สกู๊ป น. 1 : รถไฟขบวนพิเศษ นำร่องส่งผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้านเกิด

สกู๊ป น. 1 : รถไฟขบวนพิเศษ นำร่องส่งผู้ป่วยโควิด รักษาตัวที่บ้านเกิด

จากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละท่านรับผิดชอบการจัดการนำผู้ป่วยโควิด ที่มีความประสงค์จะกลับไปพักรักษาตัวในจังหวัดภูมิลำเนา ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นแกนกลางหลักในการประสานกับผู้ป่วย และรัฐมนตรีแต่ละท่าน ช่วยประสานใช้ทรัพยากรในการลำเลียงจัดส่ง และประสานจังหวัดภูมิลำเนาปลายทาง

การส่งผู้ป่วยโควิดจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับภูมิลำเนาเป็นไปตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ร่วมกันกำหนดแนวทางและวางระบบการดูแลจัดส่งผู้ป่วยโควิดกลับอย่างปลอดภัย ไม่ให้มีการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง

ต่อมา ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานการประชุมติดตามเตรียมการส่งผู้ป่วย โควิด-19 กลับภูมิลำเนาในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ยโสธร และสุรินทร์ มอบหมายหน่วยงานในกระทรวงคมนาคมจัดเตรียมและจัดส่งตามนโยบายรัฐบาล กระทั่งเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดรถไฟขบวนพิเศษ ขบวน 971 เส้นทางสถานีรถไฟรังสิต-อุบลราชธานี นำร่องผู้ป่วยโควิดที่มีอาการระดับเขียวและเหลือง ล็อตแรกจำนวน 135 คน เดินทางกลับไปรักษาใน 7 จังหวัดภูมิลำเนา

Advertisement

“ศักดิ์สยาม” แจกแจงว่า การใช้รถไฟขนส่งผู้ป่วยครั้งนี้ ใช้รถไฟด่วนพิเศษ CNR ขบวนใหม่ของ รฟท. 1 ขบวน 13 ตู้ เป็นรถไฟตู้นอน มีระบบปรับอากาศ มีห้องน้ำสุญญากาศเหมือนบนเครื่องบิน เป็นระบบปิด ไม่หล่นเรี่ยราดตามทางรถไฟ เพื่อไม่ให้เกิดการฟุ้งกระจายของเชื้อได้ ขณะเดียวกันที่สถานีรถไฟรังสิต ก็เป็นสถานีของรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ยังไม่เปิดใช้บริการ

ดังนั้น การให้ผู้ป่วยโควิดมาขึ้นรถไฟที่สถานีรถไฟรังสิต ถือว่าปลอดภัย มีโอกาสสัมผัสประชาชนน้อยมาก ยืนยันว่าประชาชนที่อยู่โดยรอบสถานี รวมทั้งตลอดเส้นทางจะไม่มีความเสี่ยงจากการติดเชื้อแน่นอน “ศักดิ์สยาม” ยังย้ำถึงความปลอดภัยว่า ภายในรถไฟขบวนดังกล่าวจะจัดให้ผู้ป่วยนั่งตู้ละประมาณ 30 คน จะแยกชัดเจนระหว่างผู้ป่วยกลุ่มยืนยันด้วยผลตรวจ RT-PCR positive กับกลุ่มผลตรวจ ATK positive

เพื่อป้องกันกรณีที่ผู้มีผลตรวจ ATK positive คลาดเคลื่อนมาปะปนกับผู้ที่ผลตรวจชัดเจนแล้ว

Advertisement

อีกทั้ง ก่อนออกเดินทาง สพฉ.จะประเมินอาการของผู้ป่วยทุกรายก่อนให้ออกเดินทาง เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และในขบวนรถไฟยังมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และตำรวจรถไฟอยู่ประจำตลอดการเดินทางด้วย ซึ่งระหว่างการเดินทางได้จัดอาหาร และเครื่องดื่มดูแลผู้ป่วยตลอด โดยรถจะไม่จอดแวะพักระหว่างทางให้ผู้ป่วยลงไปยังด้านล่างเด็ดขาด

เมื่อผู้ป่วยเดินทางถึงสถานีจุดหมายปลายทาง จะมีรถมารับไปยังสถานพยาบาลทันที ไม่ลงไปปะปนกับผู้โดยสารทั่วไป ส่วนจังหวัดใดที่รถไฟไปไม่ถึง ก็จะใช้รถ บขส. มารับไปส่งต่อยังสถานพยาบาล

“ยืนยันว่าการดำเนินการทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอด ขอให้ประชาชนทุกคนไม่ต้องกังวล และมั่นใจได้ในเรื่องความปลอดภัย กระทรวงคมนาคมพร้อมสนับสนุนการขนส่งผู้โดยสารทุกรูปแบบทุกพื้นที่ หากกลุ่มผู้ป่วยขนาดใหญ่ก็จะใช้รถไฟ แต่หากเป็นกลุ่มเล็กก็ประสานรถพยาบาล และรถมูลนิธิอาสาต่างๆ ไว้คอยบริการแล้ว ตามนโยบายของนายกฯที่สั่งการให้ดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน” รมว.คมนาคมแจกแจงรายละเอียด

ขณะที่ทาง รฟท.ให้ข้อมูลว่า หลังจากนี้สำหรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่ต้องการเดินทางด้วยรถไฟขบวนพิเศษกลับภูมิลำเนา สามารถติดต่อ สพฉ. ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตรวจคัดกรอง กำหนดวัน เวลาของขบวนรถที่จะให้บริการ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและจำนวนผู้ที่แจ้งความประสงค์ในการเดินทางกลับภูมิลำเนา

โดยติดต่อแจ้งความประสงค์ผ่าน สปสช. ได้ที่สายด่วน 1330 กดต่อ 15 ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกระทรวงคมนาคมและ รฟท. พร้อมเป็นสื่อกลางในการอำนวยการสนับสนุนในการเดินทาง ภายใต้อำนาจหน้าที่คณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับปฏิบัติการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคระบาดในเขตพื้นที่จังหวัด ตลอดจนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉิน

“นอกจากนี้ รฟท.ยังอยู่ระหว่างร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร ในการสำรวจโรงซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า สถานีกลางบางซื่อ เพื่อปรับปรุงจัดตั้งเป็นศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อแห่งใหม่ สำหรับใช้รองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวที่ยังไม่มีอาการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในด้านสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกอีกด้วย”

รฟท.ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. เสริมว่า การส่งผู้ป่วยโควิด ที่ประสงค์กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนานั้น นำร่องด้วยรถไฟขบวนพิเศษเส้นทางสายอีสานใต้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว

แต่ขณะนี้ยังไม่มีการส่งผู้ป่วยโควิดด้วยทางรถไฟเพิ่มเติม เนื่องจากต้องมีผู้โดยสาร 100-200 คนขึ้นไป แต่ปัญหาคือ ผู้ป่วยที่ประสงค์จะกลับภูมิลำเนา ไม่ได้อยู่ในเส้นทางเดียวกัน จึงยังไม่สามารถส่งไปทางรถไฟได้

ข้อมูลเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม มีผู้ป่วยติดต่อขอเดินทางไปรักษาที่ภูมิลำเนา 704 ราย แต่ในภาพรวมไม่ได้อยู่ในเส้นทางเดียวกัน การขนส่งโดยรถไฟจึงยังไม่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่มีความพร้อมในทุกเส้นทาง

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่ลงทะเบียนไว้ก็มีการจัดส่งไปในรูปแบบอื่นๆ ที่ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น ไปโดยรถบัสของกองทัพ รถตู้ และรถทัวร์ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่จะเดินทาง เมื่อลงทะเบียนแล้ว สปสช.จะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข เพื่อประสานงานกับโรงพยาบาลปลายทางว่าสามารถรับผู้ป่วยได้หรือไม่ หากยินดีรับ สปสช.จะประสานไปยัง สพฉ. เพื่อจัดทีมดูแลผู้ป่วยไปจนถึงปลายทาง และเมื่อไปถึงจุดหมาย จะมีทีมเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลรอรับทุกราย เป็นอีกมาตรการของรัฐบาล เพื่อช่วยพาผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวและเหลือง กลับไปรักษาตัวที่ภูมิลำเนาอย่างปลอดภัย อีกทั้งช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ต้องแบกรับภาระอย่างหนักหน่วงในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่มีจำนวนมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image