ศบค.เผยคลัสเตอร์ใหม่ ในโรงงานหลาย จว. 27 จังหวัดไร้ผู้ติดเชื้อ พบลอบเข้าเมือง 225 ราย

ศบค.เผยคลัสเตอร์ใหม่ ในโรงงานหลาย จว.พบลอบเข้าเมือง 225 ราย ขอเดินทางอย่างถูก กม.

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 5 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 2,817 ราย โดยผู้ป่วยติดเชื้อในประเทศ 2,446 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่ 2,502 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 1,151 ราย เดินทางจากต่างประเทศ 56 ราย คัดกรองในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 315 ราย

รวมผู้ป่วยติดเชื้อสะสมตั้งแต่ 1 เมษายน 145,933 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 124,093 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้าน 3,396 ราย หายป่วยสะสมรวมตั้งแต่ 1 เมษายน 96,667 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 36 ราย เสียชีวิตสะสม 1,119 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 63 จำนวน 1,213 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 49,490 ราย รักษาในโรงพยาบาล 20,857 ราย โรงพยาบาลสนาม 28,633 ราย อาการหนัก 1,195 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 361 ราย ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีนวัคซีนทั่วประเทศฉีดแล้ว 4,142,944 โดส แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 รวม 2,818,676 ราย เข็มที่ 2 รวม 1,324,68 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 36 ราย แบ่งเป็น กทม. 16 ราย สมุทรปราการ 4 ราย นนทบุรี 3 ราย ชลบุรี นครสวรรค์ สมุทรสาคร จังหวัดละ 2 ราย เพชรบุรี นครปฐม ตราด สงขลา พระนครศรีอยุธยา พัทลุง ราชบุรี จังหวัดละ 1 ราย เพศชาย 21 ราย หญิง 15 ราย ค่ากลางของอายุ 68 ปี ซึ่งเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัวคล้ายเดิม

เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในหลอดเลือดสูง เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อยังคงเป็นการติดเชื้อภายในครอบครัว เดินทางในสถานที่ระบาด เรือนจำ โรงงาน โดยผู้รักษาตัวนานสุดของกลุ่มนี้นานสุดคือ 46 วัน ค่ากลางอยู่ที่ 16 วัน ซึ่งผู้ที่ใส่เครื่องช่วยหายใจถือเป็นแนวโน้มที่ดีเนื่องจากมีจำนวนลดลง

Advertisement

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ปอดอักเสบ จำนวน 1,195 ราย และต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 361 รายนั้น กทม.นำสูงสุด 193 ราย สมุทรปราการ 32 ราย นนทบุรี 22 ราย ปทุมธานี 14 ราย ชลบุรี 12 ราย ซึ่งจังหวัดไหนที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากก็จะมีภาระงานในด้านนี้จำนวนมาก จึงทำให้มีโรงพยาบาลต่างๆ มาช่วย เช่น โรงพยาบาลบุษราคัม ที่ตั้งใจเป็นโรงพยาบาลช่วยผู้ป่วยสีเหลืองในพื้น กทม.

โดยนำบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ต่างจังหวัดมาอยู่กันรอบละ 14 วัน ซึ่งเมื่อผู้ป่วยสีเหลืองเปลี่ยนเป็นผู้ป่วยสีแดง ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจก็จะมีโรงพยาบาลจุฬาฯ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพลังแผ่นดิน โรงพยาบาลเอกชน หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลของกรมสุขภาพจริง อย่างโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นต้นรับไปดูแล

นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า สำหรับตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 อันดับแรก ประกอบด้วย กทม. 925 ราย ปทุมธานี 411 ราย สมุทรสาคร 293 ราย สมุทรปราการ 143 ราย เพชรบุรี 130 ราย นนทบุรี 78 ราย ตรัง 52 ราย พระนครศรีอยุธยา 49 ราย ชลบุรี 40 ราย และสงขลา 38 ราย ที่ประชุมศูนย์บูรณาการของทาง กทม.และปริมณฑลได้ฉายภาพขึ้นมา กทม.มีตัวเลขเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ทำให้สีเข้มขึ้นในขณะที่บางเขตก็ลดลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มก็กระจายไปทั่วในหลายพื้นที่ ซึ่งจะพบมากบริเวณเขตทุ่งครุ และรอบนอกของ กทม.

Advertisement

หากอยู่กลางก็จะเป็นห้างสรรพสินค้า ตลาดต่างๆ ที่เคยรายงาน ซึ่งในที่ประชุม ศบค.ได้รับทราบและเขตที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดของ กทม.มีทั้งหมด 25 เขต ได้แค่บางกะปิ คลองเตย ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย บางรัก ดินแดง ห้วยขวาง สัมพันธวงศ์ บางกอกน้อย ราชเทวี พระนคร ปทุมวัน ดอนเมือง ทุ่งครุ บางแค ลาดพร้าว จตุจักร คลองสาน สวนหลวง ยานนาวา มีนบุรี วัฒนา คลองสามวา บางนา สาทร บางซื่อ

ซึ่งรายละเอียดคลัสเตอร์แต่ละพื้นที่ทาง กทม.มีข้อมูลต่างๆ ทั้งหมดเพื่อที่จะนำเสนอต่อประชาชนโดยละเอียด ก็ขอให้ทาง กทม.เป็นผู้ที่จะนำเสนอรายละเอียดต่อไป และที่พบใหม่วันนี้คือหนองจอก ลาดกระบัง ปทุมวัน ยานนาวา ราษฏรบูรณะ ที่พูดกันมากคือ ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งในเขตปทุมวัน

“สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการมีคลัสเตอร์ใหม่เพิ่มขึ้นใน 14 วันมีทั้งในแคมป์คนงานต่อสร้าง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน ซึ่งมีการพูดคุยกันเยอะเนื่องจากสังคมของคนกรุงฯ ค่อนข้างซับซ้อน แต่พอแยกออกมาเป็นกิจการๆ ที่ทำให้โอกาสการเกิดโรคได้สูง

เมื่อแยกออกมาแล้วจะพบว่าเป็นตลาดต่างๆ ฉะนั้นสิ่งที่เราจะต้องป้องกันคือ การไปดูแลสุขอนามัยของตลาดไว้ก่อน และมีการสำรวจว่า กทม.มีตลาดทั้งสิ้น 486 แห่งซึ่งได้สำรวจโดยกรมอนามัยร่วมกับ กทม.กองสุขาภิบาล สำนักอนามัยไปตรวจแล้วทั้งหมด 274 แห่ง ก็มีข้อมูลตัวเลขออกมาคือผ่าน 97 แห่ง คิดเป็น 35% และไม่ผ่านก็มีอยู่จำนวนมาก

ซึ่งได้ไปดูเรื่องของการเว้นระยะห่างส่วนบุคคล มี 24% ที่เป็นข้อบกพร่องที่จะต้องแก้ไข การควบคุมช่องทางเข้าออก หรือการคัดกรอง 18% การใช้แอพพลิเคชั่นในการบันทึกข้อมูลเข้าใช้ตลาด 20% นี่เป็นปัญหาที่คงไม่ต้องเป็นการแก้ไขโดยภาครัฐอย่างเดียว ซึ่งตลาดที่ไม่ผ่าน อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากที่จะแก้ไข หากประชาชนให้ความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างก่อนเข้าไปในตลาด หรือเข้าไปในช่องทางที่จำกัดก็ผ่านได้แล้ว ซึ่งต้องเป็นความร่วมมือของภาครัฐที่ต้องเข้าไปกำกับควบคุม ภาคผู้ประกอบการให้ความร่วมมือและภาคประชาชนร่วมใจกันดำเนินการ” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า การกระจายตัวที่พบว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้นของ จ.ปทุมธานี พบเพิ่มเติมขึ้นมาที่ลำลูกกาซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปไก่ จ.สมุทรสาคร ที่เป็นคลัสเตอร์ใหม่พบบริเวณโรงงานอาหารทะเลแช่แข็ง จำนวน 102 คน จ.เพชรบุรี ที่เขาย้อย พบคลัสเตอร์ใหม่ที่โรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 69 คน คลัสเตอร์ใหม่ที่แคมป์ก่อสร้างอีก 2 แห่งที่ จ.นนทบุรี พื้นที่สิเกาใน จ.ตรัง พบคลัสเตอร์ใหม่ที่โรงงานไม้ยาง จำนวน 52 ราย

นอกจากนี้ ยังมีคลัสเตอร์ใหม่ที่หัวหินใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โรงงานแปรรูปไก่อีก 35 ราย สรุปภาพรวมทั้งประเทศ จังหวัดสีขาว 27 จังหวัด ส่วนสีเขียวคือมีรายงานตัวเลขไม่เกิน 10 ราย 32 จังหวัด ส่วนการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศพบผู้ป่วยจำนวน 56 ราย ซึ่งพบเที่ยวบินมาทางอากาศแอฟริกาใต้ และเนเธอร์แลนด์ ประเทศละ 2 ราย อิสราเอล บังกลาเทศ บราซิล บาห์เรน อินเดีย มาเลเซีย ประเทศละ 1 ราย และกัมพูชา 46 ราย มีทั้งมาจากด่านข้ามแดนถาวรและช่องทางธรรมชาติ

“อยากสื่อสารไปยังประชาชนคนไทยที่อยู่ที่กัมพูชาขอให้เดินทางเข้ามาผ่านช่องทางด่านข้ามแดนถาวร เราจะดูแลอย่างดี จะมีพื้นที่ในการดูแลเป็นพื้นที่กักกันที่รัฐจัดไว้ให้ในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ อย่าเข้ามาในทางที่ผิดกฎหมาย ซึ่งในการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง ประเทศไทยพบ 225 ราย ซึ่งเป็นความเข้มข้นของฝ่ายความมั่นคงที่ตรวจ ซึ่งยังถือว่าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา เมียนมา 111 ราย กัมพูชา 39 ราย มาเลเซีย 1 ราย ลาว 9 ราย ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยได้บอกว่าจะมีข้อมูลที่จะแจ้งให้ประชาชนทราบ

“การควบคุมโรคเกิดขึ้นจากพวกเราทุกคน สิ่งที่จะเกิดขึ้นมาในวันพรุ่งนี้จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับวันนี้ที่เราได้ทำเต็มที่แล้วหรือยัง ก็ฝากผู้ประกอบการ ประชาชนได้ร่วมมือร่วมใจกัน เราจะผ่านความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image