‘ตรีนุช’ ให้กำลังใจครูพื้นที่สีแดงเข้ม ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด มั่นใจ 1 มิ.ย. ทุกพื้นที่พร้อมเปิดเทอม

‘ตรีนุช’ ให้กำลังใจครูพื้นที่สีแดงเข้ม ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ย้ำไม่ต้องกังวล กำชับจัดการเรียนรู้ควบคู่ความปลอดภัย มั่นใจ 1 มิ.ย. ทุกพื้นที่พร้อมเปิดเทอม

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่หน่วยความร่วมมือบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว กรุงเทพฯ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้เยี่ยมชมการฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด่านหน้า อาสาสมัคร และกลุ่มอาชีพเสี่ยง โดยมีครูจากโรงเรียนพญาไท ร่วมรับการฉีดวัคซีนด้วย ซึ่ง น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า ตนมาให้กำลังใจครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความห่วงใยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเพื่อนครู เนื่องจากใกล้ถึงวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 หรือวันที่ 1 มิถุนายนนี้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)ได้อนุมัติหลักการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจ สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ปกครอง นักเรียน และตัวครูเอง ว่า เราทำการเรียนการสอนภายใต้ความปลอดภัย โดยเริ่มฉีดวัคซีนให้ครูในพื้นที่สีแดงเข้มก่อน จากนั้นจะกระจายครอบคลุมทุกภูมิภาคเป็นลำดับต่อไป ซึ่งคณะกรรมการวัคซีนแห่งซาติกำลังอยู่ระหว่างการจัดสรรวัคซีน คาดว่าในเดือนกรกฎาคมนี้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาจะได้รับการฉีดวัคซีนครบทุกพื้นที่ ทั้งนี้ ยืนยันว่า การฉีดวัคซีนไม่ได้น่ากลัว เพราะตนฉีดมาแล้วและไม่ได้มีผลข้างเคียงอะไร

น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า การเปิดเทอมในวันที่ 1 มิ.ย. ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด -19 นี้ ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงเรียนจะต้องให้ครูและนักเรียนไปโรงเรียนพร้อมกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ เพราะแต่ละโรงเรียนสามารถเลือกรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่และความพร้อมของสถานศึกษา โดย ศธ.มีการเตรียมการเรียนการสอนไว้ 5 รูปแบบ คือ เรียนที่โรงเรียน โดยมีมาตรการเฝ้าระวังตามประกาศของ ศบค., เรียนผ่าน DLTV, เรียนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ, เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต, เรียนที่บ้านด้วยเอกสาร เช่น หนังสือ แบบฝึกหัดใบงาน และในรูปแบบผสมผสาน หรือ อาจใช้วิธีอื่นๆ ซึ่งตนมั่นใจว่าในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ เราสามารถขับเคลื่อนเรื่องการเรียนรู้ของเยาวชนได้ในรูปแบบที่เหมาะสมและเน้นในเรื่องของความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง โดยได้กำชับให้ศึกษาธิการจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้อำนวยการโรงเรียน ประเมินว่าในพื้นที่นั้นๆ สามารถจัดการเรียนการสอนได้ในรูปแบบไหน ครูสามารถออกแบบการจัดการศึกษาให้เหมาะสมโดยอาจผสมผสานทั้ง 5 รูปแบบได้ และที่สำคัญ ไม่ว่าโรงเรียนจะเลือกรูปแบบใดก็ตามจะได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image