจรจากับธนาคารไว้ ว่าจะสามารถลดหย่อนในเรื่องค่าผ่อนในแต่ละเดือนให้ลดลงได้ พอตกงานก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ทุกคนพยายามดิ้นรนอย่างสุดความสามารถ แต่ตอนนี้ต้องมารับผลกรรมจากความผิดที่ไม่ได้ก่อ แบบนี้ยุติธรรมหรือไม่

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา ก็อดที่จะเปรียบเทียบกับ มาตรการเยียวยาในรอบที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะการระบาดระลอกแรกนั้นยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดประมาณ 200 คนต่อวัน มีการล็อคดาวน์และประกาศเคอร์ฟิว ตอนนั้นรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยา 15,000 บาทต่อคน ส่วนในระลอกที่ 2 ยอดผู้ติดเชื้อสูงสุดเกือบ 1,000 คนต่อวัน รัฐบาลแจกเงิน 7,000 บาทต่อคน ในขณะที่ระลอกที่ 3 จำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดเกือบ 3,000 คนต่อวัน แต่สิ่งที่รัฐบาลหยิบยื่นให้ คือ เงินจำนวน 2,000 บาทต่อคน โดยคาดว่าทุกอย่างจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ โดยวันที่ 9 เมษายน จะครบกำหนดการประกาศปิดสถานประกอบการต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็ยังไม่เห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะดีขึ้นแม้แต่น้อย ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็ประกาศว่าจะยืดอายุการปิดสถานประกอบการไปอีก อย่างน้อย 8 วัน เท่ากับว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาคือความสูญเปล่า สาธารณสุขก็พัง เศรษฐกิจก็พัง โดยที่ยังไม่มีใครรับผิดชอบ ชีวิตของประชาชน ยังไม่ได้ถูกเยียวยาอย่างเพียงพอ

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 2 ตนเคยพูดแล้วว่าถ้าคิดจะจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น ก็อย่าลืมแจกสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตฟรีให้ประชาชนด้วย จนผ่านมาถึงระลอกที่ 3 ก็ยังคงดันทุลังทำแบบเดิมไม่ยอมจ่ายเป็นเงินสด ในขณะที่ค่าใช้จ่ายของประชาชนล้วนแต่ต้องใช้เงินสดเท่านั้น ถ้าที่ผ่านมารัฐบาลไม่ปิดตาเราจะเห็นว่ามีคนที่รับแลกเงินจากแอปฯ ให้จ่ายเป็นเงินสด โดยคิดค่าหัวคิว 10-20% ถ้ารัฐบาลไม่ปิดหูปิดตา จะต้องได้ยินเสียงประชาชนเรียกร้องให้จ่ายเงินชดเชยเป็นเงินสด เพราะตอบโจทย์ชีวิตของประชาชนมากกว่า

Advertisement

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า นอกจากเงินเยียวยาแล้วยังมีการช่วยเรื่องค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า โดยใช้ค่าไฟเดือนเมษายนเป็นฐาน หากใช้ค่าไฟเกินจากเดือนเมษายนถึงต้องเริ่มจ่ายนั้น สำหรับเดือนเมษายนเป็นเดือนที่ค่าไฟฟ้าสูงที่สุดในรอบปี หมายความว่าจะไม่มีใครได้รับเงินชดเชยค่าไฟในส่วนนี้เลย ส่วนค่าน้ำประปาที่ลด 10% โดยปกติแล้วคนใช้น้ำกันเดือนละ 100-200 บาท เท่ากับช่วยแค่ 10-20 บาทเท่านั้น ในตอนนี้มีการสำรองเงินไว้สำหรับใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นโครงการคนละครึ่ง โครงการยิ่งใช้ยิ่งดี ซึ่งใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ตอนนี้ใช่เวลาที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ในเมื่อประชาชนยังกินไม่อิ่มและการเยียวยายังไม่ได้สัดส่วน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเด่นชัดยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ หรือทรัพย์สินระหว่างคนรวยกับคนจน แต่ที่อัปลักษณ์ที่สุดคือความเหลื่อมล้ำในการรอดชีวิต เมื่อเชื้อโควิด เริ่มแพร่กระจายลงไปยังชุมชนแออัด โอกาสที่คนกลุ่มนี้จะได้รับบริการสาธารณสุขแตกต่างจากคนที่มีฐานะ หากต้องการจะตรวจคัดกรองต้องจ่ายเงิน 1,600 – 4,000 บาท กทม.จัดตรวจฟรีเชิงรุกในแต่ละชุมชน ก็ตรวจได้เพียงวันละ 100 คน ในขณะที่คนในชุมชนมีเป็นหลักพัน

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวด้วยว่า นอกจากอยากจะตรวจก็ไม่ได้ตรวจแล้ว คนจนเมืองก็ไม่มีปัญญาที่จะเข้าไปสู่บริการของโรงพยาบาลเอกชนอย่างแน่นอน ทำให้โอกาสที่จะได้เตียงเมื่อเวลาที่เขาเจ็บป่วย ติดเชื้อ ยิ่งน้อยลงไปอีก เมื่อวาน (วันที่ 7 เมษายน) ตนได้เห็นกับตา เมื่อลงพื้นที่ที่เขตบางแค ยังมีผู้ป่วยในชุมชนที่ต้องตกค้าง ที่ต้องรอความช่วยเหลือ คนจนเมืองอยากจะกักตนเองก็ลำบากแล้ว เช่นนี้คนจนเมืองจะสามารถกักตัวให้รอดพ้นจากการแพร่เชื้อได้อีกกี่คน พ่อแม่ลูกอยู่ในแฟลตห้องเล็กๆ ห้องหนึ่งที่ไม่มีห้องกั้น ผู้เป็นแม่ที่ติดเชื้อต้องนอนตรงระเบียงเพื่อป้องกันตัวเองไม่ให้มาติดลูก ติดสามีในเวลาที่ยังไม่ได้เตียง หรือแม้แต่เวลาคนจนจะเดินทางไปยังโรงพยาบาลก็ไม่มีทางไหน ที่พวกเขาจะลดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อหรือไปติดเชื้อเพิ่ม เพราะบริการขนส่งที่เขาใช้ได้ก็จะมีแต่รถโดยสารสาธารณะเท่านั้น รถยนต์ส่วนตัวเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อไหร่ที่ต้องใช้ขนส่งสาธารณะก็เท่ากับเขาต้องเพิ่มความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อและติดเชื้อด้วย

“มีเรื่องเล่าจากพื้นที่อีกเช่นเดียวกัน มีคนป่วยกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่ได้เตียงและรอเตียงอยู่ แต่ทางโรงพยาบาลก็โทรเรียกให้ไปตรวจร่างกาย ไปตรวจติดตามอาการที่โรงพยาบาล พอตรวจเสร็จก็ยังไม่มีเตียง จึงต้องปล่อยผู้ป่วยเหล่านั้นเดินทางกลับบ้านด้วยรถแท็กซี่ โดยที่ไม่ได้แจ้งรถแท็กซี่ ก่อนล่วงหน้าว่าผู้โดยสารที่กำลังจะรับเหล่านี้เป็นผู้ป่วยโควิด ถามว่าโรงพยาบาลจิตใจทำด้วยอะไร ถึงทำกับคนป่วยเช่นนี้ ถึงทำกับคนขับแท็กซี่เช่นนี้ บริการเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบริการตรวจฟรี ไม่ว่าจะเป็นบริการเตียง การรักษาพยาบาลที่ฟรีไม่ว่าจะเป็นบริการขนส่งบริการรถยนต์เพื่อที่จะขนย้ายผู้ป่วย และผู้ที่มีความเสี่ยง หากเรามีรัฐบาลที่ดี สิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่สิ่งที่คนจนต้องหาเอาเอง ต้องเป็นสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องจัดหาให้ เพราะไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการตรวจ เข้าถึงการรักษา การเดินทางต่างๆ ล้วนแล้วแต่เพิ่มโอกาสที่พวกเขาจะรอดชีวิต จะช่วยชีวิตพวกเขา แต่กลับไม่ใช่ เท่ากับว่า รายได้และฐานะจะเป็นตัวกำหนดว่าอัตราการรอดชีวิตของพวกคุณจะเป็นอย่างไรในขนาดนี้เหตุการณ์ก็เริ่มบานปลายขึ้นเรื่อยๆ ในกรุงเทพมหานคร แต่ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีกลับรวบอำนาจ ตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ของกรุงเทพและปริมณฑล โดยตั้งตัวเองเป็นผู้อำนวยการศูนย์ ซึ่งทำระบบสาธารณสุขทั้งประเทศพัง ไม่พอยังมาคุมกรุงเทพมหานคร ให้กรุงเทพมหานครพัง ไปอีกแห่งหนึ่ง จิตใจคุณทำด้วยอะไร” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเราพูดถึงความล้มเหลวของการบริหารด้านเศรษฐกิจ และหลายครั้ง โควิดก็ต้องมาเป็นแพะ จัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า ก็อ้างว่าเป็นเพราะโควิด กู้ 1 ล้านล้านบาท ได้กระปริบกระปอยก็อ้างว่าเป็นเพราะโควิด ผ่านมาได้ 6 เดือน ครึ่งทางของงบประมาณปี 2564 แล้ว รัฐบาลจัดเก็บรายได้พลาดเป้าไป 1.4 แสนล้านบาท และมีโอกาสว่าปีนี้ทั้งปีเราจะพลาดเป้าที่จะใช้งบประมาณได้อย่างเต็มจำนวน มองอย่างผิวเผินทุกคนคงบอกว่าเป็นเพราะโควิด ทำให้รายได้ก็ลดลงรัฐบาลจึงเก็บภาษีได้ลดลง แต่ในความเป็นจริงเป็นเพราะความประมาทของรัฐบาลชุดนี้ ในการประมาณการรายได้ที่ไปหยิบเอาประมาณการรายได้ของงบประมาณปี 2564 ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิดระลอกแรก มาใช้ด้วยซ้ำ สุดท้ายก็ต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางการคลัง เนื่องจากคำนวณรายได้ผิดพลาด และอาจจะไม่สามารถใช้งบประมาณได้เต็มตามที่วางแผนไว้ ตามที่ขอสภาไว้ 3.28 ล้านล้านบาท เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเรามีผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ที่มีความรู้ความสามารถมากพอที่จะดูออกตั้งแต่ตอนที่มีเอกสารงบประมาณเข้ามาสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) งบประมาณปีนี้ที่ผ่านไปครึ่งทางเบิกจ่ายได้อย่างล่าช้ามาก

น.ส.ศิริกัญญา กล่าวอีกว่า ในส่วนของงบลงทุนเพิ่งจะเบิกไปได้แค่ 20% ทำให้สูญเสียโอกาสที่ประชาชนจะได้รับบริการต่างๆ ที่รัฐบาลจะหยิบยื่นให้ผ่านงบประมาณเสียโอกาสที่จะเกิดการจ้างงาน ให้เศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดการลงทุนจากภาครัฐ วันนี้จะไม่เกิดขึ้นหากเรามีรัฐมนตรีที่มีภาวะเป็นผู้นำ ปีที่แล้วสภาได้อนุมัติเห็นชอบพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และมีส.ส.หลายคนได้อธิบายไปแล้วว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ไม่ถูกใช้อย่างเต็มที่ส่วนที่มีการเบิกจ่ายไปมากที่สุด คือการเยียวยาประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วแต่งบประมาณด้านสาธารณสุข ที่กันไว้ถึง 45,000 ล้านบาท มีงบส่วนหนึ่งที่จะเอาไว้เพื่อซื้อเครื่องช่วยหายใจเพื่อนำไปจ่ายตามโรงพยาบาลต่างๆ งบอีกส่วนหนึ่งได้กันไว้เพื่อให้โรงพยาบาลปรับปรุงระบบการปรับอากาศต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการดูแลผู้ป่วยโควิด งบประมาณเหล่านี้ถูกอนุมัติไป ตั้งแต่ปี 2563 เพิ่งถึงโรงพยาบาลในเดือนพฤษภาคมปี 2564 กี่ชีวิตที่ต้องพลาดการช่วยชีวิตไปเมื่อไม่มีเครื่องช่วยหายใจได้อย่างทันที อีกกี่ชีวิตที่อาจจะไม่มีเตียงรองรับเพียงเพราะโรงพยาบาลใกล้บ้านไม่มีระบบปรับอากาศที่เหมาะสำหรับการรองรับผู้ป่วย

“ไม่ต้องพูดถึงงบแผนฟื้นฟู ที่เอาไปลงกับเรื่องที่ไม่รู้ว่าประชาชนจะได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เช่นโครงการโคกหนองนา ซึ่งมีอยู่ 2 โครงการ แต่ใช้คนละชื่อโดยโครงการแรกชื่อว่า โครงการโคกหนองนาโมเดล ซึ่งได้เงินไปเกือบ 5,000 ล้านบาทและอีกโครงการหนึ่งให้อีกหน่วยงานหนึ่งมาทำ จึงต้องใช้อีกชื่อว่า หนึ่งตำบลหนึ่งเกษตรทฤษฎีใหม่ แต่ทั้งสองโครงการคือทำเหมือนกันคือการผลิตซ้ำโครงการโคกหนองนาโมเดล โดยทั้งสองโครงการโชคดีที่ใช้จ่ายเงินไปได้ไม่มากแม้จะดำเนินโครงการมาได้เกิน 6 เดือนแล้ว ก็เบิกจ่ายไปได้แค่ 5-10% ซ้ำร้ายไปกว่านั้นยังมีการตั้งศูนย์การเรียนรู้โคกหนองนา โมเดลถึง 157 แห่ง ให้ไปอยู่ในค่ายทหาร จึงอยากสอบถามกลับไปว่าเราจะไปเรียนรู้โมเดลโคกหนองนาในค่ายทหารจริงหรือ ประชาชนที่ตกงานและต้องกลับบ้านจะอยากเข้าไปเรียนรู้วิถีชีวิตแบบโคกหนองนากันในค่ายทหารจริงหรือ ประชาชนที่ตกงานและอยากกลับบ้านไปทำเกษตรจะได้ประโยชน์จากโคกหนองนาในค่ายทหารจริงหรือ ทุกวันนี้เรามีนายกรัฐมนตรีก็เหมือนไม่มี เพราะเวลาที่เกิดเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานขึ้น คนทำงานหน้างานต้องการผู้นำที่มาช่วยจัดการอุปสรรค จัดการกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ที่อยู่ตรงหน้าให้เขาช่วยเหลือประชาชนได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้นเวลาที่คนต้องการผู้นำที่กล้าหาญมีวิสัยทัศน์กล้าฟันธง เพื่อให้ข้าราชการที่อยู่ด่านหน้าทำงานอย่างคล่องตัวขึ้น แต่กลับไม่เจอผู้นำเช่นนั้นในประเทศนี้ ถึงวันนี้ที่งบประมาณกำลังจะเกิดปัญหาเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่กำลังจะหมดลงสุดท้ายทางออกที่เหลือก็คงหนีไม่พ้นการกู้เงินเพิ่ม และแน่นอนว่าพรรคก้าวไกลก็พูดเสมอว่าด้วยสถานการณ์ทางการคลังของเรายังมีช่องว่างให้กู้ได้อีก หากเงินกู้นั้นจะนำมาเยียวยาช่วยเหลือประชาชน แต่สิ่งที่เราไม่ไว้วางใจคือคนกู้เงิน ดังนั้นเงินกู้ก้อนใหม่ที่จะถูกกู้เพื่อนำมาช่วยเหลือเยียวยาประชาชน เพื่อมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อมาทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาฟื้นคืนการเจริญเติบโตได้อีก จะต้องไม่ถูกทำในรัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา” น.ส.ศิริกัญญา กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image