สถิติทั่วโลก ใช้วัคซีนแอสตร้าฯ มากสุด ‘หมอศิริราช’ ยันฉีดแล้ว ยังต้องป้องกันตัวสกัดโควิดกลายพันธุ์

สถิติทั่วโลก ใช้วัคซีนแอสตร้าฯ มากสุด ‘หมอศิริราช’ ยันฉีดแล้ว ยังต้องป้องกันตัวสกัดโควิดกลายพันธุ์

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ทั่วโลกใช้ฉีดให้กับพลเมืองในประเทศ ว่า วัคซีนที่องค์การอนามัยโลกรับรองแล้ว 8 ตัว โดยที่มีการใช้มากที่สุดคือ วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ใน 102 ประเทศ รองมาคือ วัคซีนไฟเซอร์ 85 ประเทศ วัคซีนสปุตนิก 68 ประเทศ วัคซีนโมเดอร์นา 49 ประเทศ วัคซีนซิโนฟาร์ม 47 ประเทศ วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 44 ประเทศ และวัคซีนซิโนแวค 26 ประเทศ ทั้งนี้ ความปลอดภัยของวัคซีนแอสตร้าฯ รายงานจากสหราชอาณาจักร นับจนถึงวันที่ 2 มิ.ย.64 ฉีดไปแล้ว 24.5 ล้านคน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่ไม่รุนแรงและหายภายใน 24 ชม. เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดศีรษะ มีไข้ ครั่นเนื้อครั้นตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ซึ่งพบในวัยหนุ่มสาวมากกว่าผู้สูงอายุ แต่สามารถดีขึ้นโดยทานยาพาราเซตามอล อาการเหล่านี้พบได้ในวัคซีนอื่นเช่นกัน

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า พบว่าแอสตร้าฯ ยังมีประสิทธิภาพต่อ สายพันธุ์เดลต้า ประมาณ ร้อยละ 60 มีรายงานการเกิดลิ่มเลือดร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ 374 คนคิดเป็น ร้อยละ 0.0051 หรือ 15 คนต่อผู้รับวัคซีน 1 ล้านคน เสียชีวิต 66 คน หรือประมาณ 2.7 คนต่อผู้ได้รับวัคซีน 1 ล้านคน ซึ่งหน่วยงานของสหราชอาณาจักรที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของยา/วัคซีนเสนอให้มีการวิจัยหาสาเหตุการเกิดลิ่มเลือด และยังสรุปว่าวัคซีนนี้ปลอดภัยสูงมาก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนวัคซีนซิโนแวค ผลข้างเคียงที่พบน้อยกว่าแอสตราฯ ข้อสรุปขององค์การอนามันโลกกำหนดให้สามารถฉีดในคนสูงอายุได้โดยไม่จำกัดอายุ และมีประสิทธิภาพต่อเชื้อสายพันธุ์บราซิลประมาณ ร้อยละ 50 ดังนั้นการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมากและเร็ว มีส่วนสำคัญในการลดการแพร่ระบาด ลดอัตราเสียชีวิต จะชัดเจนเมื่อประชากรในประเทศได้รับเกิน ร้อยละ 50 วัคซีนต่อเชื้อโควิดมีความปลอดภัยสูง

Advertisement

“ขณะนี้ทั่วโลกฉีดไปแล้วกว่า 2,303 ล้านโดส การกลายพันธุ์ของเชื้อบางสายพันธุ์ อาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนลง แต่เนื่องจากสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศมีหลากหลาย ดังนั้นการฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์มาก รวมถึงมาตรการส่วนบุคคล ทั้งการใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ รักษาระยะห่าง หลีกเลี่ยงอยู่ในที่คนหนาแน่นยังมีประโยชน์มากกับการป้องกันเชื้อในทุกสายพันธุ์” ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image