สกู๊ปหน้า 1 : ฉีดวัคซีนไขว้ 2 ชนิด ความหวังที่ยังมีปัญหา

สกู๊ปหน้า 1 : ฉีดวัคซีนไขว้ 2 ชนิด ความหวังที่ยังมีปัญหา

การใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค 2 ชนิดผสมกัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงภูมิคุ้มกันวิทยา นักวิชาการเรียกกรรมวิธีเช่นนี้ว่า ‘เฮเทโรโลจัส ไพรม์-บูสต์’ (Heterologous prime-boost) ซึ่งหมายถึงการใช้วัคซีนเข็มแรก (ไพรม์) กับวัคซีนกระตุ้น (บูสต์) ที่มีแหล่งที่มาแตกต่างกัน

หลังสุดผู้เชี่ยวชาญเพิ่งนำเอาวิธีการนี้มาใช้แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของอีโบลาไปเมื่อไม่นานมานี้เอง

ปัญหาของการใช้วัคซีนผสม จึงไม่ใช่เรื่องของการผสมกันได้หรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ว่า จะผสมวัคซีนอะไรกับอะไร เพื่อไม่ให้เป็นการสูญเปล่า ผสมเพื่อวัตถุประสงค์ใด และมีการศึกษาถึงผลกระทบทั้งที่เป็นผลข้างเคียงระยะสั้น และผลในระยะยาวแล้วหรือไม่เท่านั้น

ความต้องการใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ผสมกัน 2 ชนิด เริ่มต้นครั้งแรกสืบเนื่องมาจากความกังวลของผลข้างเคียงของที่วัคซีนประเภท ไวรัลแวกเตอร์ อย่าง แอสตร้าเซนเนก้า ที่ก่อให้เกิดภาวะลิ่มเลือด และเกล็ดเลือดต่ำขึ้นในผู้ได้รับวัคซีนบางคน

Advertisement

นั่นทำให้หลายประเทศในยุโรป ตัดสินใจไม่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 2 ให้กับประชาชนของตนเอง แต่เลือกใช้วัคซีนชนิด เอ็มอาร์เอ็นเอ อย่าง ไฟเซอร์ หรือ โมเดอร์นา เป็นเข็มที่สองแทน

ต่อมา ความผันผวน ไม่แน่นอนของการผลิต และส่งมอบวัคซีน ส่งผลให้เกิดความจำเป็นในอีกลักษณะ กล่าวคือ วัคซีนที่เริ่มกระจายเข็มแรกไปแล้ว เกิดขาดแคลนขึ้นมา ไม่สามารถจัดซื้อได้ หรือมีปัญหาการจัดส่งล่าช้า ทำให้ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ และเกิดคำถามตามมาว่า วัคซีนเข็มสองสามารถเป็นวัคซีนป้องกันโควิดต่างชนิดกันได้หรือไม่

คำถามนี้กลายเป็นความจำเป็นมากยิ่งขึ้น เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ ที่มีความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเดิมหลายเท่าตัวอย่าง เชื้อ ‘เดลต้า’ ขึ้นมา

ผลก็คือเกิดการศึกษาวิจัยการใช้วัคซีนผสมแบบ ‘เร่งด่วน’ ขึ้นมาในหลายประเทศ

มีผลงานวิจัยในยุโรปที่ตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาแล้ว อย่างน้อย 3 ชิ้น

ชิ้นแรก เป็นผลงานวิจัยของทีมวิจัยในสเปนภายใต้ชื่อโครงการว่า ‘คอมบิแวคส์’ นำโดยทีมนักวิชาการของสถาบันสุขภาพคาร์ลอสที่ 3 ในกรุงมาดริด

ชิ้นที่สอง ใช้ชื่อโครงการว่า ‘คอม-โควี’ เป็นผลงานของทีมนักวิชาการในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่เป็นผู้ริเริ่มพัฒนา แอสตร้าเซนเนก้า เป็นแกนนำ

ชิ้นสุดท้าย เป็นงานวิจัยจากเยอรมนี นำโดย ลีฟ เอริค แซนเดอร์ นักภูมิคุ้มกันวิทยาจาก โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย ชาริเต ในกรุงเบอร์ลิน

รายงานทั้งสามชิ้นสรุปผลไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ การใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ผสม 2 ชนิด ให้ผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี โดยจะให้ผลดีที่สุดในกรณีที่ใช้วัคซีน ไวรัลแวกเตอร์ ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มแรก แล้วใช้วัคซีน เอ็มอาร์เอ็นเอ ของไฟเซอร์-ไบออนเทค เป็นเข็มกระตุ้น

การฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 ต้องใช้ระยะเวลาห่างจากการฉีดเข็มแรก 8-12 สัปดาห์ โดยเปรียบเทียบจากการศึกษาในสเปน ที่ทิ้งช่วงระหว่างเข็มแรกกับเข็มสองเพียง 6 สัปดาห์ ปรากฏว่าผลข้างเคียงที่พบรุนแรงกว่าการฉีดวัคซีนประเภทเดียวกัน 2 เข็ม ในขณะที่ผลทำนองเดียวกันไม่ปรากฏในการศึกษาอีก 2 ชิ้น

อย่างไรก็ตาม แม้แต่การศึกษาวิจัยทั้ง 3 ชิ้นข้างต้นนี้ ก็ยังเป็นการศึกษาขนาดเล็กมาก เช่น การศึกษาในสเปนใช้กลุ่มตัวอย่างเพียง 340 คน ในขณะที่ในเยอรมนีใช้กลุ่มตัวอย่างเพียง 320 คนเท่านั้น

ปัญหาก็คือ การศึกษาเหล่านี้ไม่สามารถตรวจสอบผลข้างเคียงได้ครบถ้วน โดยเฉพาะผลข้างเคียงแบบรุนแรงแต่พบไม่บ่อยนัก

ตัวอย่างเช่น การเกิดภาวะลิ่มเลือด และเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งพบในผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มแรก ที่อัตรา 1 ต่อ 50,000 คน พบในผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มที่อัตราส่วน ต่ำกว่า 1 ต่อ 1.7 ล้านคน ไม่มีวันที่จะตรวจพบได้ในการศึกษาวิจัยที่ใช้ตัวอย่างเพียงแค่ไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้การเกิดผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนผสมยังเป็นประเด็นที่น่าวิตกต่อไป

แซนเดอร์ระบุว่า เมื่อเราใช้วัคซีน 2 ชนิด ซึ่งต่างชนิดมีผลข้างเคียงแตกต่างกันออกไป ก็อาจส่งผลให้ผลข้างเคียงอย่างหนึ่งอย่างใดทวีสูงขึ้นได้

ดังนั้น นักวิชาการอย่าง แมทธิว สเนป จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัย คอม-โควี ถึงได้บอกว่า ถ้าจะให้ดีที่สุดก็คือ ใช้วัคซีน มาตรฐาน ชนิดเดียวกันทั้ง 2 เข็ม เพราะผ่านการวิจัยด้านความปลอดภัยในวงกว้างมาแล้ว ส่วนการใช้วัคซีนผสมควรใช้เป็นทางเลือก เมื่อมีปัญหาการจัดหาวัคซีน เป็นการป้องกันไม่ให้โครงการการกระจายวัคซีนต้องหยุดชะงัก

เดเนียล อัลท์แมนน์ นักภูมิคุ้มกันวิทยา จากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ยอมรับว่า การใช้วัคซีนผสม 2 เข็มต่างชนิดกัน ถือว่าเป็นเหตุเป็นผลดีในทางวิชาการจนคาดการณ์ผลลัพธ์ในแง่ของการเสริมภูมิคุ้นกันได้ แต่การฉีดกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 เพื่อยืดเวลาการเกิดภูมิคุ้นกัน หรือเพื่อป้องกันเชื้อกลายพันธุ์จะไม่เป็นแบบเดียวกัน

อัลท์แมนน์ระบุว่า การฉีดแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 3 จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ในขณะที่ มีแนวโน้ม ว่า การใช้วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ เข็มที่ 3 จะทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

“โดยส่วนตัวแล้วคิดว่า กรณีการฉีดเข็ม 3 ถือเป็นเรื่องใหม่ในโลกของวัคซีนวิทยาเลยทีเดียว” อัลท์แมนน์ระบุ ซึ่งหมายถึงต้องมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง และกว้างขวางมากกว่าที่ทำกันอยู่

ในเอเชีย การทดลองวัคซีนผสมเกิดขึ้นในหลายประเทศ แต่ก็เป็นไปเพื่อประเมินแบบเร่งด่วน และเป็นการศึกษาขนาดเล็กเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทย หรือในฟิลิปปินส์ ที่ใช้วัคซีนเชื้อตายของบริษัทซิโนแวค เป็นวัคซีนตั้งต้นแล้วใช้วัคซีนไวรัลแวกเตอร์ของ แอสตร้าเซนเนก้า เป็นบูสเตอร์ก็ตาม

ยกเว้นการทดลองในประเทศจีนที่เป็นการศึกษาวิจัยขนาดค่อนข้างใหญ่ เกี่ยวเนื่องกับวัคซีนหลายชนิดที่จีนผลิตเอง แต่ก็ยังเป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง (หนู) เท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image