สกู๊ปหน้า 1 : ปิดตลาดผัก-ผลไม้ ‘ห่วงโซ่อาหาร’ แกว่ง

สกู๊ปหน้า 1 : ปิดตลาดผัก-ผลไม้ ‘ห่วงโซ่อาหาร’ แกว่ง

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แม้รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการล็อกดาวน์ควบคุมพื้นที่ส่งผลให้ประชาชนทุกสาขาอาชีพได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่การสั่งปิดตลาดกลางผักและผลไม้

จากการเข้าไปสำรวจตลาดศรีเมืองจังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคนี้หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จึงถูกสั่งปิด 7 วัน ตั้งแต่ 26 ก.ค.-2 ส.ค. ทำให้เกษตรกรปลูกพืชผักได้รับความเดือดร้อน พ่อค้าแม่ค้าที่เคยส่งผักขายให้กับล้งวันนี้ต่างได้รับผลกระทบไปตามๆ กัน จนเกือบเป็นเรื่องเป็นราวเพราะผู้บริหารตลาดเตรียมฟ้องศาลปกครองเอาผิดผู้ว่าฯราชบุรี โดยอ้างเกษตรกรและผู้ค้าได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก จนอาจนำมาสู่การขาดแคลนอาหารในหลายจังหวัด แต่สุดท้ายมีการพูดจาและตกลงกันในที่สุด

ตลาดแห่งนี้เป็นตลาดกลางผักและผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันตก มีบรรดาเกษตรกร 8 จังหวัด คือ นครปฐม กาญจนบุรี สุพรรณบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และราชบุรี นำสินค้าทางการเกษตรมารวมเป็นจุดศูนย์กลาง ก่อนขยายส่งออกไป ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ที่รองรับสินค้าจากที่นี่

เส้นทางสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาดและการกระจายสินค้าเป็นแหล่งรองรับสินค้า ปริมาณเข้าตลาดวันละ 8,000 ตัน ภาคเหนือ ได้แก่ ผักเมืองหนาว กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ลุ้ย กระเทียม ภาคใต้ ได้แก่ ผลไม้ ทุเรียน เงาะ มังคุด ภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน เงาะ มังคุด ภาคอีสาน ได้แก่ พืชไร่ หอม กระเทียม และภาคตะวันตก ได้แก่ ผัก ผลไม้ อาหารทะเล ที่ถูกกระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ ของประเทศโดยเฉพาะภาคใต้ 14 จังหวัด เริ่มตั้งแต่จังหวัดชุมพรจรดประเทศมาเลเซีย กรุงเทพฯ เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง โรงแรม ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ร่วมถึงจังหวัดใกล้เคียง ต่างประเทศ เช่น เมียนมา สินค้าเข้าสู่ทวาย โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และดอกไม้วันละ 20-30 ตัน สำหรับประเทศมาเลเซียมีสินค้าจำพวกผัก ผลไม้

Advertisement

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ประธานบริหารตลาดศรีเมือง ระบุว่า จะส่งหนังสือเรื่องความเดือดร้อนของเกษตรกรไปให้ทางนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน ศบค.ได้พิจารณา เนื่องมาจากคำสั่งปิดตลาดศรีเมือง เหตุผลอ้างว่ามีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด อยากจะเรียนว่าตลาดศรีเมืองเป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าทางการเกษตร มีพ่อค้าแม่ค้าที่มาค้าขายประจำ 6,000-7,000 คน เกษตรกรจากจังหวัดอื่นในภาคตะวันตก ที่ขนสินค้าทางการเกษตรเข้ามาเชื่อมโยงกับตลาดแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน มีผลผลิตเก็บเกี่ยวมาขายโดยไม่จำเป็นจะต้องมีล็อก หรือมีแผง

เมื่อมีคำสั่งปิดทำให้เกิดผลกระทบ เมื่อมีผลผลิตออกมาแล้วไม่สามารถชะลอการเก็บเกี่ยวได้ก็จะต้องเก็บมาขายแต่กลับไม่มีที่ขาย ผลผลิตบางอย่างยอมขายในราคาที่ถูกน่าเห็นใจมาก การปิดตลาดทำให้ห่วงโซ่อาหารหายไป เกษตรกรไม่มีที่ขาย ผู้บริโภคไม่มีที่ซื้อ และที่สำคัญการปิดตลาดแล้วปล่อยให้คนกลับไปภูมิลำเนา ไปค้าขายที่อื่นนั่นคือการหยุดการแพร่กระจายเชื้อได้จริงหรือไม่

ขณะที่ตลาดศรีเมืองนั้นพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการใช้แรพิด เทสต์อย่างต่อเนื่องกับผู้ประกอบการในตลาดศรีเมืองทุก 14 วัน โดยเป็นการออกค่าใช้จ่ายกันเองระหว่างผู้ประกอบการและตลาด ซึ่งถ้าพบว่าใครมีผลบวกก็จะแจ้งให้กับทางสาธารณสุขได้นำไปตรวจซ้ำอีกครั้งตามระบบของโรงพยาบาล ถ้ายังเป็นบวกก็จะเข้าระบบของสาธารณสุข แต่ถ้าตรวจผลเป็นลบทางตลาดก็จะออกบัตรศรีเมืองโควิด-19 ให้ และจะมีการตรวจซ้ำอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง

ขณะที่ทางจังหวัดได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยการจัดพื้นที่ชั่วคราวให้เกษตรกรนำพืชผักไปขาย จำนวน 4-5 จุด ได้แก่ ตลาดเกษตรกรจังหวัด โดมสนามกีฬาจังหวัด ตลาดริมเขื่อนรัฐประชาพัฒนา ตลาดเมืองทอง และสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 เป็นการชั่วคราว แต่ทั้งนี้ เกษตรกรมองว่า การให้ไปขายในพื้นที่รองรับแห่งใหม่นั้นยิ่งทำให้เกิดปัญหาเป็นการแพร่ระบาดของโรคมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเกษตรกรส่วนใหญ่ส่งผักขายให้กับล้งในตลาดศรีเมือง ไม่ได้ขายปลีก เมื่อล้งปิดจะไปขายที่อื่นก็ไม่ได้เพราะไม่มีคนซื้อ

นายไชยวิทย์ บัวงาม ประธานสภาเกษตรกร จ.ราชบุรี กล่าวว่า ได้ยื่นหนังสือสอบถามตลาดศรีเมืองว่าเมื่อมีคำสั่งปิดตลาด ทางตลาดจะมีมาตรการรองรับหรือจะช่วยเกษตรกรอย่างไรบ้าง ซึ่งเกษตรกรนั้นเดือดร้อนจากโควิดแล้วยังมาเดือดร้อนเรื่องไม่มีที่ขายสินค้าเกษตรอีก เกษตรกรที่นำสินค้ามาขายในตลาดศรีเมืองมีมากกว่า 7,000 คน และยังมีเกษตรกรจากต่างจังหวัดอีก เมื่อปิดแล้วจะมีแนวทางช่วยเกษตรกรอย่างไรบ้าง โดยจะให้ทางจังหวัดพิจารณาถึงคำสั่งดังกล่าวใหม่

นายณรงค์ ลอยลม เกษตรกรหมู่ 6 ต.ทุ่งหลวง อ.ปากท่อ กล่าวว่า ปลูกถั่วฝักยาวเก็บได้วันละกว่า 200 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาท เก็บมา 3-4 งวดแล้ว พอตลาดถูกสั่งปิดก็ไม่มีที่ขาย และไม่มีการแจ้งล่วงหน้าจนตั้งหลักไม่ทัน ถั่วฝักยาวจะเก็บวันเว้นวันก็คงต้องปล่อยทิ้งให้เน่าคาต้นไป หรือเก็บทิ้งไปจนกว่าตลาดจะเปิด

ขณะที่ น.ส.ฐิติมา แก้วคำ เกษตรกรหมู่ 6 ต.ทุ่งหลวง กล่าวว่า ปลูกข้าวโพดประมาณ 1 ไร่ ระยะปลูกถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 70 วัน ได้ผลผลิตประมาณ 2.5 ตัน ขายกิโลกรัมละ 10 บาท คาดว่าน่าจะได้เงินประมาณ 25,000 บาท หักการลงทุนค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าเมล็ดพันธุ์กว่า 10,000 บาท ก็จะเหลือเงินใช้กว่า 10,000 บาท ตอนนี้อายุข้าวโพดเลยอายุเก็บเกี่ยวมาแล้ว เลยแก่ขายไม่ได้ จึงต้องหักไปเร่ขายตามหมู่บ้านพอได้เงินทุนกลับมาบ้าง

หลังจากมีการสั่งปิดตลาดศรีเมืองได้เพียง 1 วัน พบว่า เกษตรกรได้นำพืชผักใส่ท้ายรถมาจอดขายรอลูกค้า บริเวณริมถนนเพชรเกษตรเป็นจุดๆ อย่างที่บริเวณหน้าวัดทุ่งตาล มีการตั้งเต็นท์ขายข้าวโพด และพืชผักอื่นๆ ที่ถนนสายเพชรเกษม ต.อ่างทอง และถนนสายบายพาสเลี่ยงเมือง ต.ดอนตะโก และอีกหลายจุด บางรายขายไม่ได้นำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้านและนำไปเททิ้งในสระน้ำให้ปลากิน

การล็อกดาวน์แม้จะเป็นมาตรการควบคุมโรคที่เด็ดขาดและได้ผล แต่ภายใต้บริบทของสังคม ทำสิ่งหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่ออีกสิ่งหนึ่งและหลายๆ สิ่ง ตลาดศรีเมืองเป็นตัวอย่างหนึ่งของผลกระทบระบบความเกี่ยวโยงของอาหารและปากท้องของผู้คน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image