‘วิษณุ-หมอนิธิ’ชี้แจง ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดช่องนำเข้าวัคซีนทางเลือก

‘วิษณุ-หมอนิธิ’ชี้แจง ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดช่องนำเข้าวัคซีนทางเลือก

‘วิษณุ-หมอนิธิ’ชี้แจง
ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
เปิดช่องนำเข้าวัคซีนทางเลือก

หมายเหตุ – เนื้อหาของประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ชี้แจงถึงการออกประกาศฉบับดังกล่าว

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2564 นั้น

เพื่อให้การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชน ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือผู้ยากไร้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พ.ศ.2560 เป็นไปอย่างทั่วถึง และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อส่วนรวม

Advertisement

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 วรรคสอง ประกอบกับมาตรา 22 (2) แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในการประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2564 โดยคำแนะนำและคำปรึกษาจากประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามมาตรา 23/1 แห่งพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 จึงออกประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ไว้ดังนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ในประกาศนี้

Advertisement

“พระราชบัญญัติ” หมายความว่าพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พ.ศ.2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560

“การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข” ให้หมายความรวมถึงการป้องกันหรือบำบัดโรคการรักษาพยาบาลการควบคุมและฟื้นฟูสุขภาพตลอดจนการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ จัดหา ผลิต ขาย หรือ นำเข้า หรือขออนุญาต และออกใบอนุญาต การขึ้นทะเบียนยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสิ่งอื่นที่จำเป็นหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินการดังกล่าว ทั้งที่ดำเนินการในประเทศและในต่างประเทศ

ข้อ 3 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ให้สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีหน้าที่และอำนาจในการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ และมีอำนาจในการออกข้อบังคับระเบียบและประกาศเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ทั้งนี้ เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติและประกาศฉบับนี้

ข้อ 4 ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้แทนของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในกิจการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ และให้มีอำนาจในการตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์อาจมอบหมายหรือมอบอำนาจให้หน่วยงานของรัฐอื่นใด หน่วยงานภาคเอกชน บุคคล นิติบุคคล ทั้งในและต่างประเทศเป็นผู้ได้รับมอบหมายหรือได้รับมอบอำนาจดำเนินการแทนได้

ข้อ 5 การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ของสำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ตามประกาศฉบับนี้ ให้ดำเนินการโดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นสำคัญ โดยให้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นการเฉพาะ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

ให้สำนักงานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายงานการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ให้ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายกรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ

ข้อ 6 ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอื่นๆ ที่จำเป็นที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จัดหามาเพื่อการให้บริการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ถือเป็นทรัพย์สินของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทั้งปวง ทั้งนี้ ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติ

ข้อ 7 ให้เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ขอรับคำปรึกษาในกิจการทั้งปวงจากประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการดำเนินการให้การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

ข้อ 8 การให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าเป็นการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขแก่ประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์ฉุกเฉิน
อื่นๆ ที่ดำเนินการตามประกาศฉบับนี้

ประกาศ ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2564

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์


ศ.นพ.นิธิ มหานนท์
เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ตามที่มีข่าวประกาศของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในราชกิจจานุเบกษาวันสองวันที่แล้วนั้น ผมขอค่อยๆ อธิบายทุกๆ ท่านให้เข้าใจตรงกันตามนี้
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ออกประกาศ การจัดหา นำเข้า ยา วัคซีน ช่วงโควิด

1.การที่ราชวิทยาลัยฯจะมาช่วยจัดหาวัคซีน “ตัวเลือก” มาให้นั้น เมื่อวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยสามารถผลิตและใช้ได้อย่างเพียงพอในการป้องกันการระบาด ทางราชวิทยาลัยฯจะค่อยๆ ลดปริมาณวัคซีน “ตัวเลือก” นี้ลง เช่นเดียวกับ ยา และเวชภัณฑ์อื่นๆ ที่สามารถผลิตได้ในประเทศ ราชวิทยาลัยฯสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในประเทศ โดยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

2.สำนักงานราชวิทยาลัยฯ ที่เป็นส่วนงานยังต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องการผลิต นำเข้า รวมทั้งการให้อนุญาตเรื่องผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินนี้

3.ประกาศที่ได้ประกาศไปนี้เป็นการประกาศตามภารกิจของราชวิทยาลัยฯ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งราชวิทยาลัยฯ อันเป็นภารกิจปกติ

4.ในส่วนของประกาศนี้นั้น เป็นไปตามความเห็นของสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศ โดยใช้ศักยภาพของราชวิทยาลัยฯ ในเรื่องวิชาการ วิจัย และการประสานงานติดต่อกับต่างประเทศ

5.ราชวิทยาลัยฯ และกระทรวงสาธารณสุข ทำงานประสานงานกันในเรื่องต่างๆ มาก่อนหน้านี้นานแล้ว เพื่อสุขภาพและการสาธารณสุขที่ดีของประเทศไทย


วิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี

กรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ว่าด้วยการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์การฉุกเฉินอื่นๆ ความชัดเจนเกิดขึ้น เมื่อราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ออกข้อกำหนดหรือเรียกว่าคำสั่งลูกตามมาอีกฉบับหนึ่งเพื่อขยายความ โดยมีความชัดเจนขึ้น ดังนี้

1.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีอำนาจทางกฎหมายที่จะออกประกาศแบบนี้ได้ เพื่อที่จะนำเข้า วัคซีน ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ หากไม่ออกประกาศอย่างนี้มาจะไม่สามารถนำเข้าได้

การออกประกาศดังกล่าวเพื่อที่จะมีอำนาจนำเข้า แต่ไม่ใช่ว่าสามารถนำเข้ามาโดยอิสระ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ เช่น ขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่ถ้าไม่ออกประกาศมาก็จะไม่สามารถขอยื่นอะไรได้เลย หรือเรียกว่าตกคุณสมบัติ

2.เป็นการใช้อำนาจในช่วงวิกฤตสถานการณ์ โควิด-19 เท่านั้นและใช้ช่วงที่วัคซีนขาดแคลน โดยข้อกำหนดที่ นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้อธิบายว่า เมื่อสถานการณ์นี้คลี่คลาย อำนาจนี้จะหมดไป หรือเมื่อผลิตวัคซีนขึ้นมาในประเทศได้อย่างเพียงพอ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะหยุดการนำเข้าทั้งหมด

3.ต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายที่มีอยู่ทุกประการ ดังนั้น ประกาศดังกล่าวเพื่ออุดช่องว่างเท่านั้น

การจัดหาไม่ซ้ำซ้อนกับทางกระทรวงสาธารณสุข เพราะต้องไปขออนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขอยู่ดี เพียงแต่เป็นอีกช่องทางหนึ่ง เหมือนกับเอกชนหรือใครต่อใครที่ไปติดต่อแล้วกลับมาขออนุญาต โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีศักยภาพที่จะติดต่อกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น สปุตนิก หรือแม้แต่ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา เหมือนกับเอกชนหลายแห่งที่มีศักยภาพ

แต่ที่ผ่านมาเอกชนไม่มีปัญหาในเรื่องของคุณสมบัติ แต่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ จึงต้องออกประกาศมาว่าตัวเองมีคุณสมบัติ แล้วจะมีสถานะเทียบเท่ากับเอกชนทั้งหลาย โดยต้องผ่าน อย. ร่วมทั้งยาฟาวิพิราเวียร์ วัคซีนและเวชภัณฑ์ ไม่ว่าตัวใดก็ต้องมาขอ อย.อยู่ดี

หลังจากนี้จะมีขีดความสามารถไปติดต่อเองได้ และเมื่อ อย.เห็นชอบ ก็เอาเข้ามาได้ แต่ทั้งหมดใช้งบประมาณของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เอง ไม่ได้มาของบประมาณของรัฐ เพราะไม่เช่นนั้นกระทรวงสาธารณสุขก็จะไปทำเอง

ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ต้องทำเช่นนั้น เป็นไปตาม พ.ร.บ.ยา คนที่จะนำเวชภัณฑ์เข้ามาได้ ถ้าเป็นราชการคือกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐก็เข้าข่ายตรงนี้อยู่แล้ว แต่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ไม่เข้าข่าย จึงต้องออกประกาศสถานะของเขาขึ้นมา

หากในกรณีนี้ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชน เช่น โรงพยาบาลบํารุงราษฎร์ เขาก็มาแบบเอกชนเขาทำได้อยู่ วันนี้เอกชนหลายแห่งก็ทำกันอยู่ เรื่องนี้ผมได้อธิบายให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการ ศบค. พร้อมทั้งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทราบแล้ว

ตามพระราชบัญญัติประธานสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์เป็นผู้ลงนาม ซึ่งพระองค์ทรงเป็นประธานสภาฯ และกฎหมายก็เขียนไว้ว่า เมื่อเสร็จแล้วให้ลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศให้คนทั้งประเทศรับทราบว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยกระดับขึ้น เพราะถ้าไม่มีการออกประกาศ หากไปยื่นขอจาก อย.ก็จะถูกตีกลับ เพราะไม่มีคุณสมบัติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image