ด่วน! ไทยจ่อจำกัดสัดส่วนส่งออกวัคซีนโควิด เล็งชื้อชนิด mRNA-ซับยูนิตโปรตีน

ด่วน! ไทยจ่อจำกัดสัดส่วนส่งออกวัคซีนโควิดเพื่อความมั่นคงชาติ เล็งชื้อชนิด mRNA-ซับยูนิตโปรตีน

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงผลการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบออนไลน์

นพ.นครกล่าวว่า ในการประชุมมีวาระการพิจารณาที่สำคัญ 2 วาระ คือ 1.ที่ประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติให้ความเห็นชอบกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 สำหรับประชาชนในปี 2565 เป็นจำนวน อีก 120 ล้านโดส โดยมติของคณะกรรมการวัคซีนฯ ให้จัดหาวัคซีนรูปแบบ mRNA ไวรัลเว็กเตอร์ ซับยูนิตโปรตีน และรูปแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดและตามจำนวนซัพพลายของวัคซีน และให้คำนึงถึงวัคซีนที่ตอบสนองต่อการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 การจัดหามีเป้าหมายเพื่อให้วัคซีนมีเพียงพอ สำหรับการฉีดให้ประชากรที่ยังเข้าไม่ถึงวัคซีน และเป็นการฉีดเพิ่มเติมสำหรับกรณีที่ต้องได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในปีถัดไป รวมทั้งสำรองวัคซีนในกรณีที่เกิดการระบาดด้วย ดังนั้น ในกรอบจะเป็นการจัดหาวัคซีนในปีหน้า

“นอกจากนี้ ยังมีมติให้กรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนฯ เร่งดำเนินการจัดหาวัคซีนสำหรับปี 2564 ให้ได้ตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ด้วย” นพ.นครกล่าว และว่า 2.การพิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.2561 ในการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ที่ประชุมได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวางและพิจารณาถึงผลกระทบ ความเป็นไปได้ รวมทั้งเรื่ององค์ประกอบอื่นที่ต้องพิจารณาต่อไปข้างหน้า ที่ประชุมจึงให้ความเห็นชอบในหลักการที่จะมีการออกประกาศนี้

Advertisement

“โดยในเวลานี้ มอบให้ฝ่ายเลขานุการ คือ สถาบันวัคซีนฯ และกรมควบคุมโรค พิจารณาทบทวนเนื้อหาร่างประกาศ โดยพิจารณาถึงผลกระทบ คำนึงถึงผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ที่จะมีต่อประเทศรวมถึงประชาชนเป็นหลัก และให้ดำเนินการเจรจาอย่างเต็มที่กับผู้ผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนวัคซีนที่เหมาะสมกับ สถานการณ์ระบาดของโรคในประเทศก่อน เมื่อได้ผลอย่างไร ให้นำมารายงานในที่ประชุมกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาทั้งในเรื่องผลการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน และเนื้อหาของประกาศนั้น เพื่อให้ที่ประชุมกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศนั้น” นพ.นครกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการประกาศกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนดังกล่าว หมายถึงทุกโดสที่อยู่ในประเทศไทยหรือไม่ นพ.นครกล่าวว่า ขณะนี้ร่างประกาศดังกล่าวยังไม่ออกมา แต่ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการให้ออกร่างประกาศ ซึ่งต้องทบทวนเนื้อหา เรื่องผลกระทบด้านต่างๆ ให้รอบคอบ และในระหว่างนี้ให้ไปเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนมีการส่งมอบให้กับประเทศไทยให้เหมาะสมกับการระบาดภายในประเทศด้วย

Advertisement

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีการเจรจากับผู้ผลิตว่าจะต้องส่งวัคซีนให้ไทยในแต่ละสัปดาห์หรือแต่ละเดือนในสัดส่วนอย่างไร นพ.นครกล่าวว่า เรามีการเจรจากัน ซึ่งเขาให้แนวทางการจัดสรรมาว่าจะให้อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะว่ายอดการสั่งซื้อของเราอยู่ประมาณสัดส่วน 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตโดยรวมทั้งหมด

“ดังนั้น เขาจะจัดส่งวัคซีนให้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในแต่ละช่วงเวลา เพราะการผลิตวัคซีนไม่ได้มีจำนวนโดสที่แน่นอนหรือตายตัวในแต่ละช่วงเวลา มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์และกำลังการผลิตในแต่ละช่วงเวลา ดังนั้น จึงเป็นข้อตกลงกันในเรื่องของสัดส่วนที่จะอยู่ประมาณ 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในแต่ละช่วงเวลา” นพ.นครกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image