เพจดังไขข้อสงสัย ทำไมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 เว้นช่วงนาน เผยข้อควรระวังหลังฉีด

เพจดังไขข้อสงสัย ทำไมวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 เว้นช่วงนาน เผยข้อควรระวังหลังฉีด

เริ่มกันไปแล้วดีเดย์วันฉีดวัคซีน 7 มิ.ย. ในกลุ่มคนทั่วไปอย่างเป็นทางการ ซึ่งวัคซีนที่มีการฉีดครั้งนี้เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า (Az) และพบว่า Az ถูกฉีดให้คนอายุน้อย ในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงด้วย ทั้งนี้ มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเว้นระยะเวลาในการฉีดเข็มที่ 2 ที่มีการเว้นช่วงระยะเวลานาน อาจจะทิ้งช่วงเวลานานถึง 15-16 สัปดาห์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน เพจ “เรื่องเล่าจากโรงพยาบาล” ได้ออกมาระบุข้อความอธิบายถึงวัคซีน “แอสตร้าเซเนก้า” ควรฉีดห่างกันกี่สัปดาห์และข้อควรระวังหลังการฉีด โดยทางเพจได้ระบุข้อความอธิบายไว้ว่า

“เมื่อวานมีข้อสงสัยพอสมควรว่า ในคนที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็น AZ ว่านัดหมายเข็มที่สองมันนานจัง หากเป็น SinoVac เข็มสองจะห่างเข็มแรก 21-28 วัน ส่วน AZ นี้ เมื่อวานเท่าที่เห็นจะเป็น 15 กับ 16 สัปดาห์ อย่างตัวอย่างที่เพื่อนเพจส่งมาในรูปนี้ คือ นัดเข็มที่สอง 20 กันยายน = 15 สัปดาห์

ในล็อตแรก ที่เรานำเข้ามา (ตั้งแต่ช่วงระบาดระลอกใหม่ที่สมุทรสาคร) เราใช้ระยะห่างระหว่างเข็มเป็น 8-10 สัปดาห์ ถามว่ามันจะใช้ได้ไหม ก็ต้องบอกว่าใช้ได้ครับ แต่ตามมาตรฐาน หรือคำแนะนำมาตรฐานจากบริษัทผู้ผลิต จากทั่วๆ ไปจะยังเป็น 4-12 สัปดาห์ แต่จะมีบางประเทศที่แนะนำว่า สามารถยืดไปได้ถึง 16 สัปดาห์ อย่างตัวอย่างรูปด้านล่าง เป็นคำแนะนำจากแคนาดา โดยมีการศึกษาว่า ระดับสามารถกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันได้ดี หรือกระตุ้นภูมิขึ้นสูงกว่าเสียอีก

Advertisement

เนื่องจากภาวะที่วัคซีนมาช้าการระบาดเยอะ การเลื่อนเป็น 16 สัปดาห์ เพื่อให้คนได้รับเข็มแรกมากๆ จึงเป็นยุทธวิธีที่เราเลือกใช้ได้ ทั้งนี้ เข็มแรกของ AstraZeneca ก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ตั้งแต่ 2-4 สัปดาห์แรกหลังฉีดแล้ว แต่ต้องเตือนตัวเองว่ายังไงมันก็ไม่เท่าการฉีดสองเข็มนะครับ ข้อมูล 16 สัปดาห์นั้นก็ยังเป็นแค่ข้อมูลด้านเดียว การป้องกันจริงๆ จะเป็นอย่างไร ระหว่างนั้นภูมิที่ตกลงมา จะมีผลเรื่องการป้องกันไหม? ก็เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอยู่

ข้อควรระวังหลังฉีด

สรุปว่าใน กทม.นั้นมีการฉีด AstraZeneca ให้กับทุกคนไม่ได้แยกกลุ่มเสี่ยง (อายุเกิน 60, มีโรคประจำตัว) ซึ่งไม่ได้ผิดหลักการใช้ AstraZeneca ที่ยอมรับกันในขณะนี้นะครับที่ต้องพูดอย่างนี้ เพราะมันมีการปรับมาเป็นระยะตามข้อมูลที่มีออกมาเรื่อยๆ เช่นช่วงแรก จากงานวิจัยมีข้อมูลการใช้ในคนสูงอายุไม่มากบางประเทศจึงลังเลที่จะใช้กับผู้สูงวัย

ต่อมา ข้อมูลเยอะขึ้นก็ใช้กันเป็นปกติแต่ทว่าพอใช้มากขึ้นกลับพบว่าในคนอายุน้อย ผู้หญิงนั้น เกิดเหตุที่เรียกว่า วัคซีนกระตุ้นภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ขึ้น Vaccine induced prothrombotic immune  thrombocytopenia ที่คงพอจะเห็นข่าวจากต่างประเทศ โอกาสโดยรวมคือ 1 ในล้านคนที่รับวัคซีนในอังกฤษแนะนำว่าควรเลี่ยง ในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 40 ยุโรปหลายประเทศก็ตัดที่อายุต่างกันไป 55, 50, 60 (คร่าวๆ เท่าที่จำได้)

Advertisement

ในประเทศไทย เรื่องนี้มีความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญว่าโอกาสเกิดคงจะน้อยมาก น้อยกว่าในยุโรปเสียอีก จากผลเรื่องพันธุกรรม แต่เมื่อเริ่มฉีด เราก็ต้องช่วยกันสังเกตอาการกันไป ทั้งนี้ สำหรับคนอายุไม่มากหลังฉีด AstraZeneca อาจจะพบอาการไม่พึงประสงค์ที่หนักหน่อย ไข้สูง ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย น่าจะเจอได้มากกว่า SinoVac เพราะการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจะมากกว่า

ส่วนอาการที่ต้องระวังว่าเกิดลิ่มเลือดอุดตันหรือเปล่านั้นก็จะมีอาการได้ตาม อวัยวะที่เกิดลิ่มเลือดโดยมักจะมีอาการได้ตั้งแต่ 4-28 วันหลังการฉีดวัคซีน หากมีลิ่มเลือดในสมอง ก็มีอาการปวดหัว มักจะปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือแขนขาอ่อนแรงได้หากลิ่มเลือดในปอด ก็จะทำให้มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ

กิจวัตรเดิมที่ทำได้ไม่เหนื่อยกลับเหนื่อย รู้สึกหายใจติดขัด ไม่เต็มอิ่มสองอวัยวะหลักน่าจะประมาณนี้หากหลังรับวัคซีน 4 วันขึ้นไปแล้วมีอาการก็คงต้องไปพบแพทย์หมออย่างเราๆ ก็คงต้องรับมือที่จะตรวจ จะให้ความรู้ แนะนำหรือจะวินิจฉัยภาวะนี้กันไว้ด้วย คงเป็นรางวัลที่หนึ่งที่ไม่มีใครอยากได้ ทั้งหมอทั้งคนไข้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image