‘หมอธีระ’ ชี้ไตรมาสสุดท้าย-ต้นปี สังคมเสี่ยงสูง เผย 3 ปัจจัยรอด

‘หมอธีระ’ ชี้ไตรมาสสุดท้าย-ต้นปี สังคมเสี่ยงสูง เผย 3 ปัจจัยรอด

วันที่ 24 กันยายน ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุถึงสถานการณ์รับมือโควิด-19 และปัจจัยหลักที่จะทำให้ประชาชนจะมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต ว่า

“ความท้าทายในช่วงเวลาถัดจากนี้ไป

หนึ่ง ความใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัว จะเป็นปัจจัยหลักในเรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยจากโรค ใส่ใจมากความเสี่ยงก็น้อย ใส่ใจน้อยความเสี่ยงก็มาก เพราะสภาพแวดล้อมในสังคมซึ่งเกิดขึ้นจากนโยบายที่มุ่งเน้นการเปิดเศรษฐกิจนั้นความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน โดยสัมพันธ์กับลักษณะการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน

สอง ความสับสนเรื่องวัคซีน ซึ่งเป็นผลมาจากการที่จัดให้มีชนิดวัคซีน และวิธีการใช้ที่หลากหลาย แปลก แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ในขณะที่ข้อมูลวิชาการแพทย์ที่พิสูจน์แล้วและเป็นที่ยอมรับนั้นยังคงไปในแนวทางของประเทศพัฒนาแล้ว กล่าวคือใช้วัคซีนกระแสหลัก ส่วนการไขว้นั้นมีการยอมรับเพียงบางชนิด เช่น ChAdOx vaccine เข็มแรกต่อด้วย mRNA vaccines เข็มสอง ที่กระตุ้นระดับภูมิได้ดี แต่จะมีอาการไม่พึงประสงค์มากกว่าการฉีดชนิดเดียวกันทั้งสองเข็ม

Advertisement

ดังนั้น การเข้าถึงวัคซีน และการตัดสินใจเลือกใช้วัคซีนให้ถูกต้องเหมาะสม ทั้งชนิดและวิธีการฉีด สำหรับทั้งผู้ใหญ่ และเด็กนั้น ถือเป็นปัจจัยหลักประการที่ 2 ที่จะส่งผลต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยจากโรค ทั้งนี้ จะถูกต้องเหมาะสมได้ คงหนีไม่พ้นการใช้ข้อมูลวิชาการแพทย์ที่ถูกต้อง พิสูจน์ได้ ตรวจสอบได้ และชั่งน้ำหนักเรื่องประสิทธิภาพ ความปลอดภัย ความเสี่ยงต่ออาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น จึงต้องไตร่ตรองตัดสินใจให้ดี

สาม การเข้ามาของวัคซีนทางเลือก ที่เป็นวัคซีนกระแสหลักอย่าง mRNA vaccine คือ Moderna รวมถึงวัคซีนตัวอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพดี เช่น Protein subunit vaccine (Novavax) และ Ad26 vaccine (J&J) หากเข้ามา และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ จะช่วยลดความเสี่ยงระดับบุคคลและครอบครัวของกลุ่มที่เข้าถึงวัคซีนไปได้มาก

สรุปได้สั้นๆ ว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และต้นปีหน้า สภาวะแวดล้อมในสังคมจะมีความเสี่ยงสูง การที่ประชาชนแต่ละคนจะมีสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตได้นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสามประการหลักคือ ความใส่ใจสุขภาพเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยงในการดำเนินชีวิตประจำวัน (Health conscious behaviors), การตัดสินใจรับวัคซีนทั้งชนิดและวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสมโดยใช้ความรู้ที่ถูกต้อง (Evidence-based decision making to get vaccinated), และศักยภาพของคนที่จะสามารถเข้าถึงวัคซีนกระแสหลักของสากลที่เป็นวัคซีนทางเลือกของประเทศ (Accessibility and affordability to highly effective vaccines)

ด้วยรักและห่วงใย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image