ถกปม ‘โควิด กับ เด็กไทย’ ก่อนไฟเซอร์ปักแขน พร้อมหรือไม่ ฉีดแล้วกลับไปโรงเรียน?

AFP

ถกปม ‘โควิด กับ เด็กไทย’ ก่อนไฟเซอร์ปักแขน พร้อมหรือไม่ ฉีดแล้วกลับไปโรงเรียน?

1 กันยายนนี้ หลายกิจการจะได้กลับมาคลายล็อก ใน 29 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด หลังจากปิดกิจการนานหลายเดือน ห้างสรรพสินค้า จะกลับมาเปิดได้ ร้านอาหารจะกลับมาเปิดให้นั่งทานได้อีกครั้ง 50-75% หรือร้านเสริมสวย ก็จะกลับมาให้ตัดผมได้อีกครั้ง

รวมไปถึงโรงเรียน และสถาบันการศึกษา ที่สามารถใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ และฝึกอบรมได้ แต่ ราชกิจจานุเบกษา ก็ยังกำหนดไว้ว่า การจัดกิจกรรมต่างๆ ยังห้ามมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนเกิน 25 คน

คำถามที่สำคัญในใจของผู้ปกครองและนักเรียนหลายคนก็คือ ถ้าต้องเปิดเทอมแล้ว ไทยพร้อมแค่ไหน….ในวันที่ นักเรียนประถมและมัธยมศึกษาทั่วประเทศ ยังไม่ได้รับวัคซีน และมีเพียง 7 ล้านคนทั่วประเทศ ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเท่านั้น..

ตัวเลขไม่น้อย เด็กไทย ติดโควิดวันละ 2-3 พันราย

จากข้อมูลของ กรมการแพทย์ ได้ระบุว่า ช่วงหลังของการระบาด พบเด็กติดเชื้อโควิดค่อนข้างมาก และมีผู้ป่วยมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัว

Advertisement

ตัวเลขเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พบว่า จากช่วยแรกก่อนสัปดาห์ที่ 16 ไทยมีผู้ป่วยเด็ก อายุแรกเกิด – 18 ปี สะสม 366 รายต่อสัปดาห์ แต่วันที่ 4-11 สิงหาคม มีผู้ป่วยเด็กเพิ่มขึ้น 18,000 กว่าราย คิดเป็น 2-3 พันรายต่อวัน โดยมีเด็กเสียชีวิตสะสม 10 กว่าราย ทั้งยังพบว่า ยิ่งอายุมากขึ้น ก็มีโอกาสติดมากขึ้น เพราะมีโอกาสพบคนมากขึ้น

ทั้งนี้ ตัวเลขล่าสุดจากกรมอนามัย (30 สิงหาคม) พบว่า เด็กปฐมวัย (0-5 ปี ) ติดเชื้อนับแต่ 1 เมษายน – วันที่ 14 สิงหาคม 2564 จำนวน 26,513 คน เป็นคนไทย 22,982 คน ต่างชาติ 3,531 คน เสียชีวิตสะสม 5 คน และพบว่าจากวันที่ 21 สิงหาคม เด็กติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5,298 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน คิดเป็นร้อยละ 3.7 ยอดสะสม ณ วันที่ 21 สิงหาคม มีจำนวนถึง 31,811 คน เป็นคนไทย 27,755 คน ต่างชาติ 4,056 คน เสียชีวิตรวม 9 คน ซึ่งติดเชื้อในกรุงเทพมหานครมากถึง 5,806 คน รองลงมาคือ จ.สมุทรสาคร 2,324 คน และ จ.ชลบุรี 1,993 คน

เด็กกำพร้า พุ่งสูงขึ้น

ขณะที่ ข้อมูลจาก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า เด็กที่ติดเชื้อ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น โดย มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด 19 ซึ่งเปิดตัวไปวันที่ 10 สิงหาคม ก็มีการแจ้งเหตุทันที 174 ราย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากเด็กติดเชื้อ

Advertisement

ทั้งยังพบปัญหาของเด็กที่ผู้ปกครองติดโควิดนั้น ไม่สามารถดูแลเด็กได้ และยังมีปัญหาเด็กกำพร้า ที่เกิดจากสถานการณ์โควิด เนื่องจากบิดา มารดา เสียชีวิต เบื้องต้นพบว่ามีเด็กกำพร้า 35 คน ซึ่งเป็นเพียงการสำรวจเบื้องต้นยังไม่ครอบคลุมทุกจังหวัด อยู่ระหว่างรวบรวม คาดว่าจะมีมากกว่านี้

ปัญหาสุขภาพ มากับการเรียนออนไลน์

นอกจากปัญหาจากการติดเชื้อ ไร้คนดูแลแล้วนั้น เด็กยังได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ จากการเรียนออนไลน์ ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดผลสำรวจ ผลกระทบทางสุขภาพของเด็กๆ ในการเรียนออนไลน์ที่บ้าน ได้แก่

1.ปวดตา ปวดเมื่อย ปวดหลัง เพราะนั่งนาน เนือยนิ่ง 79.0% 2.เครียดและกังวลใจ 74.9% 3.การบ้านเพิ่มขึ้น ทำให้พักผ่อนและนอนน้อยลง 71.6% 4.เบื่อหน่ายไม่อยากเรียน 68.3% 5.มีกิจกรรมทางกาย ออกกำลังกายน้อยลง 58.0% 6.สภาพแวดล้อมไม่เอื้อ ขาดสมาธิ 57.2% และ 7.รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา 56.0%

เครียดหนัก ผลกระทบจากเรียนออนไลน์

วรางคณา มุทุมล ผู้เชี่ยวชาญด้านงานคุ้มครองเด็ก องค์การช่วยเหลือเด็ก ประจำประเทศไทย
(Save the Children Thailand) เปิดเผยว่า ปัญหาการเรียนออนไลน์ของเด็กๆนั้น หลายพื้นที่ไม่ชัดเจน เดี๋ยวให้เรียนในโรงเรียน เดี๋ยวเรียนออนไลน์ และเมื่อเรียนออนไลน์ เด็กก็สะท้อนว่าเครียด ผลการศึกษาของยูนิเซฟ พบว่าเด็ก 7 ใน 10 เครียด ทั้งการเรียน การสอบ รู้สึกเรียนได้ไม่เต็มที่ โอกาสจะศึกษาต่อก็น้อยลง

ด้านสภาพจิตใจ มีความวิตกกังวล เครียด เบื่อหน่าย โดยไม่รู้จะจัดการความเครียดยอ่างไร 40% ของเด็ก ไม่รู้จะต้องไปหาใคร ความเครียดนี้เกิดขึ้นได้เป็นปกติของคนที่ถูกกักให้อยู่ที่แคบๆ ซึ่งจะพัฒนาความเครียด เป็นซึมเศร้า และเครียดระยะยาวได้

มีเด็กที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง เริ่มพึ่งยาเสพติด มากขึ้นด้วยเช่นกัน เป็นกลุ่มเด็กเปราะบางที่เข้าไม่ถึงช่องทาง ที่พ่อแม่ต้องหยุดงาน ไม่มีโอกาสเข้าเรียนในระบบ ซึ่งไม่รู้ปัญหานี้จะหยุดลงเมื่อไหร่ เด็กหลายคน ไม่มีคนชี้แนะ ช้อนจิตใจของเขา ก็ง่ายที่จะไปพึ่งยาเสพติดหรือแอลกอฮอลล์

เสียงสะท้อนของเด็ก ออนไลน์เรียนไม่รู้เรื่อง

เจ นักเรียนมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง วัย 17 ปี เล่าว่า แม้ปีที่แล้วจะต้องเรียนออนไลน์ แต่ก็ยังได้ไปโรงเรียนบ้าง รอบนี้ไม่มีโอกาสได้ไปเรียนเลย

การเรียนทุกอย่างก็ปรับเปลี่ยนไป สอนแต่ทฤษฎี ว่าทำแบบไหน ได้อะไร การทดลองต่างๆ ในห้องถูกตัดไปหมด อย่างคอมพิวเตอร์ ที่ปกติจะสอน เปิดสไลด์ ทำโชว์ และได้ทดลองทำ ก็เปลี่ยนเป็นทฤษฎีอย่างเดียว พอเอาไปทำเอง ก็ทำไม่ทัน ไม่เข้าใจ เวลาเรียนก็ลดน้อยลง หายไป 10-20 นาที เรียนก็รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง เวลามีจำกัด ไม่เข้าใจจะถามก็ทำได้ยาก

“วันหนึ่งเรียน 7 คาบ ตั้งแต่ 8 โมง ถึง บ่าย 3 โมง มีพักระหว่างคาบให้ 10 นาที เราต้องเช็กชื่อทุกคาบ บางวิชาก็เปลี่ยนรูปแบบการเรียนไป เช่น พลศึกษา ก็มีให้ส่งคลิปออกกำลังกายให้ครูดู”

“ความเครียดที่เราเจอ คือ ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเนื้อหา บางครั้งอุปกรณ์ก็ไม่พร้อม จะออกไปซื้อก็ไม่ได้เพราะว่าติดโควิด งานบางอย่างก็ทำไม่ได้ บางวิชาก็พิมพ์ไม่ได้ เข้าใจว่าครูพยายามจะทำให้เนื้อหาน้อยลง รวบรัดที่สุด แต่มันก็เร็วไปสำหรับเรา ยิ่งเราอยู่ม.6 ก็ยิ่งกังวล เพราะมีสอบอะไรหลายอย่าง ได้เรียนอีกแค่เทอมเดียว ก็เครียด อีกอย่างคืออยู่ ม. 6 แล้ว ก็อยากไปเจอเพื่อนบ้าง เพราะมันก็ปีสุดท้ายแล้ว”

เจ ยังเล่าว่า โรงเรียนมีการปรับรูปแบบการเรียน แม้จะยังมีการสอบกลางภาค ปลายภาค แต่ก็ให้งานน้อยลง และช่วยเหลือในการเรียน มีคะแนนเข้าเรียนให้ ทั้งยังบอกว่า เพื่อนในห้อง ก็มีที่ติดโควิด

ไม่ใช่แค่เด็ก แต่ผู้ปกครองก็หนัก

กุมารี วงศ์ษาสิงห์ คุณแม่ของนักเรียนชั้นป. 6 วัย 12 ปี ได้สะท้อนมุมของผู้ปกครองว่า แม้จะมีความพร้อมเรื่องเทคโนโลยีในระดับหนึ่ง แต่ประสิทธิภาพการเรียนของลูกก็ไม่มี ขาดชีวิตวัยเด็กไป แม้จะได้คลายเครียดเล่นเกมออนไลน์ หรือดูสื่ออื่น มันก็ทดแทนไม่ได้ เด็กไม่ละหน้าจอเลย

ฟีดแบ็กจากครูและผู้ปกครอง พบว่าทุกบ้านมีปัญหานี้ เด็กอารมณ์ฉุนเฉียวมากขึ้น อย่างปีทั้งปี ประสบการณ์ของลูกหายไป ไม่ได้เล่นกีฬา อย่างเขาอยู่ชมรมโขน ก็ไม่ได้ทำเลยทั้งปี ชีวิตเด็กก็เครียดมาก ยิ่งเป็นช่วงเปลี่ยนสู่วัยรุ่น ก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดนี้ให้ได้ อะไรยอมได้ก็ยอม สงสารลูก

“ในมุมผู้ปกครอง เรียกว่าต้องนั่งเฝ้า ว่าเรียนหรือยัง โชคดีเราได้เวิร์กฟรอมโฮม ก็ดูลูกไปด้วยได้ แต่ก็ต้องแยกโซนกัน ไม่เช่นนั้นไม่มีสมาธิ บางบ้านที่อยู่คอนโด เขาย้ายกลับต่างจังหวัดเลย เพื่อให้มีบริเวณสำหรับเด็ก”

กุมารี เล่าต่อว่า เราต้องตามการบ้านลูก เยอะกว่าไปโรงเรียน แทบจะเกิดการปะทะกันทางอารมณ์ เขาก็กดดัน เรียนไม่รู้เรื่อง ตรวจการบ้านก็เห็นว่าเขาไม่เข้าใจ บางครั้งเข้าลิงก์ไปเรียนไม่ได้ เข้าแล้วหลุด ก็พลาดการเรียนไปเลย ครูก็เครียด ไวไฟร์ไม่เสถียรบ้าง ก็ทำเราเครียดไปด้วย

ค่าใช้จ่ายเพิ่ม เรียนออนไลน์

กุมารี เล่าว่า การเรียนออนไลน์ของลูก เราก็ต้องมีคอมพิวเตอร์ให้ และซื้อมือถือใหม่ให้ เพราะเครื่องเก่ามันพัง บางครั้งครูส่งในไลน์ ก็ต้องใช้ นอกจากนั้นก็ยังต้องมีไวไฟร์ ติดอินเตอร์เนต อย่างเห็นเด็กบางคนไม่มีจริงๆ กล้องพัง ก็บอกครู จากที่ฟังลูก บางคนก็ต้องใช้แค่มือถือเรียน เพราะเขาไม่มี

ส่วนเรื่องเงินเยียวยาที่ได้รับจากรัฐบาลนั้น กุมารี เผยว่า ขั้นตอนนั้นไม่ยาก มีการส่งกูเกิล ฟอร์มมาให้กรอก ซึ่งเคยใช้อยู่แล้วก็ไม่เป็นไร แต่พ่อแม่บางคน เขาไม่ถนัด ก็ต้องไปลงทะเบียน ถ่ายรูปส่งให้ครู เงินจำนวนนี้ เรียกว่าก็จำเป็นสำหรับทุกบ้าน แต่ก็ไม่ได้เพียงพอ ค่าเทอมก็ต้องจ่ายอยู่ดี เรียกว่าบรรเทา ทดแทนค่ามือถือที่้ซื้อไป

วัคซีนสำหรับเด็ก ขอแบบมีคุณภาพ

ในมุมของนักเรียน เจ บอกว่า ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ซึ่งก็อยากฉีดกันไว้ก่อน แต่ตอนนี้วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ได้ทำให้มั่นใจ เลือกได้ก็ยังไม่อยากฉีด แต่หากเป็นไฟเซอร์เข้ามา ก็อยากจะฉีด

“รัฐบาล ไม่ให้ความสนใจกับเด็กเท่าที่ควร เขาควรดูแลให้ครบทุกคน แต่เขาดูแลเฉพาะกลุ่มเขา เด็กหลายคนเริ่มติด พ่อแม่ก็ต้องออกไปทำงานข้างนอก ยังไงเด็กก็เสี่ยงอยู่ดี มองไม่ออกว่าปัญหานี้มันจะจบเมื่อไหร่ มันสะท้อนว่าเขาจัดสรรไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็ควรลาออกหรือเปล่า หลายประเทศกลับไปสู่ปกติแล้ว เด็กสูญเสียโอกาสอะไรหลายอย่างในชีวิตไปเป็นปี โดยไม่ได้ทำอะไรเลย” เจ กล่าว

ขณะที่ กุมารี มองว่า อยากจะให้ลูกได้ฉีดวัคซีน ตอนนี้เขา 12 ปีแล้ว ในมุมของเรา ก็อยากได้วัคซีนที่เหมาะกับแต่ละช่วงวัย ลูกก็อยากให้ได้ฉีดไฟเซอร์ โมเดอร์นา ซึ่งเราก็หาข้อมูลอยู่ ว่าฉีดแล้วแพ้ไหม อาการเป็นอย่างไร หากถามว่ากังวลกับเอฟเฟกต์ไหม ก็มีบ้าง แต่ไม่ถึงกับไม่ให้ฉีด เพราะถ้าลูกป่วย แล้วไม่ได้มีโรงพยาบาลรองรับ หรืออาการหนัก ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น

ด้าน ชื่นชนก เชื่อพันธุ์ อีกหนึ่งผู้ปกครองของนักเรียนชั้น ม.4 ก็ระบุว่า หากมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามา ก็จะให้ลูกได้ฉีดแน่นอน เพราะหากติดเชื้อ อาการจะได้ไม่รุนแรงนัก แม้ว่าจะมีความกังวล แต่ก็เชื่อว่าจำเป็น เพื่อให้เด็กๆได้กลับไปเรียนและได้ใช้ชีวิตเหมือนแต่ก่อน

จะไปโรงเรียนได้ ต้องมีภูมิคุ้มกันหมู่

กุมารี กล่าวว่า ลูกเราไม่ได้ออกจากบ้านมาหลายเดือนแล้ว วัคซีนมันถูกพิสูจน์แล้วว่าช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรค ซึ่ง ถ้ามีการจัดสรร ลำดับการฉีด เช่นคนท้อง เราไม่ว่า แต่อยากให้เป็นธรรม ไม่ใช่จัดสรรอย่าง ให้ผู้สูงอายุไปฉีดวัคซีนไขว้ ก็ไม่อยากให้ไปเสี่ยง

ส่วนการจะกลับไปโรงเรียนนั้น กุมารี กล่าวว่า มันก็การันตีไม่ได้ว่าฉีดแล้วไม่ติด มันต้องฉีดวัคซีนในปริมาณที่เพียงพอ ทั้งเด็ก ครู พ่อแม่ เป็นสัดส่วนประชากรทั่วประเทศ ถึงจะปลอดภัยระดับหนึ่ง อย่างน้อย เวิร์กฟรอมโฮม ล็อกดาวน์ ก็ยังติดเชื้อในหลักที่คอนโทรลไม่ได้ คำถามคือรัฐบาลทำอะไรอยู่ เขาวิเคราะห์อย่างไร แปลกใจที่ไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระดับโลก แต่จัดสรรพินาศมาก

โดย กุมารี มองว่า รูปแบบที่เหมาะสมในการฉีดวัคซีนนั้น อาจจะใช้ระบบโรงเรียนมาช่วย เพราะมีข้อมูลแต่ละช่วงวัยอยู่แล้ว โรงเรียนที่อาจจะไม่มีศักยภาพจะฉีด ก็อาจจะส่งพื้นที่ไปเขตพื้นที่ ผู้ปกครองสมัครไปกับโรงเรียน เซ็นใบยินยอม และส่งไปให้ฝ่ายเกี่ยวข้องจัดการ ก็จะช่วยทำให้ระบบเร็วขึ้นได้ เพราะการไปวอล์กอินนั้น พ่อแม่ กังวลมาก ไม่เห็นด้วย

มีไหม วัคซีนสำหรับเด็ก

ไม่นานมานี้ เอฟดีเอ หรือ คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ ได้ขึ้นทะเบียนให้ไฟเซอร์ เป็นวัคซีนแบบถาวรชนิดแรก สำหรับคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งในวัย 12-15 ปีนั้น ยังจะเป็นการให้ใช้แบบกรณีฉุกเฉินอยู่ ซึ่ง ไฟเซอร์เอง กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาให้ใช้สำหรับเด็ก 3 ปีขึ้นไป

ขณะที่ โมเดอร์นาเอง ก็มีการประกาศความสำเร็จในการทดลองในวัยรุ่นอายุ 12-18 ปี ด้วยเช่นกัน
ในประเทศออสเตรเลีย สำนักงานผลิตภัณฑ์รักษาโรคแห่งออสเตรเลีย ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ สำหรับกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ ได้อนุมัติให้ใช้ไฟเซอร์กับประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไปแล้ว ขณะที่ สำนักงานยาแห่งยุโรป หรือ อีเอ็มเอ ได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด ของไฟเซอร์ และ โมเดอร์นา กับเด็กวัย 12-17 ปีแล้ว เพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า

กางแผนฉีดวัคซีนเด็ก ต่างแดน

แม้จะมีวัคซีนเพียงไม่กี่ชนิด ที่เหมาะกับเด็กวัย 12 ปีขึ้นไป แต่หลายประเทศก็ตัดสินใจที่จะฉีดวัคซีน หลังพบว่าเด็ก มีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศยังมีการจูงใจให้ฉีดวัคซีนด้วยนโยบายต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ได้ ออกมาตรการจูงใจให้วัยรุ่นจำนวนไม่น้อย ออกมาฉีดวัคซีน

เช่น ที่ วอชิงตัน ดีซี ได้มอบ AirPods ให้กับเด็กวัย 12-17 ปี ที่มาฉีดวัคซีนเข็มแรก ในสถานที่ที่กำหนด และยังมีโอกาสลุ้นรับทุนการศึกษา 25,000 ดอลลาร์ และ iPad ฟรีด้วย

ส่วนที่ กัมพูชา ได้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับผู้มีอายุ 12-17 ปี ในกรุงพนมเปญ และ 3 จังหวัดใกล้เคียง โดยรัฐบาลคาดว่าจะฉีดให้ครบ 2 ล้านคน ก่อน พ.ย.นี้ เพื่อจะได้เปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียนอีกครั้ง

รัฐบาลสหราชอาณาจักร ได้ประกาศว่าจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ให้กับเด็กอายุ 16-17 ปี จำนวน 1.4 ล้านคน หลังจากคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน เห็นว่าปลอดภัย โดย ได้ออกคำแนะนำให้ฉีดเด็กอายุ 12-15 ปี ที่เสี่ยงโควิด จากความพิการทางระบบประสาท , โรคมะเร็ง และ ปัญหาด้านการเรียนรู้อย่างรุนแรง

ขณะที่ จีน ได้อนุมัติใช้วัคซีน ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม กับประชาชนในกลุ่ม 3-17 ปี โดยสื่อทางการของจีน เปิดเผยว่า หลายพื้นที่ อาทิ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง และ มณฑลหูเป่ย์ ได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด ให้กับวัยรุ่น 15-17 ปี และจะเริ่มฉีดให้วัย 12-14 ปี ในเดือนสิงหาคมนี้ โดยตั้งเป้าจะฉีดวัคซีนให้กลุ่ม 12-17 ปี ครบ 2 โดส ในเดือนตุลาคมนี้

ซึ่งประเทศไทย มีวัคซีนของไฟเซอร์ เพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่ สำนักงานอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียน ใช้สำหรับผู้ที่อายุ 12 ปีขึ้นไป

REUTERS

เมื่อไหร่ จะถึงคิวเด็กไทย

ในแผนการจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ของไทยแต่แรกนั้น ได้วางแผนฉีดให้กับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดย ในการลงนามซื้อไฟเซอร์เพิ่มเป็น 30 ล้านโดสนั้น ระบุว่า จะเริ่มเข้าไทยในช่วงเดือนกันยายนนี้

ล่าสุด กนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ ชี้แจง ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ ในการประชุมสภา ถึงปัญหาการฉีดวัคซีนของเด็กๆว่า นักเรียนวัย 12-18 ปี มีอยู่ราว 4 ล้านกว่าคน แม้กระทรวงจะไม่ได้ตั้งงบประมาณซื้อ แต่กระทรวงสาธารณสุข ประสานว่าจะฉีดไฟเซอร์ให้เด็ก 12-18 ปี ที่จะเข้าปลายเดือนกันยายน 2-3 ล้านโดส ทันทีที่ได้รับ และจะกระจายให้ครบ 4 ล้านกว่าคนโดยเร็ว

ส่วนครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้ฉีดไปแล้วเกือบ 6 แสนคน เหลืออยู่ประมาณ 3.2 แสนคน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน (อ่าน ปลายเดือนก.ย. ‘ศธ.’ เตรียมฉีดไฟเซอร์ให้เด็กนร.กว่า 4 ล้านคน หวังกลับมาเรียนตามปกติ )

โดยทีมโฆษกรัฐบาล ก็ได้ออกมาตีปี๊บ เตรียมฉีดวัคซีนให้เด็กนักเรียน ทันทีที่ไฟเซอร์เข้ามา

ความกังวล ของวัคซีนสำหรับเด็ก

วรางคณา กล่าวว่า การฉีดวัคซีนสำหรับเด็กนั้น ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ จากสถิติแล้ว พบว่าเด็กที่ติดเชื้อและเสียชีวิต เป็นกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ความกังวลคือเรื่องการกระจายวัคซีน เพราะหากกำหนดเกณฑ์ไม่ชัด ว่าจะให้กลุ่มไหนก่อน ตอนนี้อาจจะได้แค่ 12-18 ปี แล้วเด็กที่ต่ำกว่า 12 ปี ที่ไม่ได้ฉีดจะทำอย่างไร รัฐมียาสำหรับเด็กไหม นี่ก็สำคัญ

“สธ.อาจจะต้องตั้งกลุ่มเป้าหมาย เช่น เด็กที่มีโรคก่อน จังหวัดไหนก่อน ศธ.ก็ต้องช่วยคิด ว่าจะทำอย่างไรให้เด็กกลับไปเรียนได้อย่างปลอดภัย หลังจากผ่านมา 2 ปีแล้ว ต้องประเมินความเสี่ยงให้ได้ว่า เด็กกลุ่มเสี่ยงที่สุดคือกลุ่มไหน และไม่ควรลืมเด็กเปราะบางหรือเด็กต่างชาติ เพราะทุกคนอยู่ร่วมกันหมด”

วรางคณา กล่าวว่า เด็กๆหลายคนก็หาข้อมูล มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ต้องคอยติดตามว่า วัคซีนถึงไหน ได้จริงไหม มีคนมอนิเตอร์เยอะมาก ซึ่งเขามองเห็นปัญหา ช่วยวางแผนได้

ต้องเข้าถึงได้ง่าย ข้อมูลชัดเจน

สำหรับรูปแบบการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมนั้น วรางคณา มองว่า ต้องทำให้เข้าถึงได้ง่าย อยู่ไหนก็ถึง กระจายข้อมูลชัดเจน อย่างหลายประเทศ ถึงจะแก้ปัญหาได้เร็วที่สุด

วรางคณา ทิ้งท้ายว่า มีข้อมูลที่น่าสนใจของอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า การเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและยากจน ได้อย่างก้าวกระโดด ประเทศพัฒนาแล้ว เศรษฐกิจขยายตัวได้เร็วกว่าที่คิดไว้ ขณะที่ประเทศที่ยากจน เข้าไม่ถึงวัคซีน เศรษฐกิจจะทรุดลงเรื่อยๆ การมาของวัคซีน มีผลทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง จะช่วยกันไม่ให้คนจนมากขึ้นอีกด้วย

เด็กคิวบาวัย 3 ขวบ ฉีดวัคซีนโควิด ที่โรงพยาบาล Juan Manuel Marquez ในฮาวานา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาวัคซีนในเด็กและเยาวชน (AFP)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image