กรมวิทยฯ เผย ไทยเจอ ‘สายพันธุ์อินเดีย’ เพิ่ม จับตาสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อ.ตากใบ ใกล้ชิดคุมให้อยู่ในพื้นที่

กรมวิทยฯ เผย ไทยเจอ ‘สายพันธุ์อินเดีย’ เพิ่ม จับตาสายพันธุ์แอฟริกาใต้ อ.ตากใบ ใกล้ชิดคุมให้อยู่ในพื้นที่

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมด้วย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันแถลงข่าว การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า การแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้ต้องการให้เกิดความตกใจ แต่ต้องอยู่บนโลกความเป็นจริง หากมีอะไรเกิดขึ้น เราจะบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การจัดชั้นสายพันธุ์ไวรัสมี 2 ชั้น คือ สายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Valiant interest) ที่ต้องติดตามดู และสายพันธุ์ที่เริ่มเกิดปัญหา ทำให้วัคซีนไม่ได้ผล เราเรียกว่าสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variant of concern) เดิมมีการตั้งชื่อสายพันธุ์ตามประเทศที่พบ แต่ทำให้เกิดปัญหา เช่น สายพันธุ์ที่ตรวจพบในไทย แล้วไปเจอที่อังกฤษ แต่ทั้งที่ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นั้นไม่ได้อยู่ในชุมชนประเทศไทย องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ปรับให้ใช้อักษรต่างๆ แทน เช่น สายพันธุ์อังกฤษ ใช้แทนว่า อัลฟ่า สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ใช้แทนว่า เบต้า สายพันธุ์บราซิล ใช้แทนว่า แกรมม่า และสายพันธุ์อินเดีย ใช้แทนว่า เดลต้า

Advertisement

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ข้อมูลล่าสุด จากการถอดรหัสเชื้อฯ ที่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย ใน 3,964 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ หรือ 90% เป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (สายพันธุ์อังกฤษ) ถือว่าขณะนี้สายพันธุ์อัลฟ่าครองเมือง นอกจากนี้ เรายังพบสายพันธุ์เดลต้า (สายพันธุ์อินเดีย) 230 ราย เพิ่มขึ้นมาบ้างเป็น 6% พบใน กรุงเทพมหานคร (กทม.) 206 ราย ในแคมป์คนงานหลักสี่ นนทบุรี 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย ที่มีความเชื่อมโยงกับแคมป์คนงานหลักสี่ นอกจากนี้ ยังมีบุรีรัมย์ 1 ราย อุบลราชธานี 1 ราย สมุทรสงคราม 1 ราย ที่น่าห่วงคือ อุดรธานี 17 ราย จากการรวมกลุ่มบายศรีสู่ขวัญ กำลังสอบสวนความเชื่อมโยงว่ามีความเกี่ยวข้องกับแคมป์คนงานก่อสร้างที่หลักสี่หรือไม่ นอกจากนี้ยังมีที่ร้อยเอ็ด 1 ราย นครราชสีมา 2 ราย สระบุรี 2 ราย

“การกระจายของเชื้อเป็นภาพที่เกิดขึ้นได้ เพียงแต่เราอยากเห็นว่ามันไปที่ไหนบ้าง ส่วนที่เราซีเรียส และต้องเฝ้าระวังคือสายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) เริ่มต้นข้ามจากมาเลเซีย แล้วมาอยู่ อ.ตากใบ ซึ่งขณะนี้ตรวจพบแล้ว 26 ราย แต่โชคดีที่เรายังพบเฉพาะที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ยังไม่พบที่อื่น แต่วางใจไม่ได้ เราต้องควบคุมให้มันอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวให้นานที่สุด” นพ.ศุภกิจกล่าว

นพ.ศุภกิจกล่าวว่า นอกจากนั้น เราพบสายพันธุ์ B.1.524 เป็นสายพันธุ์แถวๆ ประเทศเพื่อนบ้าน เราพบที่จังหวัดบริเวณชายแดน คือ ปัตตานี และนราธิวาส ประมาณ 10 ราย แต่ยังไม่ใช่สายพันธุ์ต้องน่าห่วงกังวล ซึ่งเราต้องจับตาดูเพิ่มเติมว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหรือไม่

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image