เสียงสะท้อน‘อปท.’ถึง‘มท.’ ติดล็อกจัดหาวัคซีนสู้โควิด

เสียงสะท้อน‘อปท.’ถึง‘มท.’ ติดล็อกจัดหาวัคซีนสู้โควิด

เสียงสะท้อน‘อปท.’ถึง‘มท.’
ติดล็อกจัดหาวัคซีนสู้โควิด

หมายเหตุ – เป็นการสำรวจความเห็นขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เกี่ยวกับปัญหาการจัดซื้อวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 เพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ แต่ติดขัดระเบียบกระทรวงมหาดไทยที่ยังไม่ปลดล็อกให้ดำเนินการได้

พิชัย เลิศพงศ์อดิศร
นายกอบจ.เชียงใหม่

รัฐบาลต้องชี้แจงท้องถิ่นว่ามีปัญหาอุปสรรคติดขัดตรงไหน หรือต้องมีระเบียบรองรับจัดซื้อหรือไม่ เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นไปตามแนวทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพราะเป็นการใช้ภาษีจากประชาชน หากรัฐบาลอนุญาตให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนได้ อบจ.เชียงใหม่ พร้อมดำเนินการทันที เนื่องจากเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่โควิด-19 ระบาดหนักในระลอก 3 และมีรายได้จากท่องเที่ยวเป็นหลัก
แนวทางจัดซื้อวัคซีน มี 3 ขั้นตอน คือ รัฐบาลต้องอนุญาตให้ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนได้ แหล่งเงินจัดซื้ออาจเป็นเงินสะสม หรือขออนุมัติสภา อบจ. กู้เงินจากกองทุนมหาดไทยจัดซื้อวัคซีน ซึ่งต้องหารือกับกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ก่อนว่าดำเนินการได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ก็อาจกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์มาจัดซื้อแทน เพราะ อบจ.มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว ประเด็นสำคัญคือประเภทวัคซีนต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของประชาชน อาทิ ซิโนฟาร์ม แอสตร้าเซนเนก้า ว่ามีคุณภาพและราคาเหมาะสมหรือไม่ ไม่แพงเกินไป และมีงบจัดซื้อเพียงพอ ซึ่งมอบหมาย นายธัชพล อภิรติมัย ปลัด อบจ.และทีมงานไปศึกษาระเบียบกฎหมายว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน
เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่ มีพื้นที่ 25 อำเภอ สมาชิกสภา อบจ. รวม 42 เขต แต่มีรายได้ปีละ 1,800 ล้านบาท ต่างจากนนทบุรีมีรายได้ปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงเก็บภาษีได้มาก ดังนั้นการซื้อวัคซีนต้องคำนึงถึงความจำเป็นเร่งด่วน และต้องหารือกับจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดก่อนว่า อบจ.สามารถจัดซื้อในปริมาณได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากรัฐบาลจัดสรรวัคซีนให้เชียงใหม่ 400,000 โดสแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดการลักลั่น และเสริมจำนวนวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการประชาชน หรือฉีดให้ได้อย่างน้อย 70% ตามเป้าหมาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยับยั้งแพร่ระบาด สนองตอบนโยบายรัฐบาลอีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเงินสะสมของ อบจ.เหลือน้อยมาก เนื่องจากบางส่วนได้สนับสนุนจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ น้ำยาฆ่าเชื้อ ชุดป้องกันแก่จังหวัด สาธารณสุข และผ่านสมาชิกสภา อบจ. 42 เขต รวมทั้งสนับสนุนค่าอาหารแก่ผู้ป่วยหรือผู้เสี่ยงติดเชื้อที่โรงพยาบาลสนามหลายแห่ง ดังนั้นโอกาสกู้เงินเพื่อจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว จึงเป็นไปได้สูง หวังว่ารัฐบาลจะไม่ขัดข้อง เพราะท้องถิ่นเป็นกลไกรัฐบาลดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน หากรัฐบาลไม่อนุญาตหรือไม่ให้ท้องถิ่นดำเนินการ ถือว่าประชาชนเสียโอกาสเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง และมีทางเลือกได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพ และรวดเร็วมากขึ้น
นอกจากนี้ยังร่วมกับภาคเอกชนจัดทำแอพพลิเคชั่น CM SMART เพื่อให้ภาคเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว พนักงานได้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนแล้ว 120,000 ราย ขอรับการจัดสรรวัคซีนจากจังหวัดและสาธารณสุข เพื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวจังหวัดและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไปพร้อมกัน ซึ่งจะดำเนินการในเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ รวม 4 เดือน ก่อนเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่น ซึ่งมีแผนเปิดเมืองท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป พร้อมจัดตั้งศูนย์ประสานงานวัคซีนจังหวัด ที่ อบจ. เพื่อบูรณาการให้เป็นเอกภาพและเดินไปในทางเดียวกัน

Advertisement

หากทุกฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อนผลักดัน เชื่อว่าประสบความสำเร็จ ที่ภาคท่องเที่ยวมีโอกาสฟื้นตัวอย่างช้าๆ เพื่อต่อลมหายใจและก้าวข้ามอุปสรรคดังกล่าวไปพร้อมกัน

ประเสริฐ วชิรเขื่อนขันธ์
อดีตนายกสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท)

“จังหวัดสมุทรปราการเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม ในเขตเทศบาลเมืองพระประแดง มีโรงเรียน 9 แห่ง และหน่วยงานราชการ มีหอพัก และตลาดสดขนาดใหญ่ อาคารบ้านเรือน หลายหลังเป็นชุมชนแออัด ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขาย มีประชาชนหลากหลายเชื้อชาติจํานวนมาก ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารเทศบาลเมืองพระประแดงได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อสั่งจองวัคซีนยี่ห้อซิโนฟาร์ม 18,000 โดส โดยซื้อครั้งละ 9,000 โดส เพื่อนําวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ ขณะที่ก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อ้างคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณี อปท.ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนได้ ขณะนี้กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เทศบาลมีอํานาจหน้าที่ดูแลประชาชนในการป้องกันและระงับโรคติดต่อ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เทศบาล พ.ศ.2496 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 มาตรา 53 และหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.กําหนดแผนและขั้นตอนการกระจาย
อํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 รวมทั้งระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่

และตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ด่วนที่สุด มท 0808.2/ว 1842 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2563 กำหนดแนวทางในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อป้องกันควบคุมโรคติดต่อและการรักษาพยาบาลกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19

วิจัย อัมราลิขิต
นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี

มีการประชุมสภาเทศบาลเมืองพนัสนิคมเมื่อสมัยที่แล้ว และได้อนุมัติจ่ายขาดเงินสะสมเพื่อซื้อวัคซีน เพื่อความปลอดภัยของชาวพนัสนิคม แต่ปรากฏว่าผู้ตรวจการแผ่นดินมีหนังสือชี้แจงมาแล้วว่าไม่สามารถจัดซื้อได้ นอกจากนี้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ยังอ้างหนังสือของผู้ตรวจการแผ่นดินอีกด้วย ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนได้ สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ต้องรอให้กระทรวงมหาดไทยอนุมัติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถึงจะสามารถจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อจัดจ้างหากจะต้องซื้อนั้น สะดวกที่สุด คือ จะต้องซื้อกับวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่นำเข้าวัคซีนซิโนฟาร์ม เพราะเป็นการดำเนินการระหว่างรัฐต่อรัฐ

แต่ถ้าหากซื้อกับเอกชนอาจจะมีปัญหาตามมามากมาย เชื่อว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งมีความพร้อม เพราะต้องการให้ประชาชน ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

กนกพร เดชเดโช
นายกอบจ.นครศรีธรรมราช

ได้จองวัคซีนซิโนฟาร์มจากสถาบันราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ ประมาณ 1 แสนโดส ในนามจังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากเป็นจังหวัดควบคุมพื้นที่สูงสุด ส่วนจะได้หรือไม่อยู่ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ฯ และกระทรวงมหาดไทยจะให้ความเห็นชอบ จึงอยากให้กระทรวงมหาดไทยตัดสินใจปลดล็อกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิจัดซื้อจัดหาวัคซีนเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้โดยตรงจากผู้ผลิต เพราะจะสามารถแบ่งเบาภาระของภาครัฐในการกระจายวัคซีนให้ถึงตัวของประชาชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ท้องถิ่นดูแลประชาชนตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายบัญญัติไว้ เพื่อให้ประชาชนในเขตพื้นที่มีภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัสดังกล่าวได้ หาก มท.ปลดล็อกให้ อปท.สามารถสั่งซื้อวัคซีนได้ อปท.มั่นใจ มีความพร้อม สามารถจัดสรรงบได้ เราต้องทำงานร่วมบูรณาการทั้งจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัดเพื่อหารือกันอีกครั้งในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง วันนี้เป็นเรื่องของความร่วมมือในการช่วยเหลือประชาชนที่ยังคงต้องการวัคซีน 80-90% ถึงจะหยุดโรคได้

พร้อมกันนี้ อบจ.นครศรีธรรมราชสนับสนุนสถานที่ฉีดวัคซีนให้พี่น้องประชาชน โดยใช้พื้นที่โรงละคร อบจ. และพร้อมสนับสนุนเรื่องอื่นๆ ตามที่หน่วยงานต่างๆ ร้องขอมาอย่างเต็มที่ หากเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ อบจ.ตระหนักถึงการรับรู้และความเข้าใจของประชาชนที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะลงทะเบียน

จึงสร้างความเชื่อมั่นว่าฉีดวัคซีนปลอดภัย เพราะชาวนครฯทุกคน คือ ผู้มีสิทธิได้รับการดูแลให้ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image