แพทย์ศิริราชเผยเบ่งเตียงไอซียูเต็มที่ ผู้ป่วยแน่นทุกวัน เตือนถ้าหละหลวม 3 เดือนก็หยุดเชื้อไม่ได้

แพทย์ศิริราชเผยเบ่งเตียงไอซียูเต็มที่ ผู้ป่วยแน่นทุกวัน เตือนถ้าหละหลวม 3 เดือนก็หยุดเชื้อไม่ได้

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในตอนหนึ่งของการแถลงข่าว “ศิริราชรวมพลังภาครัฐ เอกชน ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชน”

รศ.นพ.วิศิษฎ์กล่าวว่า การระบาดระลอกเดือนเม.ย.2564 ทาง รพ.ศิริราช มีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากและมากกว่าครึ่งมีอาการหนัก ข้อมูลล่าสุดเวลา 07.00 น. เรามีผู้ป่วยรวม 126 ราย จากความสามารถรองรับได้ 190 ราย แสดงให้เห็นว่า เรามีผู้ป่วยเต็มเกือบตลอดเวลา โดยเฉพาะผู้ป่วยไอซียู ที่เราขยายเตียงเพิ่มจาก 7 เป็น 16 เตียง เปิดหอผู้ป่วยไอซียูเพิ่มขึ้น โดยใช้เตียงไอซียูเด็กติดเชื้อ เปิดได้เพียงวันเดียวก็มีผู้ป่วยเต็มทุกเตียง ขณะเดียวกัน มีผู้ป่วยวิกฤต ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย ส่วนผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ก็จะถูกส่งไปรพ.สนาม ที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้น เช่น รพ.บุษราคัม รพ.สนามอาคารนิมิบุตร แต่หากผู้ป่วยมีอาการหนัก ก็จะรับกลับเข้ามารักษาใน รพ.ศิริราช อีกครั้ง จึงต้องเรียนว่า สถานการณ์ระบาดยังไม่มีแนวโน้มลดลง ดังนั้น หวังว่าหากเราร่วมใจกันไปฉีดวัคซีนโควิด-19 จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นใน 2 เดือน เพื่อให้เราสู้ศึกครั้งนี้ได้

ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าวว่า ขณะนี้ตัวเลขจากพารามิเตอร์ พบว่า รพ. ในต่างจังหวัดหลายแห่ง มีตัวเลขของการแพร่กระจายเชื้อคนหนึ่งไปสู่อีกคนต่ำกว่า 1 หมายความว่า สามารถแพร่เชื้อต่อได้น้อยกว่า 1 คน ดังนั้นในต่างจังหวัดถือว่าเบาลงไปเยอะ อย่างข้อมูลล่าสุดมี 16 จังหวัด ที่ไม่มีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ แต่ใน กทม. ตัวเลขอยู่ที่ 1.2 หมายถึงแพร่เชื้อต่อได้ประมาณ 1 คนกว่าๆ เกิดจากการปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐบาลออกมา ที่ห้ามไม่ให้คนไปรวมกันเยอะๆ แต่ทุกอย่างต้องเป็นตามมาตรการ ตัวเลข 1.2 ถึงจะเป็นจริง และประมาณไม่ถึง 2 เดือนตัวเลขผู้ป่วยใหม่จะลดลง อยู่ที่ 2 หลักถึง 3 หลักปลายๆ แต่หากอยู่ๆ มีคนไม่ทำตามมาตรการ เช่น รวมตัวดื่มสุรา มีคนลักลอบเข้าประเทศผ่านช่องทางธรรมชาติ ที่เรากลัวคือ สายพันธุ์อินเดีย ซึ่งหากเกิดขึ้น ตัวเลข 1.2 ก็จะไม่เป็นตามนี้ และคาดว่ามากกว่า 3 เดือนตัวเลขผู้ป่วยก็จะไม่ลดลง

Advertisement

“ปีที่แล้วเรามียุทธศาสตร์ 3 อย่างคือ ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งปีนี้เรามีวัคซีน เป็นกลางน้ำ ผู้ที่ติดเชื้อก็จะไม่เกิดอันตราย ลดการเสียชีวิตได้ แต่ขณะนี้มีก็ข้อมูลหลายประเทศ พบว่าอาจมีส่วนลดอัตราติดเชื้อลงได้บ้าง เนื่องจากกลุ่มบุคลากรการแพทย์ที่รับวัคซีน มีอัตราการติดเชื้อในครอบครัวน้อยกว่าบุคลากรที่ไม่ฉีด ดังนั้น หากเราฉีดวัคซีนกันเยอะ ยุทธศาสตร์ต้นน้ำ ก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งเวลา 3 เดือนจากนี้จะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคน” ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image