ศบค.เผย ‘กทม.-ปริมณฑล’ ติดสูงสุดของปท. ปลื้ม 5 คลัสเตอร์ ไม่พบผู้ป่วยใหม่

ศบค. เผย ‘กทม.-ปริมณฑล’ ติดสูงสุดของปท. ปลื้ม 5 คลัสเตอร์ ไม่พบป่วยใหม่ ‘สธ.’ จี้ 11 จุดเสี่ยง ตรวจหาเชื้อ เฝ้าระวังใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก มีตัวเลขที่ลดลง พบผู้ป่วยรายใหม่ 420,270 ราย สะสม 175,171,038 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 14,091 ราย สะสม 3,776,988 ราย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 80 ของโลก พบผู้ป่วยรายใหม่ 2,310 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยใหม่ 1,467 ราย การค้นหาเชิงรุก 703 ราย ติดเชื้อจากเรือนจำ 102 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขลดลงเรื่อยๆ และยังมีการคัดกรองเชินรุกต่อเนื่อง ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 38 ราย ยอดติดเชื้อสะสม 187,538 ราย ผู้เสียชีวิตรายใหม่ 43 ราย สะสม 1,375 ราย คิดเป็น 0.81% ผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 3,035 ราย ยังเหลือรักษาอยู่ 46,876 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล (รพ.) 18,327 ราย รพ.สนามและอื่นๆ อีก 28,549 ราย ผู้ป่วยอาการหนัก 1,295 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ใส่ท่อช่วยหาย 359 ราย

“ทิศทางของทั้งประเทศยังอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยวันนี้ผู้ป่วยรายใหม่ใน กทม. ลดลงมาที่ 788 ราย ปริมณฑล 5 จังหวัดรวม 770 ราย จังหวัดอื่นๆ อีก 612 ราย สัดส่วนต่างๆ ยังใกล้เคียงกันตลอดสัปดาห์ ว่า กทม.และปริมณฑล เป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูงเกินครึ่งของภาพรวมทั้งประเทศ” พญ.อภิสมัยกล่าว

สำหรับผู้เสียชีวิต 43 ราย เป็นเพศชาย 31 ราย หญิง 12 ราย โดยอายุน้อยสุด 25 ปี มากที่สุด 91 ปี พบในกทม.มากที่สุด คือ 27 ราย สมุทรปราการ 5 ราย นครปฐม 4 ราย นครสวรรค์ 2 ราย และนนทบุรี ปทุมธานี สงขลา กาญจนบุรี สระแก้ว จังหวัดละ 1 ราย ปัจจัยยังอยู่ที่โรคประจำตัวในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องเน้นย้ำผู้ป่วยกลุ่มโรคเหล่านี้ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยง เพราะหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง นำไปสู่การเสียชีวิตรวดเร็ว

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 จังหวัดแรก ได้แก่ กทม. 788 ราย ปทุมธานี 308 รายเป็นคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ พบผู้ป่วยเพิ่ม 262 ราย สมุทรปราการ 209 ราย นนทบุรี 132 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 94 ราย สมุทรสาคร 89 ราย ชลบุรี 81 ราย พบในตลาดบ้านทุ่ง อ.ศรีราชา เป็นคลัสเตอร์ใหม่พบ 28 ราย บริษัทขนส่งและเช่ารถยนต์ รายใหม่ 8 ราย อยุธยา 43 ราย คลัสเตอร์บริษัทผลิตอุปกรณ์การแพทย์ พบเพิ่ม 14 ราย ราชบุรี 43 ราย พบในโรงงานบะหมี่บ้านโป่ง เพิ่มใหม่ 36 ราย และยะลา 42 ราย พบการติดเชื้อในชุมชนมากขึ้น เพิ่มอีก 36 ราย ทำให้ยอดรวมจังหวัดสะสม 448 ราย สำหรับภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี อ.เมือง พบการติดเชื้อในตลาดสดหน้าวัดตาขุน สะสม 13 ราย ซึ่งขอให้ประชาชนติดตามการประกาศของแต่ละจังหวัด เพื่อเฝ้าระวัง ติดตามมาตรการของจังหวัดอย่างใกล้ชิด

สำหรับ กทม. ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แบ่งกลุ่มคลัสเตอร์เป็นสีแดง พบผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมามีทั้งหมด 60 คลัสเตอร์ กลุ่มสีเหลือง ไม่พบผู้ป่วยใน 14 วันแต่พบใน 28 วัน มี 9 เขต ได้แก่ แคมป์ก่อสร้างอิตาเลี่ยนไทย เขตดอนเมือง ตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน โกดังสินค้าให่เช่า เขตบางซื่อ แคมป์ก่อสร้างอิตาเลี่ยนไทย เขตหลักสี่ ร้านกนกเฟอร์นิเจอร์ เขตประเวศ ตลาดหนองจอก เขตหนองจอก แคมป์ก่อสร้างอิตาเลี่ยนไทย เขตบางคอแหลม คอนโดที่พักชาวกินี เขตสาทร ธนบุรีเนอร์สซิ่งโฮม 3 สาขา เขตบางแค

“ที่สำคัญคือ คลัสเตอร์สีเขียว ที่ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่มากกว่า 28 วัน มีทั้งหมด 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ตลาดบุญเรือง เขตประเวศ ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน แคมป์ก่อสร้าง เขตวัฒนา และแคมป์ก่อสร้าง บริษัทแสงฟ้า เขตบางพลัด เมื่อมีการเฝ้าระวังครบ 28 วัน ก็จะหายป่วยและทำให้พื้นที่ตรงนั้น น่าจะปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กทม.และทั้งประเทศยังมีการคัดกรองเชิงรุก เฝ้าระวังในชุมชน โดยกรมควบคุมโรค นำข้อมูลการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ มาสรุปพื้นที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อ 11 ประเภท ได้แก่ ตลาด สถานีขนส่ง ผับบาร์/คาราโอเกะ สถานที่ต่ออายุบัตรแรงงาน หน่วยราชการด่านหน้า โรงงาน ห้างสรรพสินค้า/ร้านอาหาร สถานที่ดูผู้สูงอายุ โรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็ก ศาสนสถาน และธนาคาร/บริษัท/สำนักงาน” พญ.อภิสมัย กล่าว

Advertisement

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จะมีการกำหนดให้ทุกจังหวัด ทุกเขตในกทม. เฝ้าระวังเชิงรุก ด้วยการสุ่มตรวจหาเชื้อ 5 ประเภท จาก 11 ประเภท อย่างน้อย 5 แห่งต่อประเภท แห่งละอย่างน้อย 5 ตัวอย่าง ทั้งนี้ จะมีการเฝ้าระวังสุ่มตรวจทุก 2 สัปดาห์ ให้ได้อย่างน้อย 125 ตัวอย่าง/2 สัปดาห์/ครั้ง/จังหวัด โดยจะปรับตามบริบทพื้นที่ เช่น กทม. มีตลาดรวม 486 แห่ง ซึ่งต้องเฝ้าตรวจต่อเนื่องในตลาดที่พบผู้ติดเชื้อ แต่ตลาดที่ไม่มีรายงานติดเชื้อก็ต้องสุ่มตรวจ เพื่อรายงานมายังกรมควบคุมโรค ว่าตรวจเท่าไหร่ แล้วพบการติดเชื้ออย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image