นักวิจัยญี่ปุ่นพบ “แลมบ์ด้า” อันตรายยิ่งกว่า “เดลต้า” แพร่เร็ว-ต้านภูมิคุ้มกันได้

doi: https://doi.org/10.1101/2021.07.28.454085

นักวิจัยญี่ปุ่นพบ “แลมบ์ด้า” อันตรายยิ่งกว่า “เดลต้า” แพร่เร็ว-ต้านภูมิคุ้มกันได้

รอยเตอร์ รายงานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมว่า ทีมนักวิจัยจากประเทศญี่ปุ่นเผยแพร่ผลศึกษาวิจัยในเว็บไซต์เผยแพร่ผลงานวิชาการก่อนการทบทวน “ไบโออาร์ซิฟ” เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ระบุว่าเชื้อกลายพันธุ์แลมบ์ด้า ซึ่งพบครั้งแรกในประเทศเปรู และระบาดในหลายประเทศในอเมริกาใต้ นอกจากจะแพร่ได้สูงมากแล้ว ยังมีความสามารถในการต้านทานภูมิคุ้มกัน ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนได้มากกว่า เชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบแพร่ระบาดในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีนอีกด้วย

ทั้งนี้นักวิจัยญี่ปุ่นนำโดย เคอิ ซาโตะ นักวิจัยอาวุโสประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว ใช้วิธีการวิเคราะห์ในระดับโมเลกุลเพื่อจำแนกและประเมินความสัมพันธุ์ทางพันธุกรรม ( molecular phylogenetic analysis) ของไวรัสกลายพันธุ์นี้ พบการกลายพันธุ์สำคัญ 3 จุดที่เกิดขึ้นบริเวณ ตุ่มโปรตีน หรือ สไปค์ โปรตีนของแลมบ์ด้า คือ RSYLTPGD246-253N, 260 L452Q และ F490S ซึ่งช่วยให้แลมบ์ด้า มีความสามารถในการต่อต้านภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีน โดยเฉพาะการกลายพันธุ์ RSYLTPGD246-253N ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์แบบสอดแทรกเข้ามาเพิ่มซึ่งเกิดขึ้นในส่วนของปลาย เอ็น ของสายพันธุกรรม (the N-terminal domain-NTD) มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทำให้ไวรัสกลายพันธุ์นี้สามารถหลีกเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้

นอกจากนั้น แลมบ์ด้า ยังมีการกลายพันธุ์อีก 2 จุด คือ T76I กับ L452Q ที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแพร่ระบาดให้สูงขึ้นมากอีกด้วย

ทีมวิจัยเตือนเอาไว้ว่า การที่ องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เพียงกำหนดให้แลมบ์ด้า เป็น “เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ” (แวเรียนท์ ออฟ อินเทอเรสต์-วีโอไอ) แทนที่จะเป็น “เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าวิตก” (แวเรียนท์ ออฟ คอนเซิร์น-วีโอซี) นั้น อาจทำให้คนทั่วไปไม่ตระหนักถึงความร้ายแรงของภัยคุกคามจากเชื้อกลายพันธุ์นี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นอันตรายยิ่งกว่าเชื้อกลายพันธุ์เดลต้าที่ก่อให้เกิดความหวาดผวาอยู่ในหลายประเทศในเวลานี้

Advertisement

“แลมบ์ด้า สามารถเป็นภัยคุกคามต่อสังคมมนุษย์ได้เลย” นายซาโตะระบุ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image