ศบค.เผย ภาพรวมการติดเชื้อในไทยยังทรงตัว พื้นที่ระบาดไม่เปลี่ยนแปลง ทิศทางแนวโน้มเสียชีวิตลดลง

‘ศบค.’ เผยติดโควิด 12,583 ราย ดับ 132 คน ข้อมูลชัดไม่ฉีดวัคซีนตายถึง 11,563 คน

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 13 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 12,583 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวัง 11,232 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 1,177 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 163 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 11 ราย ผู้ป่วยสะสม 1,365,893 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) มีผู้ป่วยหายกลับบ้าน 16,304 ราย หายป่วยสะสม 1,220,732 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน)

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขณะที่มีผู้ป่วยกำลังรักษา 132,113 ราย มีผู้ป่วยอาการหนัก 4,096 ราย ในจำนวนนี้ใส่เครื่องช่วยหายใจ 835 ราย มีผู้เสียชีวิต 132 ราย เสียชีวิตสะสม 14,485 คน มีผู้รับวัคซีน เมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา มีผู้รับการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 215,889 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 109,213 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 106,570 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 106 ราย รวมมีผู้ได้รับวัคซีนระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 12 กันยายน 64 จำนวน 40,276,356 โดส

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักปอดอักเสบเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา 4,096 ราย แบ่งเป็น 48 จังหวัด จำนวน 1,243 ราย พื้นที่ควบคุมเข้มงวดสูงสุด 19 จังหวัด จำนวน 737 ราย ภาคใต้ 4 จังหวัด จำนวน 208 ราย กรุงเทพและปริมณฑล 1,908 ราย ผู้เสียชีวิต 132 ราย แบ่งเป็น กทม. 23 ราย สมุทรปราการ 19 ราย นครปฐม 12 ราย สมุทรสาคร 12 ราย นนทบุรี 6 ราย ปทุมธานี 3 ราย สุรินทร์ 6 ราย สกุลนคร 2 ราย บุรีรัมย์ 2 ราย อุบลราชธานี 2 ราย ศรีสะเกษ 1 ราย กำแพงเพชร 4 ราย ตาก 3 ราย เชียงราย 2 ราย พิษณุโลก 2 ราย นครสวรรค์ 1 ราย นครศรีธรรมราช 3 ราย ระนอง 2 ราย นราธิวาส 2 ราย สงขลา 2 ราย ยะลา 1 ราย อยุธยา 6 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 2 ราย ฉะเชิงเทรา 3 ราย จันทบุรี 3 ราย ราชบุรี นครนายก สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม ชลบุรี ตราด ลพบุรี และสิงห์บุรี จังหวัดละ 1 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 100 ราย มีโรคเรื้อรัง 26 ราย ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 5 ราย มีหญิงตั้งครรภ์ 1 ราย จาก จ.กำแพงเพชร

Advertisement

โฆษก ศบค.กล่าวว่า แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศรายใหม่ เฉลี่ย 7 วันย้อนหลังมีแนวโน้มลด มีเพียง จ.นนทบุรี และ จ.ปทุมธานี ที่ในรอบ 7 วันย้อนหลัง ยังมีบางวันที่มียอดติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 จังหวัด คือ 1.กรุงเทพฯ 3,329 ราย 2.ชลบุรี 650 ราย 3.ระยอง 647 ราย 4.นนทบุรี 468 ราย 5.สมุทรปราการ 443 ราย 6.สมุทรสาคร 402 ราย 7.นราธิวาส 401 ราย 8.ยะลา 366 ราย 9.สงขลา 301 ราย และ 10.ราชบุรี 299 ราย ส่วนภาพรวมการติดเชื้อในประเทศไทย สถานการณ์ยังทรงๆ ตัวอยู่ พื้นที่การแพร่ระบาดยังไม่เปลี่ยนแปลง

“ขณะที่ผู้เสียชีวิตรายวัน ที่ประชุม ศบค.ได้วิเคราะห์ว่า ทิศทางแนวโน้มการเสียชีวิตลดลง ทั้ง กทม.และปริมณฑล พบว่าผู้เสียชีวิตระหว่างวันที่ 1-9 กันยายน 64 จำนวน 13,637 ราย เป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ค่าเฉลี่ยอายุ 67 ปี ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไต น้ำหนักเกิน จำนวน 12,239 ราย ไม่มีโรคประจำตัว 1,127 ราย หญิงตั้งครรภ์ 21 ราย เสียชีวิตในสถานพยาบาล 13,067 ราย คิดเป็น 95.82 % นอกสถานพยาบาล 361 ราย คิดเป็น 2.65 % ไม่ระบุสถานที่ 209 ราย คิดเป็น 1.53% จำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดต่อวัน คือ 361 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ อายุน้อยสุด 12 วัน อายุมากที่สุด 109 ปี” นพ.ทวีศิลป์กล่าว

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ลักษณะการเสียชีวิตเมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีน 1.วัคซีนครบ 2 เข็ม แบ่งเป็นก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์ จำนวน 67 ราย คิดเป็น 0.5% ก่อนวันเริ่มป่วยน้อยกว่า 2 สัปดาห์ 40 ราย คิดเป็น 0.3 % 2.วัคซีน 1 เข็ม ก่อนวันเริ่มป่วยมากกว่า 2 สัปดาห์ 980 ราย คิดเป็น 7.2% ก่อนวันเริ่มป่วยน้อยกว่า 2 สัปดาห์ 987 ราย คิดเป็น 7.2% และ 3.ไม่ได้ฉีดวัคซีน แบ่งเป็นมีประวัติจากการสอบสวนโรค/ฐานหมอพร้อม 8,803 ราย คิดเป็น 64.6% ไม่มีข้อมูลการได้รับวัคซีนในระบบหมอพร้อมหรือข้อมูลไม่ตรงกัน 2,760 ราย คิดเป็น 20.2% โดยผู้เสียชีวิตแบ่งเป็น กทม. 5,364 ราย ปริมณฑล 3,078 ราย ชายแดนใต้ 708 ราย จังหวัดอื่นๆ 4,487 ราย ทั้งนี้ ต้องขอฝากบางสถานที่ที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ต้องระมัดวังการรวมกลุ่มกันของคนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีการละเมิดการจัดงานเลี้ยงกัน มีการละเมิดการควบคุมโรค รวมทั้งยังมีรายงานการติดเชื้อจากตลาด ตลาดนัด ต้องฝากให้ทุกท่านให้ระมัดระวังและยึดมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดด้วย

Advertisement

เมื่อถามว่าการปรับรูปแบบมาตรการ กิจกรรมที่ผ่อนคลายมากขึ้น ศบค.จะมีมาตรการรับมือการแพร่ระบาดอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ขอใช้คำเดิมคือ การปรับมาตรการให้เศรษฐกิจได้เดินหน้าได้ แต่เมื่อมีมาตรการไปแล้ว สิ่งที่สะท้อนกลับมาคือไปห้างสรรพสินค้าคนไปจำนวนมาก หลายครั้งคนก็มองว่าไปโทษประชาชนอีกแล้ว ซึ่งไม่อยากให้คิดอย่างนั้น เพราะเราก็เป็นคนไทยอยู่ร่วมประเทศเดียวกัน ขอให้ทุกคนได้ร่วมมือกัน คือ 1.กลุ่มเสี่ยง 2.สถานที่เสี่ยง 3.กิจการ กิจกรรมเสี่ยง ทุกคนต้องระมัดระวังไม่ไปในสัมผัสกับปัจจัยเสี่ยงทั้ง 3 ข้อดังกล่าว ขณะที่ สธ.กำลังทำชุดข้อมูลจากการตรวจเชื้อจากชุดเอทีเค สิ่งสำคัญคือเราอยู่กับการแพร่ระบาดเชื้อโควิดมานานนับปีแล้ว ต้องไม่การ์ดตก และยึดหลักการป้องกันตัวเองอย่างสูงสุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image